บทความน่ารู้, สุขภาพ, สุขภาพดี, เสริมความงาม

แดดหน้าหนาว ปวดร้าวกว่าหน้าไหน

    อากาศหน้าหนาวแบบนี้ หลายๆคนคงจะเลือกที่จะสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายด้วยวิธีการต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสวมเสื้อผ้าหนาๆ การออกกำลังกายเพื่อสร้างความอบอุ่นภายในร่างกาย การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มอุ่นๆ หรือแม้กระทั่งการออกไปรับไอแดดจากดวงอาทิตย์ ซึ่งหากเป็นการกระทำอย่างหลัง แม้ว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความหนาวเหน็บได้ก็จริง แต่ก็อาจทำให้เราได้รับของแถมที่เราไม่ได้เชื้อเชิญตามมาได้ด้วย

แดดหน้าหนาว ปวดร้าวกว่าหน้าไหน
ภาพจาก : http://trendymods.com/beauty-ideas-tips/top-10-most-effective-winter-beauty-tips-for-men-and-women.php แดดหน้าหนาว ปวดร้าวกว่าหน้าไหน

แสงแดดมีทั้งคุณและโทษอยู่ในตัวมันเอง ซึ่งหากคนเราประมาทในการใช้ชีวิต แทนที่จะสามารถนำเอาคุณประโยชน์จากแสงแดดมาใช้ ก็จะกลายเป็นการได้รับภัยจากรังสียูวีที่มาจากแสงแดดไปเสียเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ทราบถึงโทษอันแสนร้ายแรงของแสงแดด หรือยังติดกับความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการป้องกันแสงแดด จนทำให้ละเลยการปกป้องผิวจากแสงแดดอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าหนาวที่อากาศจะค่อนข้างแห้งมากกว่าฤดูไหนๆ ทำให้ผิวมีความอ่อนแอ ไวต่อแสงแดด และเกิดผลเสียได้ง่ายมากกว่า

    การที่อากาศมีอุณหภูมิลดลง ความชื้นลดลง ย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังมนุษย์ตามไปด้วย สภาวะอากาศเช่นนี้จึงส่งผลให้เกิดผิวแห้งแตกได้ง่าย การดูแลผิวหน้าในหน้าหนาวนี้ นอกจากการดูแลผิวให้ชุ่มชื้นด้วยมอยส์เจอร์ไรเซอร์ชนิดเข้มข้นแล้ว จะต้องไม่ละเลยการปกป้องผิวด้วยครีมกันแดดประเภทที่สามารถปกป้องไม่ให้รังสียูวีที่แสนอันตรายทะลวงเข้ามาทำลายผิวของเราได้ ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงจำเป็นต้องเลือกครีมกันแดดที่เหมาะกับผิวและสภาวะอากาศให้มากที่สุด ดังต่อไปนี้

    แสงแดดที่ตกถึงโลกจะมีรังสีแสงแดดที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 290-760 นาโนเมตร แบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ คือ (1) ช่วงคลื่นระหว่าง 290-320 เรียกว่า รังสียูวีบี (UVB) (2) ช่วงคลื่น 320-400 นาโนเมตร เรียก ยูวีเอ (UVA) (3) ช่วงคลื่น 400-760 นาโนเมตร เป็นรังสีที่มองเห็นด้วยตาเปล่า (Visible Radiation) ซึ่งรังสีจากแสงแดดที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีหรือฟิสิกส์กับสารเคมีในผิวหนัง ก็คือ รังสีแสงยูวีเอและยูวีบี โดยหากเป็นอากาศในหน้าหนาว รังสียูวีบีจะไม่ค่อยมีผลรุนแรงต่อผิวของเราจนเกิดรอยไหม้ให้เห็นได้มากเท่ากับหน้าร้อน อย่างไรก็ตาม รังสียูวีเอยังคงมีผลทำลายผิวหนังของเราได้ดีเท่าเดิม และมีฤทธิ์ทะลุทะลวงลึกถึงชั้นหนังแท้ได้ไม่น้อยไปกว่าอากาศในหน้าไหนๆเลย

    ดังนั้น การที่จะป้องกันอันตรายจากแสงแดดได้ จึงจำเป็นจะต้องเลือกหาครีมกันแดดที่สามารถป้องกันช่วงความยาวคลื่นของรังสีจากแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วครีมกันแดดชนิดที่สามารถป้องกันความอันตรายของรังสีเหล่านี้ จะแบ่งออกตามความสามารถในการปกป้องตามช่วงความยาวคลื่น ดังต่อไปนี้

