อาการกรนเป็นอาการที่เกิดขึ้นในขณะหลับ ซึ่งมักเกิดในบุคคลบางรายที่หายใจเข้าแล้วได้อากาศไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองจากสมองโดยการปรับตัวให้สามารถหายใจได้อย่างเพียงพอด้วยการอ้าปากหายใจร่วมด้วย การอ้าปากจะช่วยเพิ่มการหายใจเข้า-ออกให้ได้รับอากาศมากขึ้น และส่งผลให้เกิดเสียงกรนขึ้นได้ด้วย
ในขณะหลับกล้ามเนื้อหายใจจะคลายตัว ทำให้ช่องทางเดินหายใจตีบแคบลงกว่าในขณะตื่น การหายใจเข้าจะทำให้ลมที่ผ่านเข้าไปรีดเนื้อเยื่ออ่อนๆของเพดานอ่อนและลิ้นไก่ในโพรงทางเดินหายใจ ส่วนการหายใจออกจะทำให้เนื้อเยื่อส่วนนี้ก็จะกลับสู่ที่เดิม จังหวะการเคลื่อนที่ไป-มาตามลมหายใจเข้า-ออกนี้คือจังหวะที่จะทำให้เกิดเสียงกรนดังขึ้นนั่นเอง
ภาพจาก : http://snorestopnow.org/category/what-causes-snoring/
การกรนที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคลอาจมีลักษณะที่แตกต่างกัน บางคนกรนดัง ในขณะที่บางคนกรนเบา ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกที่แตกต่างกันเกิดเนื่องจากลักษณะทางกายภาพในแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน เสียงกรนจะดังมากขึ้นเมื่ออายุของคนเรามากขึ้น นอกจากนี้ในคนอ้วนที่มีไขมันในร่างกายมากจะทำให้ลิ้นไก่และเพดานอ่อนหย่อนมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบลง คนอ้วนจึงกรนดังกว่าคนผอม
การกรนส่งผลให้สมรรถภาพในการนอนหลับลดลง เนื่องจากสมองทำหน้าที่ควบคุมระบบหายใจ เมื่อการหายใจและการแลกเปลี่ยนก๊าซมีประสิทธิภาพลดลง จึงทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด สมองจึงต้องตื่นตัวเป็นระยะในขณะหลับเพื่อสั่งให้ระบบการหายใจทำงาน หากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงได้ตลอดวันหรืออาจหลับในระหว่างการทำงานหรือการขับรถได้
คนนอนกรนส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกตัวว่าตัวเองนอนกรน แต่มีวิธีการสังเกตง่ายๆว่าคุณนอนกรนหรือไม่ได้ด้วยการดูจากพฤติกรรมภายหลังการตื่นนอน ซึ่งมักจะมีอาการกระหายน้ำ คอแห้ง หรือเจ็บคอ ในบางรายอาจพบว่ามีอาการมึนงงหรือปวดศีรษะ เป็นต้น
บุคคลที่มีอาการกรนขณะหลับมักคิดว่าอาการเหล่านี้ไม่ได้มีผลร้ายต่อตัวเอง แต่หากปล่อยไว้นานจะส่งผลให้เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เนื่องจากอาจรุนแรงจนถึงขั้นทางเดินหายใจติดขัด อุดตันและเสียชีวิตได้