การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้, เกี่ยวกับโรค

เชี่ยนหมากคุณยาย

    หากย้อนกลับไปในอดีตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายๆคนคงจะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมการเคี้ยวหมากเคี้ยวพลูกันเป็นอย่างดี ถึงขนาดที่บางคนอาจจะเคยทำหมากให้คุณตาคุณยายรับประทานกันมาแล้ว แต่หากเปรียบเทียบกับสมัยนี้ คงมีพฤติกรรมดังกล่าวให้เห็นน้อยลงไปตามกาลเวลา ซึ่งอาจจะพอมีคุณตาคุณยายบางคนที่ยังคงมีวิถีชีวิตการเคี้ยวหมากอยู่บ้าง แต่ก็เหลือน้อยลงเต็มที ทำไมวัฒนธรรมเหล่านี้จึงหายไป แล้วการเคี้ยวหมากเช่นนี้มีผลกระทบอะไรต่อสุขภาพของบุคคลพวกนี้บ้างหรือป่าว เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆกันได้เลยค่ะ


    “เชี่ยนหมาก” เป็นอุปกรณ์สำคัญที่คุณตาคุณยายมักจะเก็บไว้ข้างกายเสมอ เมื่อไรที่ท่านอยากจะเคี้ยวหมากก็จะหยิบอุปกรณ์ชิ้นนี้ขึ้นมาได้ตลอดเวลา ภาพคุณตาคุณยายกำลังเคี้ยวหมากจนปากแดง จึงเป็นหนึ่งในภาพจำที่หลายๆคนหวนคิดถึงทุกครั้งที่มองย้อนกลับไป แต่คุณตาคุณยายคงจะยังไม่รู้หรอกว่า การเคี้ยวหมากพลูนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออวัยวะภายในปากมากสักแค่ไหน

 

เชี่ยนหมากคุณยาย
ภาพจาก : www.thailandoffroad.com เชี่ยนหมากคุณยาย


    มีงานวิจัยชี้ชัดออกมาแล้วว่า “การเคี้ยวหมากของผู้สูงอายุทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากมากถึง 15 เท่า เมื่อเทียบกับบุคคลที่ไม่ได้มีการเคี้ยวหมาก” ซึ่งอันตรายดังกล่าวนี้ไม่แตกต่างอะไรกับการสูบบุหรี่หรือการดื่มสุราเลย

มะเร็งช่องปาก” ที่มีโอกาสเกิดขึ้นนี้จะไม่ใช่มะเร็งที่คนส่วนใหญ่เป็นกัน เพราะคนทั่วๆไปที่เกิดมะเร็งในช่องปากจะเป็นกลุ่มอาการของ ‘มะเร็งต่อมน้ำเหลือง‘ ที่ไปเกิดขึ้นบริเวณช่องปาก แต่มะเร็งที่เกิดจากการเคี้ยวหมากนี้เป็น ‘มะเร็งของเยื่อบุในช่องปาก‘ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นชนิด squamous cell carcinoma ซึ่งเป็นกลุ่มของมะเร็งที่มีกลไกในการเกิดโรคมาจากการได้รับสารก่อมะเร็งเป็นเวลานานๆนั่นเอง จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งชนิดนี้จะเป็นกลุ่มคนในช่วงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป

    เมื่อพิจารณาถึงต้นตอของการเกิดมะเร็งแล้ว ก็จะพบว่าในหมากมีสารก่อมะเร็งอยู่ในปริมาณสูง และหากมีการเคี้ยวหมากร่วมกับการใช้ยาเส้นเป็นเวลานานแล้วด้วยนั้น จะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นมะเร็งในช่องปากมากขึ้นไปใหญ่ ประกอบกับการดูแลความสะอาดในช่องปากที่ผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่ค่อยจะใส่ใจเท่าไร หรือการใส่ฟันปลอมที่มีขนาดไม่พอดีกับช่องปาก ก็จะยิ่งทำให้เกิดเป็นแผลอักเสบเรื้อรัง และย่นระยะเวลาให้พวกเขาเกิดโรคมะเร็งในช่องปากได้อย่างไม่ยากเย็นเลย

