การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้, เกี่ยวกับโรค

ยานอนหลับ ผลลัพภ์ของการหลับไม่ลง

    แม้จะง่วงสักแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถจะข่มตาหลับได้ลงแบบทันทีทันใด มากไปกว่านั้น เมื่อได้หลับไปแล้วก็จะหลับไม่ลึกเท่าที่ควรจะเป็น ทำให้เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาจะรู้สึกอ่อนเพลียเหมือนกับคนที่ยังไม่ได้นอน หรือนอนไม่เต็มอิ่ม ซึ่งก็ล้วนแต่นำพาปัญหาสุขภาพต่างๆนานามาให้คุณแบบไม่จบไม่สิ้น

    ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นเหตุผลที่คนหลับง่ายหรือหลับได้ทุกที่คงไม่เข้าใจความรู้สึกของคนที่นอนไม่ค่อยหลับเสียเท่าไร เพราะอาการตาค้างที่เป็นอยู่นี้น่าทรมานใจมากเสียกว่าอาการไหนๆ และไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถข่มตาหลับได้ง่ายๆด้วยตนเอง จนสุดท้ายก็ต้องอาศัยตัวช่วยอย่าง ‘ยานอนหลับ’ เพื่อดำดิ่งตัวเองเข้าสู่ห่วงราตรี

    สาเหตุของคนที่นอนไม่หลับมีอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนมากเกินไป หรืออาจจะเป็นความเครียดหรือความวิตกกังวลที่ทำให้ความคิดหมุนวนจนไม่ได้พักผ่อน แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลใด มีคนบางกลุ่มที่ตัดสินใจแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย ‘ยา’ ซึ่งจะปลอดภัยหรืออันตรายมากแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่ที่ตัวของคุณเอง

ยานอนหลับ ผลลัพภ์ของการหลับไม่ลง
ภาพจาก : http://www.greenewave.com/sleepless-after-the-shtf/ ยานอนหลับ ผลลัพภ์ของการหลับไม่ลง


    การรักษาปัญหาการนอนไม่หลับมักจะต้องเริ่มต้นด้วยวิธีไม่ใช้ยาก่อน โดยการพยายามลบปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว รวมถึงพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพักผ่อนให้มากขึ้น แต่เมื่อใดที่การรักษาด้วยวิธีนี้ยังไม่ได้ผล แพทย์ก็จำเป็นจะต้องใช้ยาที่จะช่วยให้คุณหลับได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นแก้ไขปัญหาการนอนไม่หลับอย่างตรงจุดเท่าไรนัก

    การให้ยารักษาภาวะนอนไม่หลับจะยึดหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้ ได้แก่ ใช้ยาให้น้อยที่สุด, ใช้ยาให้สั้นที่สุด, หยุดใช้ยาเป็นช่วงๆ และใช้ยาร่วมกับการรักษาการนอนไม่หลับด้วยวิธีอื่นๆ โดยผลที่ได้จะต้องสามารถนอนหลับได้เร็ว นอนหลับได้นานขึ้น ตื่นกลางคืนน้อยลง และรู้สึกสดชื่นมากขึ้นหลังจากตื่นนอน โดยยาที่ใช้แบ่งออกเป็นหลายประเภท ดังต่อไปนี้

    1. กลุ่ม Benzodiazepines ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ใช้กันบ่อย ซึ่งมีผลต่อการลดการกระตุ้นของเซลล์สมอง การใช้ยาประเภทนี้มีผลข้างเคียงไม่มาก และมีอัตราการติดยาไม่สูงเกินไป แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลต่อจิตประสาท และเป็นยาที่ทางอาหารและยาควบคุม การจ่ายยาจึงจะต้องมีใบสั่งแพทย์ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปซื้อยามารับประทานเอง ยากลุ่มนี้ยังแบ่งย่อยตามการออกฤทธิ์ได้เป็นสองแบบ คือ การออกฤทธิ์ระยะสั้น ได้แก่ lorazepam , alprazolam และ triazolam ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะอยู่ในกระแสเลือดเพียงระยะเวลาสั้นๆ และไม่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนในเวลากลางวัน แต่ถ้าเป็นกลุ่มการออกฤทธิ์ระยะยาว ได้แก่flurazepam และ quazepam ยาจะค้างอยู่ในกระแสเลือดเป็นระยะเวลานานกว่า และมีผลทำให้ง่วงนอนในตอนกลางวันได้ การได้ยากลุ่มนี้เกินขนาดมักไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิตหากผู้ป่วยไม่ได้มีอาการแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ แต่ผู้ป่วยที่รับประทานยาเป็นเวลานานและหยุดยากะทันหัน อาจจะมีอาการนอนไม่หลับและเกิดอาการอื่นๆ เช่น อาหารไม่ย่อย เหงื่อออก ใจสั่น ร่วมด้วย การหยุดยาที่ดีจึงควรจะค่อยลดขนาดยาลงทีละน้อยๆ จนไม่ใช้ยาในที่สุด

    2. กลุ่ม Non-Benzodiazepine Hypnotics เป็นยานอนหลับอีกชนิดหนึ่งที่ได้ผลค่อนข้างดี ไม่ค่อยมีอาการดื้อยา และไม่ค่อยมีอาการติดยา ยกตัวอย่าฝเช่น Zolpidem, Zopiclone

    3. Antidepressants เป็นยาแก้โรคซึมเศร้าที่เหมาะสำหรับอาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อ serotonin ที่มีผลทำให้หลับใหลได้ง่ายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น trazodone, nefazodone และ paroxetine

    4. ยาอื่นๆได้แก่ ยาแก้แพ้ เช่น chlorpheniramine, diphenhydramine, hydroxyzine เป็นต้น หรือการให้ฮอร์โมน Estrogen Replacement Therapy สำหรับผู้ป่วยวัยทองที่มีภาวะการนอนไม่หลับ

ยานอนหลับ ผลลัพภ์ของการหลับไม่ลง
ภาพจาก : http://www.webmd.com/children/ss/children-sleep-problems ยานอนหลับ ผลลัพภ์ของการหลับไม่ลง

          การใช้ยานอนหลับจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ และใช้เพียงชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น การใช้ยานอนหลับต่อเนื่องเป็นเวลานานๆจะทำให้การตอบสนองต่อยาลดลง และทำให้ต้องเพิ่มขนาดยาให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดอาการ “ติดยา” ในที่สุด ซึ่งหากเมื่อใดที่คุณติดยาแล้ว การไม่ได้รับยานอนหลับในทุกคืน จะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย และเป็นกังวลอย่างมากได้ ที่สำคัญไปกว่านั้น การที่คุณใช้มันอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เมื่อเวลาผ่านไปหลายๆปี จะมีผลให้การทำงานของสมองเสื่อมถอยลง จนเกิดโรคสมองเสื่อมได้โดยไม่รู้ตัวหรือวันใดวันหนึ่ง หากคุณเผลอใช้ยาเกินขนาด ยานอนหลับจะไปออกฤทธิ์กดการทำงานของสมองที่ควบคุมการหายใจ จนทำให้เกิดภาวะการหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลย

    การใช้ยานอนหลับจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่คนนอนไม่หลับจะสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือในการข่มตาให้หลับได้ ยานอนหลับจึงถือเป็นยาอันตรายที่ต้องควบคุมการใช้อย่างพิเศษ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคตับ ไต และผู้สูงอายุ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับทุกชนิดในหญิงตั้งครรภ์ที่ให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคปอด ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และผู้ที่ใช้ยาออกฤทธิ์กดประสาท ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตของคนทุกๆคนนั่นเอง


Sending
User Review
0 (0 votes)