บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สมุนไพรน่ารู้, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้, เกี่ยวกับโรค

พริกไทย..ราชาแห่งเครื่องเทศ

    เมื่อพูดถึงเครื่องเทศรสเผ็ดร้อน คงไม่มีใครไม่รู้จัก “พริกไทย” หนึ่งในสมุนไพรที่มีใช้ในทุกครัวเรือน สมุนไพรชนิดนี้กลมกลืนอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามาอย่างช้านาน และมีจุดประสงค์หลักในการแต่งกลิ่นอาหารให้หอมน่ารับประทาน และมีรสชาติที่อร่อยชวนกิน ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทยๆอย่างคั่วกลิ้ง แกงเลียง ข้าวต้มไก่ หรืออาหารฝรั่งอย่างสเต็กเนื้อ ก็สามารถใช้พริกไทยเพื่อเติมเต็มความอร่อยให้เพิ่มมากขึ้นได้ทั้งสิ้น

พริกไทย..ราชาแห่งเครื่องเทศ
ภาพจาก : http://www.brambleberry.com/Black-Pepper-Pure-Essential-Oil-P3415.aspx พริกไทย..ราชาแห่งเครื่องเทศ


     พืชชนิดนี้ถือกำเนิดในแถบชายฝั่งมะละบาร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย แต่ในปัจจุบันได้ถูกแพร่กระจายไปยังหลายๆประเทศทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงในประเทศไทยด้วย และเพราะรสชาติที่เผ็ดร้อนประกอบกับกลิ่นหอมฉุน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญในการชูรสอาหารให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น พริกไทยจึงถือเป็นเครื่องเทศยอดนิยมของคนในเกือบทุกชาติ และถูกยกให้เป็น “ราชาแห่งเครื่องเทศ (King of Spices)” ที่ถูกกล่าวขานปากต่อปากกันมานานนับพันปี

     หากจะจำแนกชนิดของพริกไทยออกเป็นชนิดต่างๆ เราสามารถแบ่งสมุนไพรนี้ออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่

1) พริกไทยดำ (Black Pepper)

2) พริกไทยขาวหรือพริกไทยล่อน (White Pepper)

และ

3) พริกไทยอ่อนหรือพริกไทยสด (Green Pepper)

ซึ่งพริกไทยทั้ง 3 ชนิดนี้ไม่ได้เป็นสมุนไพรคนละสายพันธุ์กันแต่อย่างใด เพียงแต่การที่แต่ละชนิดมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปนั้น ก็เพราะพริกไทยทั้ง 3 ชนิดถูกเก็บจากต้นในเวลาที่แตกต่างกันต่างหากละคะ โดยหากเป็นพริกไทยดำจะได้มาจากผลพริกไทยที่โตเต็มที่และมีสีเขียวเข้มจัด เมื่อเก็บมาได้จะนำมาตากแดดให้แห้งจนกลายเป็นสีดำ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ‘พริกไทยดำ’ นั่นเอง ส่วนพริกไทยขาวจะมาจากผลสุกที่แก่จัดจนเป็นสีแดง จากนั้นจึงนำเอาผลมาแช่น้ำแล้วลอกเปลือกออก ตากแดดให้แห้งก็จะได้ผลสีขาว ซึ่งเป็นที่มาของ ‘พริกไทยขาว’ ในขณะที่ ‘พริกไทยอ่อน’ ก็คือ ผลของพริกไทยที่ยังโตไม่เต็มที่นั่นเอง เดากันออกใช่ไหมละค่ะ

    หนึ่งคุณสมบัติที่แสนโดดเด่น ก็คือคุณสมบัติในการรักษาโรค พริกไทยถูกนำมาใช้เป็นยาในหลายตำรับ อาทิเช่น ตำรับยาแก้ซาง ตำรับยาแก้ริดสีดวง ตำรับยาแก้จุกเสียด ตำรับยาแก้กษัย ตำรับยาเลือด ตำรับยาแก้ทางเสมหะ หรือใช้แก้หอบหืด ซึ่งตำรับยาดังกล่าวล้วนถูกพิสูจน์โดยวิธีการหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า สามารถรักษาโรคต่างๆได้จริง จะมีอะไรบ้างนั้น ตามมาเรียนรู้ไปพร้อมๆกันได้เลยค่ะ

