รสชาติเค็มถือเป็นเพชฌฆาตร้ายทำลายไตที่สร้างปัญหาให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน คนไทยหลายล้านคนรับไม่ได้กับการต้องรับประทานอาหารจืดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เขาเหล่านั้นต้องปรุงรสให้เข้มข้นขึ้นเพื่อเพิ่มรสชาติความอร่อยให้แก่อาหารจานโปรดอยู่เสมอ และนี่เองก็เป็นที่มาว่าทำไมโรคร้ายชนิดนี้ถึงอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกทีๆ

กระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า คนที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือโซเดียมเกินมาตรฐาน เสี่ยงอย่างมากที่ไตจะถูกทำลายก่อนเวลาอันควร โดยการรับประทานเค็มต่อเนื่องเพียงแค่ 5-10 ปี ก็สามารถส่งผลให้คุณมีโอกาสเป็นโรคไตได้แล้ว และหากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกวิธี ก็อาจส่งผลให้คุณมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว
โซเดียม เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการปรับสมดุลของของเหลวในร่างกาย ช่วยให้การส่งกระแสไฟฟ้าผ่านไปยังเส้นประสาทต่างๆได้อย่างปกติ ช่วยในการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ และควบคุมการเต้นของหัวใจ เป็นต้น การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป จึงส่งผลให้กลไกของระบบควบคุมของเหลวในร่างกายทำงานไม่เป็นไปตามปกติ ไตซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับของโซเดียมในร่างกายและรักษาสมดุลของเหลวจึงต้องทำงานหนักมากขึ้น จนเป็นเหตุให้ไตเสื่อมได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เรื่อยไปจนถึงทำให้โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาตริดสีดวง ไมเกรน หรือโรคกระดูกพรุนได้
จากการสำรวจพบว่า คนไทยส่วนใหญ่บริโภคเกลือหรือโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดถึง 2 เท่า การติดรสเค็มจัดๆเช่นนี้ จะทำให้ไตต้องทำงานอย่างหนักเพื่อขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะ และรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย หากร่างกายขับออกได้ไม่หมด โซเดียมก็จะเกิดการคั่งและเป็นตัวดึงน้ำไว้ในร่างกาย ทำให้มีปริมาณของเหลวไหลเวียนในร่างกายมากผิดปกติ เป็นผลให้หลอดเลือดมีแรงดันที่สูงขึ้น และส่งผลให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้นนั่นเอง

โดยปกติ โซเดียมที่ร่างกายได้รับร้อยละ 90-95 จะมาจากอาหารที่บริโภคทั้งพืชและเนื้อสัตว์ รวมทั้งเครื่องปรุงรสเค็ม ซึ่งเครื่องปรุงรสถือเป็นหนึ่งในที่มาของโซเดียม ที่ทำให้เราได้มันรับในปริมาณที่เกินขนาด เครื่องปรุงรสทั้งแบบที่เป็นผงปรุงรส ผงฟู ซุปก้อน น้ำปลา เกลือ ซอสต่างๆ ซีอิ๊ว หรือกะปิ ล้วนแต่มีส่วนประกอบของเกลือโซเดียมผสมอยู่ภายในทั้งสิ้น แต่เมื่อเราบริโภคเข้าไปอาจจะมัวรับรู้แต่เพียงรสชาติความอร่อย จนลืมไปว่าการรับประทานอาหารพวกนี้มากๆจะส่งผลให้เราได้รับเกลือโซเดียมที่มากเกินไป ซึ่งแน่นอนว่าปริมาณโซเดียมที่มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการนี้ จะนำพาโรคร้ายๆมาหาเราได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
โรคไต จึงนับเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเดือดร้อนไปทั่วทั้งประเทศและทั่วโลก จากผลสำรวจพบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไตแล้วประมาณ 8 ล้านคน และผู้ป่วยที่มีภาวะอาการรุนแรงก็จำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่หรือที่เรียกว่า ‘ปลูกถ่ายไต’ ซึ่งไม่เพียงแต่มีขั้นตอนในการรักษาที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูงเพียงเท่านั้น แต่พบว่าไตที่ใช้ในการปลูกถ่ายก็เป็นสิ่งที่ขาดแคลน ที่ยังคงรอการรับบริจาคจากผู้ใจบุญอย่างต่อเนื่อง
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เราห่างไกลจากการเป็นโรคไตหรือโรคร้ายแรงอื่นๆได้ ก็คือการลดการรับประทานอาหารที่มีปริมาณเกลือหรือโซเดียมสูง และหันมารับประทานอาหารจากธรรมชาติที่มีโซเดียมต่ำแทน ได้แก่ ผลไม้ทุกชนิด ผัก ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง และเนื้อปลา นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือลดความบ่อยในการรับประทานอาหารนอกบ้านลง เพราะอาหารที่ปรุงโดยคนอื่น ทำให้เราไม่สามารถรู้ส่วนผสมที่แท้จริงที่คนทำใส่ลงไปได้เลย อีกทั้งยังทำให้เรายากที่จะควบคุมปริมาณโซเดียมที่ร่างกายควรจะได้รับต่อวันอีกด้วย
โดยสรุปแล้ว ปริมาณโซเดียมที่คนไทยควรจะได้รับต่อวันกำหนดไว้ไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ปลอดภัยที่เราสามารถรับประทานได้โดยร่างกายไม่เกิดอันตรายใดๆ อย่างไรก็ตาม การรับประทานในปริมาณที่มากกว่านี้แบบต่อเนื่องยาวนาน ก็ย่อมจะส่งผลให้คุณได้รับอันตรายตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้นได้นั่นเอง
การชิมอาหารก่อนปรุง การเลือกกินอาหารสดหรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด การลดความถี่และปริมาณการกินอาหารที่ต้องใช้ “น้ำจิ้ม” การลดการรับประทานอาหารผลไม้แช่อิ่ม การหลีกเลี่ยงการบริโภคขนมอบ เช่น เค้ก โดนัท ขนมปัง เป็นต้น รวมไปถึงการอ่านฉลากโภชนาการก่อนการบริโภคทุกครั้ง จะช่วยให้คุณมีความเสี่ยงต่อการมีปริมาณโซเดียมเกินขนาดได้ ซึ่งหากเราสามารถควบคุมให้เลือดมีปริมาณโซเดียมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้ตลอดเวลา ก็ย่อมจะทำให้เรามีความปลอดภัยจากการเกิดโรคร้ายต่างๆนี้ได้มากขึ้น
ไม่ยากเลยนะคะกับการปรับพฤติกรรมการบริโภคเสียใหม่ ขอเพียงแค่คุณเพิ่มความใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหาร และไม่ตามใจปากมากจนเกินไป แค่นี้ก็ช่วยยืดระยะเวลาความสุขที่จะได้เอร็ดอร่อยกับอาหารจานโปรดของคุณได้แล้วละค่ะ