Cheese หรือเนยแข็งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์จากนมที่ทุกคนรู้จักและหลงรักในการรับประทานมานาน กระบวนการผลิตได้จากการตกตะกอนโปรตีน (coagulation) ในน้ำนมด้วยเอนไซม์เรนนินที่อุณหภูมิประมาณ 29 ? 31 องศาเซลเซียส แล้วจึงนำมาขึ้นรูปและบ่มจนได้ออกมาเป็นอาหารแสนอร่อยที่ใครหลายคนอดใจไม่ไหว
ภาพจาก : http://blog.localbanya.com/exotic-world-cheeses-in-banyas-aisles/
ประเภทของชีสมีอยู่มากมายหลายแบบขึ้นอยู่กับวัตถุดิบนมและเชื้อยีสต์ที่ใช้ในการผลิต ชีสเป็นแหล่งของสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โปรตีน แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส สังกะสี และวิตามินบี 12 นอกจากนี้ ชีสยังเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับคนที่แพ้นมวัวที่ต้องการสารอาหารเหมือนในน้ำนม เนื่องจากในชีสจะมีปริมาณน้ำตาลแลคโตสที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียในอัตราที่ต่ำกว่านมวัวโดยทั่วไป
เนื่องด้วยวิตามินหลากชนิดที่พบได้ในชีส การรับประทานชีสจึงไม่ได้ให้แต่เพียงความอร่อยเท่านั้น แต่ยังทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์อื่นๆอีกหลายประการ
แคลเซียม วิตามินดีและแมกนีเซียมจะร่วมกันทำงานเพื่อเสริมสร้างให้กระดูกแข็งแรงและป้องกันโรคกระดูกพรุน ฟอสฟอรัสในชีสจะเป็นตัวช่วยป้องกันสารเคลือบฟันและเพิ่มฟองน้ำลายที่ทำหน้าที่ล้างกรดหรือน้ำตาลในช่องปาก ส่งผลให้ลดโอกาสการเกิดฟันผุลงได้ ส่วนโปรตีนและกรดอะมิโนก็ถือเป็นสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การรับประทานชีสจึงเป็นการช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สูญเสียไปในแต่ละวัน อีกทั้งยังช่วยให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น ปกป้องริ้วรอย และช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่เส้นผมและเล็บได้
อย่างไรก็ตาม อย่ามัวแต่ทานชีสกันจนเพลิน เพราะต้องอย่าลืมว่านอกจากชีสจะประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังประกอบไปด้วยไขมันในปริมาณที่ค่อนข้างสูงด้วย ดังนั้นการรับประทานชีสในปริมาณที่มากจนเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายหรือนำพาโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด เป็นต้น มาสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นอันตรายในชีสก็คือ ปริมาณเกลือที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดจึงควรหลีกเลี่ยง หรือเลือกรับประทานเฉพาะชีสประเภทที่มีเกลือต่ำ เพื่อลดโอกาสที่จะได้รับปริมาณเกลือเกินกว่าความต้องการก็จะสามารถช่วยได้เช่นกัน