การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้, อาหารเพื่อสุขภาพ

บอแรกซ์ สารร้ายที่ไม่ได้เชื้อเชิญ

    ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความต้องการด้านความอร่อย และติดใจในรูป รส หรือกลิ่นของอาหารอยู่ ย่อมเป็นแรงผลักดันให้อาหารใหม่ๆถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในบางครั้งการพัฒนาสิ่งใหม่อาจมาพร้อมกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จึงทำให้ผู้ผลิตบางรายเลือกใช้ ‘ทางลัด’ เพื่อกอบโกยผลกำไร โดยปราศจากความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในด้านการรับผิดชอบสุขภาพของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้สารเคมีผิดกฎหมาย ยังคงถูกใช้เพียงเพื่อจุดประสงค์ทางการค้า โดยไร้ซึ่งจรรยาบรรณในการผลิตอาหาร

    หนึ่งในสารเคมีอันตรายที่ผู้ผลิตมักใช้กัน และเป็นหนึ่งในสารอันตรายที่สร้างโรคร้ายให้แก่ผู้คนมากมาย ก็คือ “สารบอแรกซ์” หลายๆคนน่าจะเคยได้ยินชื่อสารตัวนี้กันดีอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่ทราบถึงความรุนแรงหรือพิษภัยอันแสนร้ายกาจของมัน วันนี้เราจะมาเรียนรู้กันค่ะ ว่าสารบอแรกซ์อันตรายมากแค่ไหนกัน

    สารบอแรกซ์ หรือที่เรียกกันว่าน้ำประสานทองหรือเม่งแซ จัดเป็นวัตถุที่ทางราชการห้ามใช้ในอาหาร เพราะมีอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้บริโภค สารชนิดนี้มีลักษณะเป็นผงสีขาวขุ่นเหมือนแป้ง หรืออาจเป็นเม็ดกลมขนาดเล็กที่มีสีขาวขุ่น รสชาติของมันจะมีรสหวานเล็กน้อย ไม่มีกลิ่น และละลายน้ำได้ดี และด้วยคุณสมบัติบางประการ จึงทำให้สารชนิดนี้ถูกลักลอบนำไปใช้ประโยชน์กับอาหารในทางที่ไม่ชอบนั่นเอง

    ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2522) ได้บ่งบอกข้อห้ามในการใช้สารบอแรกซ์ในอาหารไว้อย่างชัดเจน หากพบว่ามีการใช้บอแรกซ์ในอาหารใดๆก็ตาม ผู้ผลิตเหล่านั้นจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเดิมทีสารสารบอแรกซ์จะนิยมใช้ในอุตสาหกรรมทำแก้ว ฟอกหนัง หรือเชื่อมทองเส้น แต่กลับมีผู้ผลิตหัวใสนำเอาสารสารบอแรกซ์มาประยุกต์ใช้ในอาหาร และนำไปเป็นส่วนผสมในลูกชิ้น หมูยอ ไส้กรอก หรือทับทิมกรอบ เพื่อให้อาหารเหล่านี้มีเนื้อสัมผัสที่กรอบทนนานมากขึ้น

ภาพจาก : http://www.weloveshopping.com/template/tem/layout_showpic.php?url=client/000049/sianplafishball/SP001.jpg,, บอแรกซ์ สารร้ายที่ไม่ได้เชื้อเชิญ

    ด้วยความที่สารสารบอแรกซ์ไม่ได้เหมาะสมต่อการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเลย และถือเป็นอันตรายอย่างร้ายกาจต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก อาการที่แสดงออกนั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารบอแรกซ์ที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย และความสามารถของร่างกายในการขับถ่ายออกมา ในบุคคลทั่วไปหากร่างกายได้รับสารบอแรกซ์เข้าไปแล้วจะถูกขับออกได้เมื่อผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ แต่สำหรับคนบางกลุ่มที่มีระบบขับถ่ายไม่ดี ก็จะมีความเสี่ยงต่อการสะสมของสารพิษชนิดนี้มากขึ้น สารชนิดนี้ถือเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารอย่างรุนแรง เนื่องจากสารบอแรกซ์สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เกิดการสะสมที่ไต และเป็นอันตรายต่อสมองได้ มีการศึกษาพบว่า หากร่างกายได้รับสารบอแรกซ์ในปริมาณสูงจะมีผลให้เกิดอาการพิษแบบเฉียบพลัน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน การทำงานของไตถูกทำลาย และเกิดอาการช็อกได้ โดยอาหารที่ผสมบอแรกซ์เพียงแค่ 5 กรัม อาจทำให้เด็กที่บริโภคเข้าไปเสียชีวิตได้ทันที ในขณะที่ผู้ใหญ่หากรับประทานในขนาด 15 กรัม ก็มีผลทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

