การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้, เกี่ยวกับโรค

บาดทะยัก …โรคร้ายที่ป้องกันได้

    โรคบาดทะยัก หรือ Tetanus ถือเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘Clostridium tetani’ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการกล้ามเนื้อทั่วทั้งตัวหดและแข็งเกร็ง เนื่องจากพิษของเชื้อโรคร้ายตัวนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีโอกาสของการเสียชีวิตสูงมาก และถึงแม้ว่าจะเคยเป็นโรคนี้มาครั้งหนึ่งแล้วและสามารถรักษาให้หายขาดได้ทันเวลา แต่ผู้ป่วยคนเดิมก็ยังสามารถเป็นโรคบาดทะยักซ้ำได้อีกหลายครั้ง แล้วแต่ว่าร่างกายของเราไปประสบพบเจอกับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้บ่อยมากแค่ไหน และช่วงเวลานั้นร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคเพียงพอหรือไม่

    เชื้อบาดทะยัก เป็นเชื้อแบคทีเรียขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็นรูปแท่ง ที่ปลายของมันมีสปอร์(Spore) ไว้จุดที่พักตัวของเชื้อแบคทีเรีย แม้ว่าพวกมันจะมีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อใดที่พวกมันพบเจอกับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เชื้อแบคทีเรียพวกนี้ก็จะเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ และแข็งแรงจนสามารถทำร้ายร่างกายของคนเราได้ เราทุกคนจึงไม่ควรที่จะใช้ชีวิตด้วยความประมาท เพราะมีวายร้ายตัวจิ๋วคอยจ้องเล่นงานเราอยู่ตลอดเวลา

    หลายคนอาจสงสัยว่า เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคบาดทะยักนั้นอาศัยอยู่ในไหนบ้าง? เราสามารถพบเจอพวกมันได้ตามอุปกรณ์หรือสังกะสีที่ขึ้นสนิมเท่านั้นหรือ? ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างที่คุณคิด เพราะเชื้อแบคทีเรียตัวนี้สามารถอาศัยอยู่ได้ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะอยู่ในดิน ในปุ๋ยคอก ในมูลสัตว์ ในฝุ่นละออง บนผิวหนังของสัตว์หรือมนุษย์ รวมไปถึงอุจจาระอันแสนสกปรก เชื้อบาดทะยักตัวนี้ก็ยังสามารถเจริญเติมโตได้ทั้งนั้น เรียกได้ว่าเป็นเชื้อโรคที่กินง่ายอยู่ง่ายเป็นที่สุด อย่างไรก็ตาม พวกมันยังคงมีจุดอ่อนตรงที่สามารถถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน แต่ก็ยังไม่วายทิ้งสปอร์ของเชื้อ ที่มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมหลายสภาวะ หากสปอร์เหล่านี้ได้อยู่ในที่ที่เหมาะสม ก็จะยังคงสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปีเลยทีเดียว การกำจัดสปอร์ของแบคทีเรียตัวนี้ จำเป็นต้องใช้ความร้อนสูงติดต่อกันยาวนานกว่า 20 นาที หรือใช้สารเคมีและยาฆ่าเชื้อต่างๆที่มีความรุนแรง จึงจะสามารถปราบมันได้อย่างอยู่หมัด

    มาดูกันต่อว่าเราจะสามารถติดเชื้อบาดทะยักได้อย่างไร? เชื้อบาดทะยักตัวนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ทางแรกที่สำคัญ ก็คือ ทางบาดแผลสด ที่เกิดจากการถูกของมีคมเฉือนผิวหนังลงไปจนเกิดเป็นบาดแผลลึก ไม่ว่าจะเป็นแผลจากตะปู เศษไม้ แผลสัตว์กัดต่อย แผลถลอก แผลฉีกขาด แผลไฟไหม้ แพลน้ำร้อนลวก หรือแผลผ่าตัด ก็สามารถติดเชื้อบาดทะยักได้ทั้งนั้น ในขณะที่แผลเรื้อรังที่เป็นมาอย่างยาวนาน อย่างแผลเบาหวาน และแผลเป็นฝี ก็มีโอกาสในการติดเชื้อบาดทะยักได้เช่นเดียวกัน

