บทความน่ารู้

อาหารคลีน มิติใหม่เพื่อสุขภาพ

         เชื่อว่าหลายต่อหลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า ?อาหารคลีน? กันมาไม่มากก็น้อย และอาหารประเภทนี้ก็กำลังอยู่ในกระแสที่หนุ่มสาวชาวรักสุขภาพนิยมรับประทานกัน จนบางคนอาจเกิดคำถามในใจว่า ?แล้วอาหารแบบไหนบ้างที่จะเรียกว่าอาหารคลีน? วันนี้เรามีคำตอบสำหรับคุณคะ

ภาพจาก : http://health.kapook.com/view93552.html

          คำว่า ?อาหารคลีน หรือ Clean Food? เป็นคำที่ อ.สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้คำนิยามว่า “เป็นการกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน ครบ 5 หมู่ และควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย” ซึ่งเมื่อบริโภคอาหารดังกล่าวควบคู่กับการออกกำลังกาย รวมไปถึงการหมั่นควบคุมอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียด ไม่หมกมุ่น เลี่ยงเหล้าและบุหรี่ตามหลัก 3 อ 2 ส (อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่)แล้วละก็ จะส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง ปลอดภัย และไร้โรคได้นั่นเอง
          อาหารคลีน อาจหมายถึงอาหารที่ไม่มีการปนเปื้อนทั้งจากเชื้อจุลินทรีย์ที่มีสาเหตุมาจากการประกอบอาหารที่ไม่สุก ไม่สะอาด หรือเป็นอาหารค้างคืน อีกทั้งต้องปลอดภัยจากการปนเปื้อนของพยาธิที่มาจากสุขอนามัยในการประกอบอาหาร และปลอดภัยจากสารเคมีที่ปนปื้อนมาจากยาฆ่าแมลงในผัก ผลไม้ รวมไปถึงสารเคมีจากสีผสมอาหาร เมื่อร่างกายได้รับอาหารคลีนเข้าไปแล้ว จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ที่ดีและไม่เป็นพิษต่อร่างกาย
          อีกนัยหนึ่ง การรับประทานอาหารคลีน อาจหมายถึง การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ครบ 5 หมู่ และได้สัดส่วนพอเหมาะต่อปริมาณความต้องการในแต่ละวัน นอกจากนี้จะต้องเป็นอาหารที่มีความหลากหลาย ไม่จำเจ และเลี่ยงอาหารรสจัด ทั้งหวานจัด เค็มจัด หรือมันจัด และปิดท้ายด้วยการรับประทานผักผลไม้ให้มากเพียงพอ

           คนส่วนใหญ่โดยทั่วไป มักจะหลงลืมการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ซึ่งความจริงเป็นพื้นฐานที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว แต่น้อยคนนักจะสามารถปฏิบัติตามได้ ซึ่งเหตุผลหลักมักมาจากความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงความไม่เอื้ออำนวยของการสถานที่หรือร้านอาหาร จึงส่งผลให้อาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อบกพร่องไป จนหลายๆคนเกิดอาการเคยชินและลืมไปว่า อาหาร 5 หมู่นี้เองที่เป็นหัวใจสำคัญหรือจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดี
            เทคนิคการรับประทานอาหารคลีนที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเอาไว้ มีดังต่อไปนี้ ประการแรกเริ่มต้นจากการรับประทานอาหารเช้าทุกวัน และควรรับประทานในช่วงภายหลังจากตื่นนอนภายใน 1 ชั่วโมง ประการต่อมาคือการแบ่งซอยมื้ออาหารเป็นมื้อย่อยๆ 4 หรือ 6 มื้อต่อวัน โดยอาหารที่รับประทานควรเลือกโปรตีนแบบไม่ติดมันและคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ร่างกายย่อยได้อย่างช้าๆ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ในด้านไขมันก็เป็นอีกหนึ่งหมู่อาหารที่ขาดไม่ได้ แต่ต้องเลือกบริโภคไขมันแบบที่เป็นไขมันชนิดดีต่อร่างกาย เช่น น้ำมันปลา, ปลาทู, น้ำมันมะกอก เป็นต้น ทั้งยังต้องหมั่นรับประทานใยอาหารหรือวิตามินจากผักสดและผลไม้ และที่สำคัญคือการควบคุมสัดส่วนของอาหารต่างๆอย่างเหมาะสม จำกัดปริมาณการรับประทานต่อครั้งให้พอเหมาะกับปริมาณความต้องการของร่างกาย สิ่งสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ก็คือ การดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอ วันละ 2-3 ลิตร เพื่อสร้างสมดุลน้ำและเกลือแร่ที่ดี

