โรคตาบอดสี (Color Blindness) ถือเป็นหนึ่งในความโชคร้ายที่ติดตัวคนบางคนมาตั้งแต่เกิด ซึ่งการมีอาการผิดปกติเช่นนี้จะส่งผลให้การมองเห็นสีที่ควรจะเป็นผิดเพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งนอกจากจะทำให้การมองเห็นสีบางสีผิดปกติไปแล้ว ยังอาจมีอันตรายต่อการใช้ชีวิตในบางช่วงเวลา เนื่องมาจากความสามารถที่ขาดหายไปนี้ด้วย
บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่า อาการตาบอดสีจะส่งผลให้โลกนี้มีแต่สีขาวกับดำ และไม่สามารถจะแยกแยะหรือรับรู้สีใดๆได้เลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาวะตาบอดสีอย่างรุนแรงจนกระทั่งเห็นภาพต่าง ๆ เป็นเพียงสีขาวดำนั้นสามารถพบได้น้อยมากๆ โดยส่วนมากคนที่มีอาการตาบอดสีก็ยังคงสามารถรับรู้สีได้ เพียงแต่จะสามารถแยกสีมีความคล้ายกันได้น้อยเท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คนที่ตาบอดสีบางคนยังสามารถบอกสีได้อย่างถูกต้องแม้สีที่ตนมองเห็นจะแตกต่างไปจากที่คนปกติเห็นกัน ทั้งนี้ก็เป็นเพราะคนเหล่านั้นได้รับการสอนให้เรียกสีที่เค้ามองเห็นจากวัตถุนั้นๆมาตั้งแต่เด็กแล้วนั่นเอง

โรคตาบอดสีเป็นโรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ และมีโอกาสพบได้ประมาณ 8% จากประชากรทั้งหมด โรคการมองเห็นสีที่ผิดเพี้ยนไปนี้จะพบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นเกิดเนื่องมาจากความผิดปกติของเซลล์รูปแท่งและเซลล์รูปกรวยที่อยู่ในจอประสาทตา เซลล์ทั้งสองนี้มีผลอย่างไรต่อการมองเห็น มาดูกันค่ะ
เซลล์รูปแท่งเป็นเซลล์ที่ช่วยในการมองเห็นในที่สลัวหรือที่มืด ภาพที่มองเห็นจากเซลล์รูปแท่งนี้จะมีลักษณะเป็นสีขาวหรือดำขึ้นอยู่กับความสว่างของแสง ส่วนเซลล์รูปกรวยจะเป็นเซลล์ที่ช่วยให้มองเห็นวัตถุเป็นสีต่าง ๆ ซึ่งจะทำหน้าที่เฉพาะในที่สว่างเท่านั้น เซลล์รูปกรวยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ เซลล์รูปกรวยสีแดง เซลล์รูปกรวยสีเขียว และเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงิน ซึ่งเมื่อแสงผ่านเข้าสู่ดวงตาจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์ทั้งสามให้ส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อผสมผสานและแปลสัญญาณออกมาเป็นสีต่าง ๆ
ในภาวะที่การมองเห็นสีเป็นไปได้อย่างปกติ เซลล์รูปกรวยทั้งสามส่วนจะถูกกระตุ้น ส่ง และแปลสัญญาณสีออกมาได้อย่างถูกต้อง แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการมองเห็นสีเนื่องจากเซลล์รูปกรวยเซลล์ใดเซลล์หนึ่งหรือหลายเซลล์ทำงานผิดปกติ ก็จะมีผลให้การมองเห็นสีผิดเพี้ยนไปจากที่คนปกติเห็นกัน ซึ่งโดยมากคนส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีความผิดปกติด้านนี้จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบด้วยวิธีการบางอย่าง
การทดสอบว่าคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอาการตาบอดสีหรือไม่ ทำได้โดยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “แผ่นภาพ Ishihara Chart” ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นภาพที่มีจุดวงกลมทั้งวงใหญ่และจุดวงกลมเล็กเป็นสีต่างๆ ข้างในแผ่นภาพนี้จะซ่อนตัวเลขไว้ และใช้สีที่แตกต่างกันเป็นตัวทดสอบความสามารถในการแยกสี ซึ่งหากคุณเป็นคนตาบอดสีจะเกิดความสับสนจนไม่สามารถแยกสีและอ่านตัวเลขได้อย่างถูกต้อง แต่หากยังสามารถอ่านได้ถูกต้องเป็นปกติ ก็ถือว่าคุณไม่เข้าข่ายของอาการตาบอดสีแต่อย่างใด
เมื่อตรวจพบแล้วว่าตนเองเป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่สามารถแยกสีออกได้อย่างชัดเจน หรือมีอาการตาบอดสี จะต้องมีการแก้ไขอย่างไรบ้าง วิธีการรักษาอาการตาบอดสีไม่สามารถจะทำเลสิกเพื่อปรับมุมของกระจกตาได้เหมือนกับอาการสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง อาการผิดปกตินี้จึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ วิธีการเดียวที่จะช่วยให้สามารถแยกความแตกต่างของสีได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คือการสวมแว่นเลนส์พิเศษที่จะช่วยทำหน้าที่ในการกรองแสงบางสีออกไป ซึ่งจะช่วยให้สีที่อยู่ตรงข้ามมีความเข้มของสีที่มากขึ้นและแตกต่างไปจากอีกสีหนึ่ง ผู้ที่มีอาการตาบอดสีจึงสามารถแยกแยะความแตกต่างของสีนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นคนที่ตาบอดสีแดง จะไม่สามารถแยกสีแดงและสีส้มออกจากสีเขียวได้ แต่ถ้าใช้แว่นที่ช่วยกรองสีแดงออก ก็จะสามารถเห็นสีเขียวได้ชัดเจนมากขึ้นเพราะสีเขียวจะเด่นออกมา
อย่างไรก็ตามม การใช้แว่นกรองแสงบางสี ไม่สามารถทำให้คนตาบอดสีนั้นๆเห็นสีได้เหมือนคนปกติ เพียงแต่จะช่วยให้เขาสามารถแยกสีได้ดีขึ้นขณะใช้แว่นกรองแสงบางสีเท่านั้น

อาชีพบางอาชีพไม่หมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีอาการตาบอดสี เนื่องจากจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง หรือบางครั้งอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้มากกว่าคนปกติอื่นๆด้วย ตัวอย่างอาชีพ เช่น งานด้านเคมี จิตรกร นักบิน ช่างอิเทคโทรนิกส์ หรืองานที่ต้องมีการใช้สีเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น
การตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำอย่างน้อยทุกปี โดยเริ่มตรวจตั้งแต่ยังเป็นเด็กจะช่วยให้สามารถพบความผิดปกติและแก้ไขได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะผู้ใดที่มีพ่อแม่ญาติพี่น้องที่เคยมีอาการตาบอดสีมาก่อน ย่อมควรที่จะได้รับการตรวจวินิจฉัย เพื่อวิเคราะห์หาความเสี่ยงในการเกิดโรคตาบอดสีที่มาจากพันธุกรรม