    บางคนอาจจะหลงดีใจว่า ถ้าไม่มีแผลก็คงไม่เกิดการติดเชื้อบาดทะยักใช่หรือไม่? คำตอบคือ “ไม่ใช่” เพราะเชื้อบาดทะยักสามารถเดินทางเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านทางการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ทางสายสะดือเด็กแรกเกิด หรือแม้แต่การเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบ ก็เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการติดเชื้อบาดทะยักได้ทั้งนั้น

    เมื่อเชื้อบาดทะยักเดินทางเข้าสู่ร่างกายเรียบร้อยแล้ว เชื้อจะไปรอคอยสภาวะที่เหมาะสมอยู่ที่เนื้อเยื่อ เมื่อเกิดสภาวะที่เหมาะสมหรือสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนแล้ว สปอร์ก็จะงอกและผลิตเป็นสารพิษออกมา 2 ชนิด ได้แก่ ‘ชนิดเตตาโนลัยซิน (Tetanolysin)’ และ ‘ชนิดเตตาโนสะปาสมิน (Tetanospasmin)’ ซึ่งตัวหลังจะเป็นสารพิษที่มีฤทธิ์ทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง ปริมาณสารพิษที่ร่างกายได้รับเพียง 2.5 นาโนกรัม ต่อน้ำหนักคน 1 กิโลกรัม ก็สามารถทำให้บุคคลผู้นั้นเกิดโรคบาดทะยักขึ้นได้แล้ว เมื่อเชื้อโรคเจริญเติบโตสมบูรณ์ ก็จะปล่อยสารพิษออกมากระจายเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลาย จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังไขสันหลัง ก่อนจะเข้าสู่สมองในที่สุด ซึ่งจะมีผลให้เซลล์ประสาททำงานหนักเกินไป ไม่สามารถควบคุมสมองได้ และทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการแข็งเกร็งและหดตัวมากเกินไป นำพาความเจ็บปวดแสนสาหัสมาสู่คุณ และอาจทำให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ หลอดลมหดเกร็ง หรือเกิดเป็นภาวะการหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ในที่สุด

ภาพจาก : http://www.seedmagazine.co.ke/why-catholic-bishops-in-kenya-raised-storm-over-suspicious-tetanus-vaccination/ โรคบาดทะยัก …โรคร้ายที่ป้องกันได้


    อย่างไรก็ตาม โรคบาดทะยักสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาให้เป็นวัคซีนที่รวมอยู่กับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ และไอกรน ซึ่งจะมีการฉีดให้แก่เด็กทารกที่มีอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และ 15 – 18 เดือน ก่อนจะมีการฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุได้ 4 – 6 ปี และ11 – 12 ปี จากนั้นจะต้องฉีดกระตุ้นอีกหลายครั้งในทุกๆ 10 ปี เพียงเท่านี้ ก็สามารถป้องกันการเกิดโรคบาดทะยักที่แสนร้ายกาจนี้ได้แล้ว

    จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าโรคบาดทะยักเป็นโรคที่ค่อนข้างรุนแรง และมีผลให้เกิดการเสียชีวิตได้เลยหากบุคคลผู้นั้นได้รับเชื้อเข้าไป ทางที่ดีที่สุดจึงเป็นการไม่หลงลืมที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคในทุกๆ 10 ปี เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคชนิดนี้อยู่ตลอดเวลา และแม้ว่าเราจะไปเกิดบาดแผลหรือติดเชื้อบาดทะยักเข้าก็ตาม ร่างกายก็จะสามารถป้องกันตนเองได้ และย่อมช่วยให้คุณปลอดภัยจากการเจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ตลอดไป

User Review
0 (0 votes)

Enjoy this blog? Please spread the word :)

Exit mobile version