บทความน่ารู้, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้

บำรุงแก้วเสียงให้ใสแจ๋ว

    มนุษย์สื่อสารโดยการใช้เสียงเป็นหลัก การมีเสียงที่ฟังไพเราะเพราะพริ้งจึงช่วยให้คุณเป็นต่อด้านการเจรจาค้าขาย หรือการพูดโฆษณาชวนเชื่อได้มากกว่าคนที่มีน้ำเสียงแหบพร่าไม่น่าฟัง แต่เนื่องจากเรามีการใช้งานเส้นเสียงทุกวัน หรือบางครั้งก็เกิดอาการเจ็บป่วยจากการเป็นหวัด รวมไปถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารตามใจปาก ทำให้บ่อยครั้งอาจเกิดอาการเสียงหายหรือเสียงแหบแบบไม่ตั้งใจได้

    กระบวนการเกิดเสียงเกิดจากการทำงานร่วมกันของอวัยวะหลายๆส่วน โดยกล้ามเนื้อท้องและซี่โครงจะบีบตัวไปที่ปอด ทำให้คนเราปล่อยลมหายใจออกมา เมื่อลมหายใจนั้นเดินทางผ่านไปยังเส้นเสียง ที่มีลักษณะเป็นชิ้นเนื้อเยื่อ 2 ชุด แผ่กางกั้นอยู่ในทางเดินหายใจ เส้นเสียงก็จะทำหน้าที่ปิดและเปิดเมื่อมีลมผ่าน และเกิดการสั่นขึ้น ในขณะเดียวกันกล่องเสียงก็จะทำหน้าที่ให้เกิดเสียง ส่วนอวัยวะส่วนลำคอและช่องว่างตรงกะโหลกจะมีหน้าที่ปรับความดังของเสียงให้มากหรือน้อยตามต้องการ และเมื่อเสียงเดินทางผ่านอวัยวะในปากอย่างลิ้น ฟัน และริมฝีปาก ก็จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นถ้อยคำที่มีสำเนียงแตกต่างกันออกไปนั่นเอง

บำรุงแก้วเสียงให้ใสแจ๋ว
ภาพจาก : http://www.amazepr.com/news/2012/july/dont-shout-blog-post/ บำรุงแก้วเสียงให้ใสแจ๋ว


เสียง เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องการการดูแลไม่แพ้กับอวัยวะส่วนไหนๆ การเปล่งเสียงออกมาในแต่ละครั้ง จะต้องอาศัยอวัยวะที่สำคัญอย่างสายเสียง ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรับรู้ถึงวิธีการดูแลที่ถูกต้องสักเท่าไรนัก ทำได้แต่เพียงใช้มันไปเรื่อยๆจนหากวันใดวันหนึ่งที่สายเสียงไม่สามารถทนการใช้งานหนักๆไหว มันก็จะเริ่มแสดงอาการเสียงแหบ เสียงหาย เสียงแตกพร่า มีลมแทรกระหว่างพูด ขึ้นเสียงสูงไม่ได้ พูดไม่มีเสียง หรืออาจจะต้องเค้นคอให้มีเสียงออกมา ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นสายเสียงก็คงโดนทำลายไปมากแล้ว ดังนั้นหากเราต้องการดูแลสายเสียงให้คงคุณภาพดีไว้ได้อย่างยาวนาน ก็ต้องหมั่นใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของสายเสียง ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    สิ่งแรกที่จะช่วยให้สายเสียงมีอายุการใช้งานที่ยาวนานจะต้องใช้เสียงให้ถูกต้องเสียงก่อน การพูดที่ไม่เป็นการทำร้ายสายเสียงจะต้องพูดด้วยเสียงดังพอเหมาะ เลี่ยงการตะโกนหรือกรีดร้อง รวมถึงการพูดด้วยโทนเสียงที่ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป หากจำเป็นต้องพูดหรือร้องเพลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ควรมีเวลาสำหรับหยุดพักเสียงด้วย เพื่อไม่ให้สายเสียงอ่อนล้าเสียจนเกินไป นอกจากนี้ หากเป็นช่วงเวลาที่คุณป่วยหรือมีการติดเชื้อเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ควรที่จะหลีกเหลี่ยงการพูดนานๆไปก่อน เพื่อช่วยถนอมและพักฟื้นสายเสียงให้แข็งแรงก่อนกลับมาใช้งานอีกครั้ง

        นอกจากการพูดให้ถูกวิธีแล้ว เรื่องของการหายใจก็มีผลต่อการถนอมคุณภาพของสายเสียงได้เช่นกัน การฝึกนิสัยการหายใจที่ถูกต้องขณะพูดโดยการใช้ส่วนของกล้ามเนื้อท้องเป็นหลัก จะช่วยให้สามารถหายใจและพูดไปในทิศทางที่สอดคล้อง และเป็นผลดีต่ออวัยวะที่กำเนิดเสียงได้มากขึ้น

        ไม่เพียงแค่การพูดหรือการหายใจอย่างถูกวิธีเท่านั้น แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตด้านอื่นๆก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีปัญหาเกี่ยวกับสายเสียงได้เช่นกัน โดยพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงด้านการรับประทานอาหาร เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป รวมถึงไม่ควรรับประทานอาหารรสจัด ทั้งเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด หรือขมจัด ที่มีส่วนต่อการบั่นทอนคุณภาพของสายเสียงด้วย ส่วนการดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆให้ได้วันละ 8 -10 แก้ว ถือเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะ น้ำอุ่นจะช่วยให้คอชุ่มชื้น และช่วยละลายเสมหะที่ติดค้างอยู่ในลำคอได้ดี

    ส่วนพฤติกรรมด้านอื่นๆที่ควรหลีกเลี่ยงหากยังต้องการมีน้ำเสียงที่สดใสตลอดไป เช่น การพยายามไม่อยู่ใกล้กับคนที่กำลังสูบบุหรี่หรือเป็นคนสูบบุหรี่เสียเอง การหลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นควัน ไอสารเคมี หรืออากาศที่ไม่บริสุทธิ์ รวมไปถึงการไม่อยู่ในที่ที่มีอากาศแห้งหรือเย็นจนเกินไป เพราะสภาวะต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ล้วนเป็นตัวเร่งให้เกิดความระคายเคืองต่อกล่องเสียงและสายเสียงให้เพิ่มมากขึ้นได้

บำรุงแก้วเสียงให้ใสแจ๋ว
ภาพจาก : http://healthforweb.com/3-easy-home-remedies-to-combat-sore-throat/ บำรุงแก้วเสียงให้ใสแจ๋ว


         เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ความเสื่อมถอยของอวัยวะต่างๆก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เส้นเสียงและกล้ามเนื้อในกล่องเสียงก็เป็นอีกส่วนอวัยวะที่สามารถเสื่อมลงได้เช่นกัน หากเราไม่เคยคิดจะดูแลและใช้งานมันอย่างหนักมาตลอดชีวิต การที่เราหมั่นดูแลใส่ใจในตัวเองและสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับการออกเสียงอยู่เสมอ จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่ความร้ายกาจที่เราเคยมองข้ามไปจะขยายและลามไปเป็นโรคภัยอื่นๆที่ไม่สามารถแก้ไขได้ทัน หรืออาจจะต้องเสียเงินเสียทองจำนวนมากเพื่อฟื้นตัวให้สามารถกลับมาใช้งานได้ดีดังเดิมอีกครั้ง

    ดังนั้น นอกจากจะต้องดูแลตนเองตามให้ได้ตามที่แนะนำตามวิธีข้างต้นนี้แล้ว ก็ยังจะต้องหมั่นตรวจตราความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการออกเสียงหรือระบบทางเดินหายใจอยู่เสมอ หากเมื่อใดที่รับความว่าเกิดความผิดปกติขึ้น ก็ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาหรือการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเปล่งเสียงได้ไพเราะอย่างยาวนานมากขึ้นแล้วละคะ

 

 

 

 


Sending
User Review
0 (0 votes)