    สำหรับอาการโดยทั่วไปของโรคมะเร็งนี้ จะเริ่มต้นจากการมีบาดแผลในช่องปากที่รักษาไม่หายขาดเป็นเวลายาวนานกว่า 3 สัปดาห์ โดยหากพิจารณาถึงลักษณะของบาดแผล จะสังเกตเห็นเป็นรอยฝ้าขาวหรือฝ้าแดง แผลเป็นตุ่มหรือเป็นก้อนที่รักษาไม่หายเสียที จากนั้นตุ่มและก้อนเหล่านี้ก็จะขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆจนเกิดมีเลือดปนอยู่ในน้ำลาย ส่งผลให้การเคี้ยวหรือกลืนอาหารเป็นไปได้อย่างลำบาก ผู้ป่วยจึงมักจะไม่เจริญอาหารเท่าที่ควร และมีผลทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้เป็นปกติเหมือนเดิม หรือในบางกรณีที่มีความรุนแรงมากกว่านั้น ก็จะเกิดมีก้อนแปลกปลอมปรากฎขึ้นที่บริเวณลำคออีกด้วย

    หากท่านใดที่อยู่ใกล้กับผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมเสี่ยงจากการเคี้ยวหมาก ก็ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติภายในช่องปากของพวกท่านเหล่านี้บ้าง จะได้ทราบว่าคนที่คุณรักอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งแล้วหรือยัง วิธีการตรวจหามะเร็งในช่องปากด้วยตนเองทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ลองอ้าปากเพื่อตรวจดูแผลบริเวณข้างลิ้น กระพุ้งแก้ม พื้นปาก เหงือก หรือริมฝีปาก หากพบว่ามีแผลที่รักษาไม่หายนานเกิน 3 สัปดาห์ ควรจะต้องรีบพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที

เชี่ยนหมากคุณยาย
ภาพจาก : http://atcloud.com/stories/71710 เชี่ยนหมากคุณยาย


    หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ผู้ป่วยดูเหมือนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นโรคมะเร็งในช่องปาก ก็จะมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปพิสูจน์หลักฐานทางพยาธิวิทยา ก่อนจะทำการประเมินระดับอาการของโรค เพื่อโดยหาแนวทางในการรักษาต่อไป ซึ่งแนวทางการรักษาหลักๆ ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด โดยผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกจะต้องใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัดหรือการฉายรังสีอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน แต่หากลุกลามมากขึ้นไปกว่าเดิม ก็อาจจะต้องใช้การรักษาโดยเคมีบำบัดในภายหลัง

    น่ากลัวไม่ใช่เล่นเลยใช่หรือไม่ละค่ะกับโรคมะเร็งในช่องปาก หากไม่อยากให้คนใกล้ตัวของคุณต้องทนทุกข์ทรมานกับความร้ายกาจของโรคนี้ ก็แนะนำให้คอยเตือนคุณตาคุณยายเสียหน่อยไม่ให้รับประทานหมากมากเสียจนเกินไป รวมไปถึงจะต้องพยายามรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดีอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมอย่างการสูบบุหรี่หรือการดื่มสุราด้วย นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเบต้าแคโรทีนที่พบได้ในผักผลไม้อย่างมะเขือเทศ แครอท หรือฟักทอง ก็สามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งในช่องปากได้ด้วย

    การพยายามปฎิบัติตัวให้เหมาะสม รวมถึงสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในช่องปากอยู่เสมอ จะช่วยให้สามารถรู้ทันโรคร้ายได้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่มันจะลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง และหมดหนทางใดๆที่จะยื้อให้มันกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง


Sending
User Review
0 (0 votes)
error

Enjoy this blog? Please spread the word :)