           ส่วนของที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือ แป้งหรือธัญพืชขัดขาว อาหารทอดหรืออาหารมัน น้ำหวานและน้ำตาลเทียม ซึ่งแม้ว่าน้ำตาลเทียมจะเป็นน้ำตาลที่ไม่ให้พลังงาน แต่ก็จะทำให้ผู้บริโภคติดรสหวานและมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อีกหนึ่งสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือแอลกอฮอล์จากไวน์, เหล้า, เบียร์, ยาดอง,กระแช่, สาโท หรือค็อกเทล ที่มีผลทำร้ายตับของเราได้ อาหารแปรรูปจำพวกแฮม, เบค่อน, กุนเชียง, หมูสวรรค์, หมูแผ่น ก็ควรจะรับประทานให้น้อยลง เนื่องจากมีส่วนประกอบของสาร ?ไนไตรต์? ที่มีโอกาสสะสมและเป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากนี้ เครื่องปรุงอาหารประเภทซุปก้อนก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องระมัดระวังเพราะมักมีส่วนผสมของผงชูรสในปริมาณมาก ส่วนสุดท้ายที่ควรบริโภคแต่น้อยก็คือ อาหารจำพวกกึ่งสำเร็จรูป อย่างอาหารไมโครเวฟ, บะหมี่สำเร็จรูป, อาหารกระป๋องบางชนิด หรือกลุ่มอาหารที่มักมีการเติมสารสังเคราะห์อย่างไอศกรีมปรุงแต่งรส, เนยเทียม, ลูกอมหลากสี เป็นต้น

            นอกเหนือจากอาหารก็คือการออกกำลังกาย ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การออกกำลังกายให้ได้ประสิทธิภาพ ควรจะเว้นวรรคการรับประทานอาหารมื้อหนักล่วงหน้าประมาณ 1?2 ชั่วโมง แต่ถ้ารับประทานอาหารมื้อหนักๆไปแล้ว ก็ควรทิ้งระยะห่างสัก 2-3 ชั่วโมง จึงออกกำลังกายเบา ๆ ตามไปได้ และ หากคุณเป็นคนที่รักการออกกำลังกาย แต่ก็รักการรับประทานอาหารไม่แพ้กัน อาจจะมีความเชื่อว่าสามารถกินอาหารอะไรก็ได้ เพราะสามารถเผาผลาญอาหารส่วนเกินได้ด้วยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังสักเล็กน้อย เพราะการรับประทานอาหารมื้อหนักภายหลังการออกกำลังกายอาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วนได้สูงมากเลยทีเดียว เนื่องจากการเผาผลาญของร่างกายจะลดลง ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เหมาะสมสำหรับการออกกำลังกายควรเป็นช่วงเวลาเช้าตรู่ เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายยังไม่ได้รับอาหาร ซึ่งจะส่งผลให้การใช้พลังงานในการออกกำลังกายถูกเผาผลาญได้ดียิ่งขึ้น

         อย่าปล่อยให้กระแสการรับประทานอาหารคลีนผ่านมาแล้วก็เลยผ่านไป แต่ควรทำให้ติดเป็นนิสัยและทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพอนามัยของร่างกายที่ดี และเป็นเสมือนเกราะป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บอันร้ายแรงใดๆในอนาคตได้

 

User Review
0 (0 votes)

Enjoy this blog? Please spread the word :)

Exit mobile version