    ครีมกันแดดกลุ่มที่ 1 เรียกว่า “สารกันแดดชนิดดูดแสง (Chemical Sunscreen)” สารในตัวครีมจะดูดแสงเข้าไปในโมเลกุลของสาร แล้วเปลี่ยนแสงนั้นให้เป็นพลังงานความร้อน จึงเป็นการป้องกันไม่ให้แสงทะลุผ่านลงไปในชั้นผิวหนังได้ อย่างไรก็ตาม ครีมกันแดดประเภทนี้ยังแบ่งแยกย่อยเป็นแบบที่ดูดซับเฉพาะรังสียูวีเอ บางชนิดดูดซับเฉพาะรังสียูวีบี หรือบางชนิดสามาถดูดซับได้ทั้งยูวีเอและยูวีบี ดังนั้น ก่อนจะเลือกซื้อครีมกันแดดประเภทนี้ จึงจำเป็นจะต้องดูด้วยว่าสามารถปกป้องผิวของเราได้มากน้อยเพียงไหน

    ครีมกันแดดกลุ่มที่ กลุ่มที่ 2 เรียกว่า “สารสะท้อนแสงแดดออกจากผิว (Physical Sunscreen)” สารในกลุ่มนี้ เช่น ไททาเนียมไดออกไซด์ ซิงค์ออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งหากเป็นซิงค์ออกไซด์จะสามารถสะท้อนแสงทั้งในช่วงคลื่นยูวีเอ ยูวีบี และรังสีที่มองเห็นด้วยตาเปล่าได้เป็นอย่างดี

    การเลือกใช้ครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ่านสรรพคุณและส่วนผสมบนฉลากให้ดีก่อนการตัดสินใจซื้อ อีกทั้งยังควรเลือกชนิดที่มีความเข้มข้นของสารแต่ละตัวอย่างพอเหมาะ โดยการสังเกตที่ค่าเอสพีเอฟ (SPF) ของครีมกันแดด ที่ควรมีค่าสูงๆ และค่า PA (Protection Factor for UVA) ที่ใช้วัดประสิทธิภาพของสารกันแดดที่กันรังสียูวีเอ ซึ่งหากยิ่งมีเครื่องหมาย + (บวก) มากๆ ก็จะยิ่งการันตีความสามารถในการป้องกันรังสียูวีเอได้มากกว่า

แดดหน้าหนาว ปวดร้าวกว่าหน้าไหน
ภาพจาก : http://www.skincancer.org/prevention/sun-protection/sunscreen แดดหน้าหนาว ปวดร้าวกว่าหน้าไหน

    ปริมาณการทาก็มีส่วนสำคัญต่อการป้องกันแสงแดดเช่นกัน โดยปริมาณที่แนะนำคือ ประมาณ 2 มิลลิกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งอาจจะประมาณโดยการบีบครีมขนาดเท่าเมล็ดถั่ว 1 เมล็ด แล้วแต้มตามจุดต่างๆทั่วใบหน้า ได้แก่ หน้าผาก แก้มสองข้าง จมูก และคาง จากนั้นจึงเกลี่ยครีมให้สม่ำเสมอทั่วทั้งใบหน้า เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้คุณสามารถทาครีมได้ทั่วถึงมากขึ้นแล้ว ส่วนอื่นๆที่นอกเหนือจากใบหน้า เช่น คอ แขน หรือขา เป็นต้น ก็ไม่ควรละเลยที่จะทาครีมเช่นเดียวกัน โดยถ้าจะให้ดีควรทาครีมก่อนถูกแดดประมาณ 30 นาที เพื่อให้ครีมเกาะกับผิวหนังได้แนบแน่นยิ่งขึ้น
การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดให้ติดเป็นนิสัย การหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด หรือการปกป้องผิวด้วยวิธีการ กางร่ม ใส่หมวก ใส่แว่นตากันแดด จะช่วยปกป้องผิวของคุณให้ห่างไกลจากแสงแดดและรังสียูวี เพื่อสุขภาพผิวที่ดีและไม่แก่ก่อนวัยนะคะ

Sending
User Review
0 (0 votes)