การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้, เกี่ยวกับโรค

กลัว ‘ไมเกรน’ ทำไมกัน

    อาการปวดหัวถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่คนปกติสามารถพบได้บ่อยๆยามเมื่อมีความเครียด ไม่สบาย หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ถ้าเป็นอาการปวดหัวที่เรียกว่า “ไมเกรน” แล้วละก็ เชื่อว่าทุกคนคงจะเคยได้ยินชื่อ หรือบางคนก็อาจจะกำลังตกเป็นเหยื่อของมันอยู่ในขณะนี้แล้วก็เป็นได้

กลัว ‘ไมเกรน’ ทำไมกัน
ภาพจาก : http://www.huffingtonpost.com/2013/04/22/migraine-pain-source-overactive-signal-firing_n_3131778.html กลัว ‘ไมเกรน’ ทำไมกัน


    อาการปวดไมเกรนไม่ใช่อาการปวดหัวธรรมดาๆแบบที่ใครๆก็เป็นกัน แต่อาการปวดหัวเช่นนี้ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ มีเพียงความเชื่อที่ว่า สมองของผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนจะมีความไวในการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในร่างกายที่มากกว่าคนปกติ และการตอบสนองดังกล่าวก็มีผลให้หลอดเลือดมีการอักเสบหรือขยายตัว ซึ่งเป็นภาวะที่จะกระตุ้นให้เกิดการปวดศีรษะที่พิเศษมากขึ้นนั่นเอง

    อาการปวดไมเกรนจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากการปวดหัวที่คุณเคยเป็น หากใครที่กำลังมีอาการดังต่อไปนี้ ก็รู้ไว้ได้เลยว่าคุณกำลังเป็นไมเกรนแล้วละ อาการที่ว่านี้ได้แก่

  • มักปวดศีรษะข้างเดียว โดยอาจจะสลับปวดทั้งซ้ายและขวา แต่ก็มีบางรายที่จะปวดพร้อมกันทั้งสองข้าง
  • ลักษณะการปวดเป็นการปวดแบบตุ๊บๆ บางครั้งปวดมากจนไม่สามารถทำงานได้
  • มักจะมีอาการปวดยาวนาน โดยส่วนใหญ่ปวดนาน 4-72 ชั่วโมง
  • หลังปวดศีรษะอาจมีอาการคลื่นไส้ และถ้าเป็นมากจะมีอาการอาเจียนร่วมด้วย

    สิ่งที่คอยกระตุ้นให้อาการปวดไมเกรนทวีความรุนแรงขึ้นมีอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น แสงไฟจ้า อากาศเย็นจัด อากาศร้อนจัด หรือเสียงดังบาดหู ซึ่งหากใครที่ต้องตกอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้บ่อยๆ ก็มีผลให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้บ่อยขึ้น โดยมากแล้วอาการปวดไม่เกรนจะพบในคนอายุน้อยหรือเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่น แต่เมื่ออายุมากขึ้นอาการปวดศีรษะจะค่อยๆดีขึ้นเอง

    อาการปวดไมเกรนนี้สามารถพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่หากเป็นในเพศหญิงจะพบว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นจะบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากกว่า อีกทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนยังมีส่วนสำคัญต่ออาการปวดที่มากขึ้นด้วย เช่น ผู้หญิงบางคนจะมีอาการปวดขณะมีประจำเดือน ในขณะที่ผู้หญิงบางคนเมื่อรับประทานยาคุมกำเนิดจะมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงและถี่ขึ้น เป็นต้น

    แล้วจะต้องทำอย่างไรเมื่อเริ่มสงสัยว่าจะเป็นไมเกรน? หากคุณเริ่มรู้สึกว่าอาการปวดหัวที่เป็นอยู่นี้ไม่ใช่การปวดหัวแบบทั่วไปที่เคยเป็น ให้ลองเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ ซึ่งการวินิจฉัยว่าคุณเป็นไมเกรนหรือไม่นั้น จะต้องได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด พร้อมไปกับการซักถามประวัติรายละเอียดเกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่ โรคประจำตัว ประวัติการใช้ยา หรือการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินว่าอาการป่วยที่คุณเป็นอยู่นั้นเข้าข่ายอาการปวดไมเกรนหรือไม่

    เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าอาการป่วยที่เป็นอยู่นี้คือ ‘อาการปวดไมเกรน’ ผู้ป่วยก็จะต้องได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ซึ่งแม้ว่าอาการป่วยไม่เกรนจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าเข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำ ก็จะทำให้สามารถควบคุมโรคไม่ให้รุนแรงมากไปกว่าเดิมได้ ซึ่งการรักษาที่ดีนั้นผู้ป่วยจะต้องทราบถึงสาเหตุที่กระตุ้นให้ปวดศีรษะและพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองตกอยู่ในสภาวะแบบนั้น อีกทั้งยังต้องมีส่วนร่วมในการรักษาโดยการจดบันทึกปัจจัยที่คาดว่าจะชักนำให้เกิดอาการปวดศีรษะ จดช่วงเวลา ความบ่อยถี่ ความยาวนานที่เกิดอาการปวด หรืออาการอื่นที่พบร่วม ทั้งนี้ ก็เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรักษาหรือการปรับปริมาณยาให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคน รวมไปถึงจะต้องไปพบแพทย์ทุกครั้งตามนัด เพื่อให้แพทย์ประเมินผลการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากที่สุด

กลัว ‘ไมเกรน’ ทำไมกัน
ภาพจาก : http://www.the-pep.com/newsite/are-we-flying-blind-a-more-common-sense-approach-to-medicine-taking-behavior/ กลัว ‘ไมเกรน’ ทำไมกัน


    นอกจากนี้ การรับประทานยาก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆในการควบคุมอาการของโรค โดยยาที่ใช้ในการโรคปวดศีรษะไมเกรนอาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลัน (abortive drugs) และยาที่ใช้ป้องกันการเกิดไมเกรน(preventive drugs) ซึ่งหากเป็นยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดแบบฉับพลันจะมีชื่อว่า “ergotamine” ยาตัวนี้จะช่วยให้หลอดเลือดที่ขยายตัวผิดปกติเกิดการหดตัวลง และทำให้อาการปวดศีรษะหายไปในที่สุด ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ยาชนิดนี้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดเท่านั้น ห้ามใช้ติดต่อกันทุกวันเพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนเด็ดขาด หากมีการรับประทานยาชนิดนี้มากเกินไปจะส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก หรือ หัวใจวายได้

    ส่วนอื่นๆที่จะช่วยไม่ให้อาการปวดหัวทวีความรุนแรงขึ้น ก็อาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนในการกระตุ้นไมเกรน เช่น แอลกอฮอล์ ผงชูรส กาแฟ หรือชา เป็นต้น นอกจากนี้ การเข้านอนหรือตื่นให้เป็นเวลา หรือการพยายามควบคุมความเครียด ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยยับยั้งไม่ให้รู้สึกปวดไมเกรนได้เช่นกัน

    จะเห็นได้ว่าการควบคุมไมเกรนไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปเลย หากเราสามารถประพฤติตนให้อยู่ในวิถีทางที่ควรจะเป็นและรับประทานยาให้ถูกวิธี เพียงเท่านี้..อาการไมเกรนก็คงจะทำอะไรคุณต่อไปไม่ได้อีกแล้ว

Sending
User Review
0 (0 votes)