คงจะน่าหงุดหงิดไม่น้อยหากคนเราเกิดอาการ ‘สะอึก’ กันบ่อยๆ และถึงแม้ว่าอาการสะอึกนี้จะไม่ใช้ภาวะอาการรุนแรงที่ทำให้ร่างกายไม่ปลอดภัย แต่อาการสะอึกก็มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของเราได้เช่นกัน ดังนั้นการทราบวิธีการที่จะช่วยหยุดอาการดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นนั่นเอง

สะอึก (Hiccup ,Hiccough หรือ Singultus) ถือเป็นอาการเฉียบพลันที่เกิดขึ้นแบบกะทันหันและไม่ตั้งใจ อาการที่เกิดขึ้นนี้อยู่นอกเหนือความควบคุมของร่างกาย หรือที่เราเรียกว่า ‘ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ (Reflex)’ การสะอึกสามารถเกิดได้ในบุคคลแทบทุกวัยตั้งแต่เด็กทารก เด็กเล็ก เด็กโต วัยรุ่น ผู้ใหญ่วัยทำงาน ตลอดจนผู้สูงอายุ อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่มีความผิดปกติของระบบการหายใจ การรับประทานอาหารที่เร็วเกินไป ความเครียดที่มากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือการสูบบุหรี่ที่มากเกินไป รวมไปถึงการบริโภคอาหารที่ทำให้มีก๊าซบางอย่างในร่างกายที่มากเกินไป
อย่างไรก็ตาม กลไกการสะอึกยังไม่ถูกค้นพบอย่างแท้จริง มีแต่เพียงความเชื่อที่ว่าอาการนี้อาจเกิดจากการที่ระบบประสาทของกระบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซี่โครงถูกรบกวน ซึ่งโดยปกติแล้วกระบังลมจะเป็นอวัยวะที่กั้นอยู่ระหว่างช่องท้องกับช่องอก และจะทำงานยืดและหดตัวในจังหวะที่สม่ำเสมอไปตามจังหวะการหายใจ เมื่อมีอะไรบ้างอย่างมากระทบกระเทือนอวัยวะในส่วนนี้ จะส่งผลให้กระบังลมและกล้ามเนื้อที่บริเวณดังกล่าวหดตัวทันที ร่างกายจึงตอบสนองด้วยการหายใจเข้าและมีผลให้ฝากล่องเสียงปิดตามทันทีหลังการหายใจ ซึ่งการเปิดและปิดของฝากล่องเสียงจะทำให้สายเสียงสั่นสะเทือน จนเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดเสียงสะอึกขึ้นนั่นเอง
ระหว่างการสะอึกอาจทำให้คนบางคนรู้สึกถึงอาการแน่นบริเวณลำคอ หน้าอก ไหล่ หรือช่องท้อง เล็กน้อย แต่ก็ไม่ใช่อาการที่ร้ายแรงอะไรมากนัก โดยทั่วไปอาการสะอึกจะพบได้ประมาณ 4-60 ครั้งต่อการสะอึก 1 นาที และจะหายไปได้เองภายในไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม มีบุคคลบางประเภทที่เกิดอาการสะอึกยาวนานเกินกว่า 2 วันขึ้นไป หรือที่เรียกว่า ‘การสะอึกต่อเนื่อง (Persistent hiccup)’ หรือ ถ้านานมากเกินกว่า 2 เดือน อาจเรียกอีกชื่อว่า ‘การสะอึกที่ควบคุมรักษายาก (Intractable hiccup)’ ซึ่งความรุนแรงของอาการสะอึกในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะขึ้นกับโรคที่เป็น เช่น โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต โรคกรดไหลย้อน ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับสมอง โรคทางเดินอาหาร การอักเสบในช่องท้องบริเวณกระบังลม โรคหลอดเลือดสมองตีบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือเกิดความผิดปกติทางจิตใจ เป็นต้น ดังนั้นหากผู้ใดมีอาการสะอึกที่ยาวนาน ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการให้แน่ชัดยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้อย่างไม่ติดขัด และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งการกิน การพูด หรือการนอนนั่นเอง
การจะทำให้หยุดสะอึกอย่างจงใจนั้นไม่สามารถทำได้ในทันทีทันใด แต่จะต้องอาศัยการปรับตัวบางอย่างซึ่งเราจะต้องสร้างสภาวะนั้นๆให้เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา ตัวอย่างวิธีแก้การสะอึก เช่น
- การกลั้นหายใจเอาไว้ให้นานที่สุด จากนั้นดื่มน้ำตามทันที
- การหายใจในถุงกระดาษ 3-5 นาที เพื่อเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- การดึงลิ้นออกมาข้างหน้าแรงๆ เพื่อช่วยเปิดหลอดลมที่ปิดอยู่
- การกระตุ้นผิวด้านหลังลำคอบริเวณที่เปิดปิดหลอดลม
- การจิบน้ำเย็นจัดช้าๆ ตลอดเวลา และกลืนติดๆ กันไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการสะอึกหาย
- การทำให้เกิดอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธ ตื่นเต้น หรือกลัว เป็นต้น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
- การจิบเครื่องดื่มหรือน้ำส้มสายชูที่เปรี้ยวจัด
- การดมสารที่มีกลิ่นฉุน เช่น แอมโมเนีย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการหาวิธีแก้สะอึกนั้นขึ้นอยู่กับอาการและความถนัดของแต่ละบุคคล หรือในบางครั้งอาการสะอึกอาจจะหายไปเองแบบยังไม่ทันทำอะไรเลยก็ได้ แต่สำหรับใครคนไหนที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรอาการสะอึกก็ไม่หายไปเสียที ก็ให้ระวังไว้ว่าอาการที่คุณกำลังเป็นอยู่นั้นอาจเข้าข่ายอาการสะอึกแบบต่อเนื่องหรือแบบควบคุมรักษายากตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริงก็จำเป็นจะต้องรีบขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อจะได้แก้ไขอาการป่วยที่เป็นอยู่ได้อย่างตรงจุดมากที่สุด
การรักษาอาการสะอึกขั้นต้นอาจใช้ยาบางตัว เช่น Lagactil หรือ Baclofen เป็นต้น เพื่อทำให้ผู้ป่วยหยุดสะอึก หรือบางครั้งอาจมีการใช้กลุ่มยาช่วยย่อย เช่น Cisapride หรือ Omperazole เป็นต้น ซึ่งการจะเลือกใช้ยาชนิดไหนนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของคนไข้เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากใช้ยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องมีการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุของโรคอื่นๆร่วมด้วย
แม้ว่าอาการสะอึกจะยังเป็นอาการที่เกิดขึ้นแบบเดาสาเหตุไม่ได้ และสามารถแก้ไขได้ง่ายด้วยหลายแนวทางการรักษา แต่อาการสะอึกก็ยังคงสร้างความรำคาญใจและทำให้เราดำเนินชีวิตไปอย่างไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นการหมั่นสังเกตตัวเองเมื่อเกิดความผิดปกติกับร่างกายและพยายามศึกษาแนวทางการแก้ไขที่ได้ผลจึงเป็นสิ่งดีที่ควรจะทำ หรือหากพบว่าสัญญาณการสะอึกที่กำลังเป็นอยู่นั้นไม่ปกติเหมือนอย่างที่เคยเป็น ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรีบแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่ถูกต้อง หากสามารถทำได้ตามที่กล่าวไว้นี้ น่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ร่างกายปลอดภัยจากโรคได้มากที่สุด