“น้ำเต้า” หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Bottle Gourd จัดเป็นไม้เถาล้มลุกที่มีชื่อฟังคุ้นหู แต่อาจจะยังไม่มีใครรู้ถึงข้อดีของมันมากนัก แต่ถ้าใครได้มีโอกาสเห็นลักษณะของสมุนไพรชนิดนี้แล้ว รับรองว่าทุกคนจะต้องร้องอ๋อเป็นแน่ เพราะน้ำเต้าถือเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนเป็นอย่างมาก โดยสมุนไพรชนิดนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าทั่วไป น้ำเต้าพื้นบ้าน น้ำเต้าขม หรือน้ำเต้างาช้าง ซึ่งน้ำเต้าแต่สายพันธุ์ก็มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกๆสายพันธุ์ก็ล้วนมีประโยชน์ และมีอะไรที่น่าสนใจที่รอให้คุณตามมาค้นหาคำตอบไปด้วยกันค่ะ
น้ำเต้าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบแอฟริกาตอนใต้
น้ำเต้าทุกสายพันธุ์จะมีลักษณะเป็นไม้เถาล้มลุกที่เลื้อยตามพื้นดิน หรือไต่พันกับต้นไม้อื่นๆเหมือนกันหมด ลักษณะใบของต้นน้ำเต้าจะมีลักษณะที่ค่อนข้างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยจะสังเกตได้ว่าใบจะเป็นรูปหัวใจ ขอบใบหยักเว้าเป็นแฉกๆ และมีขนตลอดทั้งใบ ส่วนดอกของต้นน้ำเต้าจะออกตามซอกใบ มีลักษณะเป็นดอกเดี่ยวสีขาว กลีบดอกมีลักษณะบางและย่น มีเกสร 3 อัน ผลอ่อนน้ำเต้าจะมีสีเขียวอ่อน สามารถพบเห็นพืชชนิดนี้ได้หลายรูปทรงทั้งแบบทรงกลม ทรงกลมซ้อน ทรงกลมหัวจุก ทรงยาว ทรงแบน ทรงรูปกระบอง หรือเป็นทรงขวด

น้ำเต้าจัดเป็นสมุนไพรที่ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด โตง่าย แต่มีอายุไม่ยืนยาว ส่วนใหญ่จะยืนต้นอยู่ได้ไม่นานเกิน 1 ปี โดยสามารถพบเห็นน้ำเต้าได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณที่มีดินร่วนและระบายน้ำได้ดี สมุนไพรชนิดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงสุขภาพร่างกายของคนเราเป็นอย่างมาก ชาวบ้านมักจะนำผลของน้ำเต้ามาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ซึ่งนอกจากจะได้รับความอิ่มอร่อยแล้ว ยังมีประโยชน์มากมายแฝงตัวอยู่ภายใต้การรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ด้วย
คนส่วนใหญ่มักนิยมนำผลน้ำเต้ามาต้มรับประทานหรือประกอบอาหาร ซึ่งรูปแบบในการรับประทานสามารถเลือกบริโภคได้หลายแบบ โดยส่วนใหญ่จะนำเอาผลอ่อนของน้ำเต้ามาต้มให้สุก แล้วนำไปจิ้มเป็นผักจิ้มรับประทานร่วมกับน้ำพริก นอกจากนี้ก็อาจจะนำไปประกอบอาหารทั้งแกงกะทิ แกงจืด แกงเลียง หรือแกงส้ม ก็อร่อยได้ไม่แพ้กัน
คุณประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการบริโภคน้ำเต้านั้นมีอยู่หลายประการ ซึ่งสิ่งที่โดดเด่นที่ได้รับการยอมรับก็คือ คุณประโยชน์ในด้านการลดระดับน้ำตาลในเลือดและควบคุมโรคเบาหวาน อีกทั้งการบริโภคผลน้ำเต้ายังมีประโยชน์ทั้งการต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อยีสต์ และช่วยขับพยาธิตัวตืดได้
