ผู้คนมากมายให้ความใส่ใจกับการดื่มเครื่องดื่มที่เรียกว่า “ชา” กันมานานหลายยุคหลายสมัยแล้ว ซึ่งแม้ว่าคนสมัยก่อนจะยังไม่ทราบว่าชามีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร แต่พวกเขาก็ยังคงดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้สืบต่อกันมาแบบรุ่นสู่รุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน

ในปัจจุบันเครื่องชนิดนี้ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ว่ารูปแบบในการรับประทานจะถูกพัฒนาให้ดื่มง่ายและสะดวกซื้อขึ้นกว่าเดิม แต่คุณสมบัติพิเศษในใบชาก็ยังอยู่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกายหากเราเลือกรูปแบบการดื่มชาที่ถูกวิธี
หากจะพูดถึงชาที่เต็มไปด้วยคุณภาพ ก็คงต้องพูดถึงชาดำที่เป็นหนึ่งในชนิดของชาที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ชาดำเป็นใบชาที่ได้มาจากต้นชา ‘Camellia sinensis’ และผ่านการหมักมาอย่างสมบูรณ์ด้วยแบคทีเรีย ซึ่งการที่เรานำเอาใบชามาหมักด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ จะทำให้สามารถหมักชาได้อย่างเต็มที่ และยิ่งบ่มชาได้นานเท่าไร รสชาติของชาก็ยิ่งอร่อยมากขึ้นเท่านั้น
กรรมวิธีในการผลิตชาดำจะเริ่มต้นจากการนำใบชามาทำแห้ง โดยการรีดน้ำที่หล่อเลี้ยงบนใบชาออกไป จนใบชามีลักษณะเหี่ยวและอ่อนลีบลง เมื่อผ่านกระบวนการดังกล่าวไป 16 ชั่วโมง จะนำเอาใบชาที่แห้งแล้วมากลิ้งด้วยลูกกลิ้ง บด และฉีกให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจึงนำไปหมักด้วยแบคทีเรียที่จำเพาะต่อการทำชา หลังจากกระบวนการหมักเสร็จสิ้นลง เราก็จะได้ใบชาที่แห้งสนิท ที่เราเรียกกันว่า ‘ชาดำ’ นั่นเอง
ขึ้นชื่อว่าชาดำ ก็ย่อมเป็นชาที่มีสีเข้มจนเกือบดำ ซึ่งที่มาของสีก็เกิดมาจากกระบวนการหมักที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนั่นเอง นอกจากเรื่องของสีแล้ว ชาดำยังเป็นชาที่มีรสชาติละมุนกลมกล่อม ชุ่มคอ และบางทีก็อาจจะมีรสชาติพิเศษที่แตกต่างไปจากปกติ ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพใบชา กระบวนการหมัก และสถานที่ที่เพาะปลูก
ชาดำมักจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามแหล่งเพาะปลูก ซึ่งการเพาะปลูกในสถานที่ที่แตกต่างกันก็ล้วนส่งผลต่อรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละพื้นที่ด้วย ยกตัวอย่างชนิดของชาดำเช่น ชา Darjeeling จากแคว้น West Bengal ประเทศอินเดีย, ชา Ceylon จากประเทศศรีลังกา หรือ ชา Tanyang Gongfu จาก Fujian ประเทศจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการนำเอาชาดำมาผสมกับน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มอื่นๆ เพื่อให้มีรสชาติที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์ หรือดื่มง่ายมากขึ้น เช่น การนำชาดำไปผสมกับน้ำมันส้มเบอร์กาม็อตจนเป็นชา Earl Grey หรือ การนำชาดำไปผสมกับเครื่องเทศ นม และน้ำตาลจนเป็นชา Chai เป็นต้น
นอกจากความอร่อยแล้ว ชาดำยังเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ไปเบา ดังต่อไปนี้