    ในด้านผลดีต่อระบบทางเดินอาหาร มีการศึกษาพบว่า พริกไทยมีส่วนช่วยให้ระบบการดูดซึมอาหารและดูดซึมตัวยาของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น โดยหากมีการใช้ขมิ้นชันร่วมกับพริกไทยด้วยแล้ว จะยิ่งส่งผลให้พริกไทยออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารได้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ทั้งนี้พบว่า สารสำคัญที่อยู่ในพริกไทย ที่ชื่อว่า “สารพิเพอรีน (Piperine)” จะทำหน้าที่กระตุ้นให้ระบบทางเดินอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมาย่อยแป้ง ไขมัน และโปรตีน กระตุ้นให้กล้ามเนื้อในกระเพาะและลำไส้เคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังเพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุเซเลเนียม วิตามินบี เบต้าแคโรทีน เคอร์คูมิน และสารอาหารอื่นๆในร่างกายอีกด้วย ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะพริกไทยยังมีคุณสมบัติเป็นสารให้ความร้อน จึงมีส่วนช่วยให้เลือดหมุนเวียนในร่างกายได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถเพิ่มการเผาผลาญอาหารให้เกิดเป็นพลังงานแก่ร่างกายที่มากขึ้น และยังไม่ทำให้เกิดอาการอ้วนลงพุงอีกด้วย

พริกไทย..ราชาแห่งเครื่องเทศ
ภาพจาก : http://www.wellnessandvanity.com/2013/12/29/health-benefits-black-pepper/ พริกไทย..ราชาแห่งเครื่องเทศ


     เชื่อหรือไม่ว่า พริกไทยช่วยแก้อาการความจำเสื่อมได้ ข้อเท็จจริงนี้ได้รับการพิสูจน์โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้วว่า การนำพริกไทยดำมาสกัดเอาสาร ‘พิเพอรีน’ ออกมา สามารถใช้รักษาภาวะความจำบกพร่องได้ โดยสารพิเพอรีนในพริกไทยดำจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการกู้ความทรงจำที่จางหายไปให้กลับคืนมาได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ‘สารไพเพอรีน’ ที่พบในพริกไทยยังสามารถใช้แก้อาการลมบ้าหมู (Antiepileptic) หรือแก้อาการชักได้ดี ไม่เพียงแค่นั้นพริกไทยยังช่วยแก้อาการหวัดคัดจมูกได้อีกด้วย โดยการนำไปใช้จะใช้ในรูปของน้ำมันหอมระเหย ผู้ป่วยที่มีอาการหวัด หลังจากได้สูดดมน้ำมันที่สกัดจากพริกไทยก็จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

    นอกจากจะช่วยเสริมกลิ่นหอม เสริมรสชาติ แถมยังช่วยในการรักษาโรคแล้ว พริกไทยยังมีคุณสมบัติในการถนอมอาหาร ทำให้สามารถเก็บอาหารไว้ได้นานกว่าปกติโดยไม่เสื่อมเสีย ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวนี้เกิดจากสารภายในที่ชื่อว่า ‘พิเพอรีน’ อีกนั่นละ สารตัวนี้จะทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด และ เป็นผลให้อาหารไม่ให้บูดเน่าได้ง่ายๆนั่นเอง

    จะเห็นได้ว่า พริกไทยถือเป็นเครื่องเทศชั้นยอดที่ไม่ได้มีดีแค่เพียงการปรุงแต่งกลิ่นรสอาหารเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย แต่ถึงแม้ว่าพริกไทยจะมีสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากเพียงใด ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถรับประทานได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เพราะการบริโภคพริกไทยที่มากจนเกินไป ย่อมเกิดผลข้างเคียงบางอย่างขึ้นมาได้เหมือนกัน โดยร่างกายมีสิทธิได้รับสารอัลคาลอยด์สะสม ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้เช่นกัน ทางเลือกที่ดีที่สุดจึงเป็นการรับประทานแต่พอดี เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์แต่พองาม ส่วนสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ปล่อยให้ร่างกายขับออกไปเองตามวิธีการทางธรรมชาติ

Sending
User Review
0 (0 votes)