    ส่วนผู้บริโภคที่ได้รับบอแรกซ์ครั้งละไม่มากแต่รับประทานบ่อยครั้ง ก็ย่อมเกิดการสะสมของสารบอแรกซ์ในร่างกายจนเกิดอาการพิษแบบเรื้อรัง ดังจะแสดงอาการ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ประจำเดือนผิดปกติ และมีแนวโน้มหัวล้านได้

    แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า อาหารที่เรากำลังเลือกซื้อรับประทานจะปราศจากสารบอแรกซ์จริงๆ วิธีการเริ่มต้น คือ การเลือกซื้ออาหารจากร้านอาหารที่ดูสะอาดหรือมีป้ายรับรองอาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นเครื่องการันตีเบื้องต้นว่า น่าจะมีความปลอดภัยมากกว่าการเลือกซื้อจากร้านอาหารที่ไม่มีเครื่องหมายใดๆบ่งบอกเลย หรือหากจะให้ดีก็พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ต้องผ่านการทอดกรอบๆไปเลย จะได้มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าร่างกายจะไม่ได้รับสารอันตรายนี้อย่างแน่นอน วิธีที่สองคือการสังเกตที่ตัวผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่ผิดปกติไปจากธรรมชาติ เช่น เนื้อหมูที่แข็ง กดแล้วเด้ง หรือมีผิวเป็นเงาเคลือบ ส่วนวิธีสุดท้ายก็คือ การกำจัดสารปนเปื้อนที่ติดมากับอาหารให้ได้มากที่สุด โดยการพยายามล้างเนื้อหมูสดที่ซื้อมาหลายๆครั้ง เพราะการเตรียมวัตถุดิบเช่นนี้สามารถขจัดสารบอแรกซ์ออกไปได้ แถมยังช่วยลดความสกปรกที่ติดอยู่บนเนื้อหมูลงไปได้ด้วย แต่หากต้องการพิสูจน์ให้แน่ใจก็อาจจะต้องลองซื้อผลิตภัณฑ์นั้นมาทำการทดสอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ด้วยขั้นตอนง่ายๆ ดังต่อไปนี้

    เริ่มต้นจากการสับอาหารต้องสงสัยให้ละเอียด นำไปละลายในน้ำเล็กน้อย แล้วรินเอาแต่น้ำมาทำการทดสอบกับกระดาษขมิ้น หากในอาหารมีสารบอแรกซ์ผสมอยู่ สีของกระดาษขมิ้นจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีชมพู แดง หรือสีน้ำตาลทันที แต่ถ้ากระดาษไม่เกิดการเปลี่ยนสีตามที่กล่าวไว้ ก็วางใจได้ว่าอาหารร้านนี้ปราศจากสารบอแรกซ์อย่างแน่นอน

    สารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารอย่างสารบอแรกซ์นี้ นับเป็นอันตรายร้ายแรงที่ไม่ควรมีใครสมควรได้รับ การสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในอาหารที่ดี จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานอาหารได้อย่างปลอดภัย และห่างไกลจากโรคร้ายมากที่สุด

 

ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อหมูที่ผิดปกติจากธรรมชาติ เช่น เนื้อหมูที่แข็ง กดแล้วเด้ง หรือมีผิวเป็นเงาเคลือบ

User Review
0 (0 votes)

Enjoy this blog? Please spread the word :)

Exit mobile version