“งานวิจัยจาก University College London ได้ทำการวิจัยกับชาย 75 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ให้ดื่มชาดำ และกลุ่มที่ให้ดื่มชาปลอมซึ่งมีรสชาติและสีคล้ายชาดำ ในทุกวันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ เมื่อครบเวลา ได้ทดลองจัดสถานการณ์ที่มีความเครียดสูง เช่น การขู่ให้โดนไล่ออกจากงาน การกล่าวหาว่าเป็นขโมย เป็นต้น ซึ่งผลการทดลองหลังผ่านเหตุการณ์ตึงเครียดนี้ไป 50 นาที พบว่า ชายกลุ่มที่ดื่มชาดำมีระดับของฮอร์โมนความเครียด cortisol ลดลงถึง 47% ในขณะที่ชายกลุ่มที่ดื่มชาปลอมมีระดับของความเครียดลดลงเพียง 27% เท่านั้น” ผู้เชี่ยวชาญ Andrew Steptoe ได้ทำการวิเคราะห์ผลการทดลองงานวิจัยดังกล่าวได้ความว่า ชาดำไม่ได้ช่วยลดความเครียดโดยตรง แต่ชาดำสามารถช่วยลดฮอร์โมนความเครียดให้กลับคืนสู่ระดับปรกติได้เร็วกว่าปกติ ซึ่งประโยชน์จากข้อเท็จจริงนี้นำไปสู่ข้อดีในการป้องกันโรคหัวใจอันสืบเนื่องมาจากระดับความเครียดที่สูงต่อเนื่องได้นั่นเอง
ประโยชน์ด้านการลดคอเลสเตอรอลเกิดมาจากสารสำคัญที่ชื่อว่า theaflavins สารตัวนี้ ได้รับการศึกษาวิจัยแล้วว่า มีผลต่อการควบคุมระดับไขมันในร่างกายได้จริง โดยงานวิจัยได้ทำการทดลองในกลุ่มชายหญิงทั่วไป โดยให้พวกเขาดื่มชาดำวันละ 5 แก้ว หลังจากดื่มชาดำได้เพียงแค่ 3 สัปดาห์ พบว่าระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) ในเลือดลดลงได้ถึง 6-10%
ไม่เพียงแค่ช่วยลดไขมันเท่านั้น แต่การดื่มชาดำยังช่วยลดระดับในเลือดได้อีกด้วย จากการวิจัยของ Dundee University และ The Scottish Crop Research Institute ได้รายงานว่าสาร theaflavins และ thearubigins ในชาดำ จะทำหน้าที่เลียนแบบอินซูลินตามธรรมชาติ ซึ่งมีประโยชน์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 หากได้ดื่มชาดำเป็นประจำจะช่วยควบคุมไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงได้
นอกจากนี้ สารโพลีฟีนอล-บีในชาดำ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งได้ ดังนั้น การดื่มชาดำเป็นประจำจะทำให้สารโพลีฟีนอลไปดักจับสารอนุมูลอิสระที่เป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็งได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งข้อแนะนำในการรับประทานชาดำให้ได้ประโยชน์ก็คือ ควรรับประทานชาดำแบบไม่ผสมนม เพราะแม้ว่าการผสมนมลงไปในเครื่องดื่มชา จะช่วยให้ชานมเข้มข้นและเอร็ดอร่อยถูกปากมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในเรื่องประโยชน์ที่ร่างกายจะได้รับแล้ว กลับพบว่านมเป็นตัวการให้ชาเสื่อมคุณประโยชน์ลง ที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากโปรตีนเคซีนในน้ำนม จะออกฤทธิ์สกัดกั้นสารสำคัญอย่าง catechins และส่งผลให้กระบวนการขยายและผ่อนคลายเส้นเลือดไม่ดีดังเดิม การดื่มชาใส่นมจึงไม่ได้เป็นผลดีต่อระบบความดันโลหิตเหมือนกับการดื่มชาดำเพียงอย่างเดียว
ด้วยคุณประโยชน์อันแสนโดดเด่นตามที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ จึงทำให้ ‘ชา’ ยังคงเป็นเครื่องดื่มขวัญใจมหาชนไปอีกนานแสนนาน