นอกจากนี้ยังมีการนำเอาผลน้ำเต้ามาสกัดเอาสารสำคัญที่อยู่ในสมุนไพรชนิดนี้ออกมา จากงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากผลน้ำเต้าด้วยคลอโรฟอร์มและแอลกอฮอล์สามารถช่วยยับยั้งการเพิ่มปริมาณของระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ในเลือดได้ มากไปกว่านั้น สารสกัดชนิดนี้ยังช่วยเพิ่มปริมาณของไขมันชนิดดี (HDL)ในหนูทดลองได้อีกด้วย นอกเหนือจากสารสำคัญกลุ่มนี้แล้ว ในน้ำเต้ายังพบสารที่สำคัญตัวอื่นที่จัดอยู่ในกลุ่ม Triterpenoids ที่มีเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็งอีกด้วย สารในกลุ่มนี้มีสรรพคุณทางยาที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปอดที่ถือเป็นภัยร้ายทำลายชีวิตที่สำคัญตัวหนึ่ง
ไม่ใช่แค่ผลน้ำเต้าเท่านั้นที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ แต่ส่วนอื่นๆของต้นน้ำเต้าก็สามารถนำเอามาใช้เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรงได้เช่นกัน โดยหากเป็นส่วนของรากจะมีประโยชน์ในการช่วยบำรุงน้ำดี
แก้ดีแห้ง ขับน้ำดีให้ตกลำไส้
และแก้อาการบวมน้ำตามร่างกายได้ ส่วนใบน้ำเต้าก็ใช้เพื่อรักษาอาการงูสวัด แก้ไฟลามทุ่ง แก้โรคดีซ่าน ช่วยรักษาโรคเริม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบาย ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยดับพิษ และใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อนได้ นอกจากนี้ เมล็ดเล็กที่อยู่ในน้ำเต้าก็มีประโยชน์ที่ดีไม่แพ้กัน โดยสามารถช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้อาการทางประสาท ช่วยทำให้เจริญอาหาร ขับพยาธิ และช่วยแก้อาการบวมน้ำ
ไม่ใช่แค่ประโยชน์ด้านการบริโภคเท่านั้น แต่น้ำเต้าก็ยังมีประโยชน์ในด้านการอุปโภคเช่นกัน โดยวิธีการใช้จะนำเอาผลน้ำเต้าแก่มาปล่อยให้เนื้อแห้ง จากนั้นจึงขูดเนื้อในออกให้หมด แล้วใช้ในการบรรจุเครื่องดื่ม เบียร์ หรือไวน์ เพื่อดื่มรับประทาน
ส่วนในเรื่องของขนมธรรมเนียมประเพณี น้ำเต้าก็เข้ามามีส่วนด้วยเช่นกัน โดยชาวจีนในอดีตจะมีความเชื่อที่ว่า “น้ำเต้า” จะช่วยให้บ้านเกิดความร่มเย็น ดังนั้น จึงนิยมนำเอาน้ำเต้ามาแขวนไว้ในบ้านเกือบทุกครัวเรือน ส่วน “น้ำเต้างาช้าง” ที่มีลักษณะเป็นจุกยาวก็มีการนำไปใช้ทำลูกซัดหรือลูกแซก เพื่อทำเป็นอุปกรณ์เข้าจังหวะประกอบเสียงเพลงได้
จะเห็นได้ว่า น้ำเต้าไม่เพียงแต่เป็นสมุนไพรที่ช่วยในการรักษาโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง หรืออาการเจ็บป่วยเท่านั้น แต่น้ำเต้ายังผูกพันกับวิถีชีวิตของคน ทั้งการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในอาหาร การใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งการทำตามความเชื่อพื้นบ้าน ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันอาจไม่ค่อยถูกนำมาใช้มากเท่าไรนัก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่เราควรอนุรักษ์เอาไว้เพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคสืบไป