บทความน่ารู้

อาหารเสริม…เท่าไรถึงพอดี

สุขภาพที่ดีเริ่มต้นได้จากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่ในบางครั้งบางเวลาการจะรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่นั้นก็เป็นไปได้ยากเหลือเกิน บางคนแค่รับประทานให้ครบ 3 มื้อยังแทบจะไม่มีเวลาเลย ดังนั้นหลายต่อหลายคนจึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาหารเสริมเพื่อทดแทนสารอาหารที่ขาดหายไป แต่ก็อาจจะมีคำถามว่าแล้วปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันควรจะมากน้อยเพียงใด เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดแคลนสารอาหารนั้นๆ และข้อควรระวังของการบริโภคสารอาหารแต่ละชนิดมีอะไรบ้าง อย่ารอช้ามาหาคำตอบกันได้เลยคะ

ภาพจาก : http://www.tinyzone.tv/HealthDetail.aspx?ctpostid=2520

           สารเสริมอาหารตัวแรกที่จะขอกล่าวถึงในที่นี้คือ วิตามินเอ (Vitamin A) วิตามินที่ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการมองเห็น การทำงานของระบบสืบพันธุ์ และช่วยป้องกันความเสื่อมของผิวหนัง ปริมาณการบริโภควิตามินเอที่เหมาะสมในแต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 4,000 IU แต่หากรับประทานเกินกว่าปริมาณดังกล่าวที่กำหนดไว้อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เนื่องจากวิตามินชนิดนี้ไม่สามารถละลายในน้ำได้ จึงไม่สามารถขับออกจากร่างกายได้โดยทางปัสสาวะ อาการผิดปกติที่พบ เช่น อาการปวดกระดูก ปวดข้อ ผมร่วง ริมฝีปากแตก ผิวหนังแห้งคันเป็นขุย เบื่ออาหาร เส้นเลือดเปราะ หรือเกิดภาวะโลหิตจาง เป็นต้น อีกทั้งวิตามินชนิดนี้ไม่ได้เหมาะกับบุคคลทุกเพศทุกวัย สำหรับหญิงมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานวิตามินเอเสริม เพราะวิตามินชนิดนี้อาจมีผลร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ ทำให้เกิดภาวะแท้งหรือทารกพิการได้ ในด้านของการดูดซึม ประสิทธิภาพในการดูดซึมของวิตามินเอที่ได้จากแหล่งวัตถุดิบที่แตกต่างกันย่อมส่งผลต่อร่างกายที่แตกต่างกัน โดยหากเป็นวิตามินเอที่ได้จากสัตว์ ร่างกายจะใช้เวลาดูดซึมหลังการรับประทานประมาณ 3 – 5 ชั่วโมง ขณะที่วิตามินเอที่ได้จากวัตถุดิบที่เป็นพืชผัก ร่างกายต้องใช้เวลาในการดูดซึมยาวนานกว่าถึง 6 – 7 ชั่วโมง ส่วนปัจจัยที่จะคอยขัดขวางการดูดซึมวิตามินชนิดนี้เกิดได้หลายประการ เช่น การออกกำลังกายอย่างหนักหลังจากบริโภควิตามินเอภายใน 4 ชั่วโมง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากเกินไป การรับประทานยาแอสไพริน ยาสเตียรอยด์ ยานอนหลับ ยาระงับประสาท ยาระงับการชัก หรือยารักษาโรคไทรอยด์ เป็นต้น
            วิตามินตัวถัดมาที่คนทั่วไปนิยมรับประทาน คือ วิตามินซี (Vitamin C) ที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ป้องกันโรคหวัด ต้านทานเชื้อโรค ช่วยผลิตและรักษาระดับคอลลาเจนในผิวหนัง วิตามินชนิดนี้มีปริมาณแนะนำที่ควรบริโภคอยู่ที่วันละ 1,000 มิลลิกรัม แต่วิตามินชนิดนี้สามารถรับประทานเกินกว่านี้ได้เนื่องจากปริมาณที่มากเกินไปจะละลายน้ำออกมาทางปัสสาวะ อย่างไรก็ตามการรับประทานวิตามินเอเสริมเกินกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากจะไม่ทำให้เกิดผลดีต่อร่างกายที่มากขึ้นแล้ว ยังจะส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วงได้ด้วย สำหรับข้อควรระวังเพิ่มเติมก็คือไม่ควรรับประทานวิตามินซีร่วมกับยาที่ออกฤทธิ์ป้องกันเลือดแข็งตัว เพราะจะส่งผลในทางตรงกันข้ามหรือทำให้เลือดออกมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

           วิตามินอีกตัวหนึ่งที่นิยมรับประทานเป็นอาหารเสริมกันอย่างแพร่หลายก็คือ วิตามินอี (Vitamin E) วิตามินชนิดนี้จะทำหน้าที่ในการจับสารที่เข้ามาทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกายช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น ซ่อมแซมผิวหนัง เป็นสารต้านไม่ให้หลอดเลือดแข็งตัว และลดการอุดตันของคอเลสเตอรอล ซึ่งปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันอยู่ที่ 400 IU การรับประทานในปริมาณที่มากกว่านี้จะทำให้รู้สึกปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนล้า ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย มีอาการอึดอัดในช่องท้อง ท้องร่วง และอาจขัดขวางการดูดซึมของวิตามินเอซึ่งส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้าลงได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รับประทานยาควบคุมความดันโลหิตหรือแอสไพริน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานวิตามินอีเป็นอาหารเสริม
           สารเสริมอาหารอย่างแคลเซียม (Calcium) ก็เป็นสารที่สำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากเป็นแร่ธาตุที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงแล้ว รักษาระดับความดันเลือดและการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจให้เป็นปกติ พร้อมทั้งรักษาความเป็นกรดและด่างในเลือดให้เกิดความสมดุล ปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันอยู่ที่ 1,500 มิลลิกรัม โดยร่างกายอาจดูดซึมสารแคลเซียมได้น้อยลงในกรณีที่ผู้บริโภคมีความเครียดสูง สูบบุหรี่จัด ดื่มกาแฟเกินวันละ 6 แก้ว หรือติดการบริโภคน้ำอัดลม อย่างไรก็ดี การรับประทานแคลเซียมเกินความต้องการของร่างกายอาจส่งผลเสียทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ความดันเลือดสูง ปัสสาวะน้อย ท้องผูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเกิดนิ่วที่ไตได้

           สารอาหารตัวสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึง คือ กรดโฟลิก (Folic acid) สารตัวนี้จะช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง ควบคุมการทำงานของสมองและอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติ ช่วยให้เจริญอาหาร และทำให้ระบบเผาผลาญทำงานเป็นปกติ สำหรับคนปกติควรบริโภคอยู่ที่ 180 – 200 ไมโครกรัมต่อวัน แต่สำหรับในหญิงตั้งครรภ์จะมีความต้องการกรดโฟลิกมากกว่าอยู่ที่ 400 ไมโครกรัมต่อวัน ในด้านการบริโภคที่มากเกินไปพบว่า การรับประทานกรดโฟลิกเกินมาตรฐานเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 12 และทำให้เกิดภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

         ใครที่กำลังคิดจะเลือกซื้ออาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย ก็ควรที่จะทราบข้อมูลด้านปริมาณการบริโภคที่เหมาะสมต่อร่างกายของตน เพราะนอกจากจะช่วยให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งผลต่อเงินในกระเป๋าสตางค์ของคุณอีกด้วย การบริโภคในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกายไม่ได้เป็นผลดีอะไร ทั้งยังจะส่งผลเสียต่อการดูดซึมสารอาหารชนิดอื่นๆในร่างกายได้อีกด้วย

 

User Review
0 (0 votes)

Enjoy this blog? Please spread the word :)

Exit mobile version