บทความน่ารู้

โรคกระเพาะ..รักษาอย่างไรดี

อาการปวดท้องโรคกระเพาะนับเป็นความทรมานอย่างหนึ่งที่ไม่มีใครอยากพบเจอ ซึ่งโรคนี้มักพบมากในผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้เสพติดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ หรือผู้ที่มักมีความเครียดอยู่เป็นประจำ

           โรคกระเพาะอาหารนี้หมายรวมถึงการเกิดแผลทั้งบริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น อาการที่พบจะมีอาการปวดที่แตกต่างจากการปวดท้องแบบอื่นๆตรงที่ การปวดเนื่องจากโรคกระเพาะอาหารจะปวดบริเวณลิ้นปี่ โดยปวดแบบแสบร้อนยาวนานเรื้อรัง โดยทั่วไปมักจะมีอาการปวดสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร กล่าวคือ มักปวดเวลาหิวหรือท้องว่าง แต่เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป บางรายจะหายปวดแต่บางรายจะยังคงปวดอยู่ อาการปวดเช่นนี้จะเป็นๆหายๆ หากไม่รีบรักษาอย่างถูกวิธีจะยิ่งสร้างความทรมานอย่างยาวนานไม่รู้จบ นอกจากนี้ อาจมีอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือรู้สึกคลื่นไส้อาเจียนได้ และหากเกิดโรคแทรกซ้อน อาจส่งผลให้เกิดอาการอาเจียนเป็นเลือด ปวดท้องรุนแรง หรือช๊อคหมดสติได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้ป่วยบางรายกลับไม่มีอาการปวดท้องเลย แต่เมื่อตรวจดูในกระเพาะอาหารอาจจะพบแผลขนาดใหญ่อยู่ภายในก็เป็นได้

cause-of-stomach โรคกระเพาะ..รักษาอย่างไรดี

ภาพจาก : http://www.doo-d.net/2013/09/cause-of-stomach.html

           โรคกระเพาะถือเป็นโรคที่มีอันตรายมากๆโรคหนึ่ง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องมากๆหากขยับตัวหรือหายใจแรงจะยิ่งปวดมากขึ้น ให้พึงระวังเลยว่าอาการปวดนี้อาจอยู่ในขั้นหนักมากจนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการกระเพาะอาหารทะลุได้ หรือหากมีอุจจาระสีดำหรืออาเจียนออกมาเป็นเลือด ก็ไม่ควรนิ่งดูดาย รีบพาไปพบแพทย์โดยด่วนก่อนที่อาการจะรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้

           ทีนี้มาดูกันว่า พฤติกรรมอะไรบ้างที่จะทำให้คุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งโดยหลักการแล้ว การจะเกิดแผลภายในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นได้จะต้องเกิดจากการที่ร่างกายมีการผลิตกรดออกมามากเกินไปหรือเยื่อบุอวัยวะต่างๆภายในอ่อนแอลง ซึ่งปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมตามใจปาก เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การรับประทานอาหารรสจัด การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา หรือการรับประทานยาแก้ปวด ลดไข้โดยเฉพาะกลุ่มยา NSAID เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากอารมณ์ความเครียดหรือความวิตกกังวลที่มีผลกระตุ้นปลายประสาททำให้เกิดการหลั่งกรดมากผิดปกติ หรือบุคคลที่ชอบสูบบุหรี่ก็มีส่วนทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่ายกว่าคนปกติด้วยเช่นกัน และสุดท้ายคือปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ที่สามารถส่งต่อโรคชนิดนี้จากรุ่นสู่รุ่นได้

         การวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารสามารถทำได้โดยวิธีการ x-ray และ การส่องกล้อง endoscope ซึ่งหากเป็นวิธีแรกจะมีข้อดีคือทำได้ง่าย ไม่ต้องวางยานอนหลับ แต่ก็ไม่สามารถสังเกตความผิดปกติได้อย่างชัดเจนและไม่สามารถนำเนื้อเยื่อไปตรวจได้ ในขณะที่การส่องกล้องสามารถถ่ายรูป และนำเนื้อเยื่อไปตรวจต่อได้ แต่ก็อาจจะต้องใช้วิธีสอดท่อเข้าในกระเพาะอาหาร และอาจจะต้องใช้ยานอนหลับขณะตรวจวิเคราะห์

           หลังจากที่ทราบแล้วว่าอาการปวดท้องที่คุณกำลังเผชิญอยู่นั้นมีสาเหตุมาจากโรคกระเพาะ ก็จะต้องมีการรักษาอย่างถูกวิธี ดังต่อไปนี้

           ขั้นแรก คือการพยายามลดสาเหตุของการเกิดโรค โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นต้นเหตุหลักให้ได้เสียก่อน จากนั้นจะต้องมีการรับประทานยาเพื่อฟื้นฟูอวัยวะภายในที่บอบช้ำให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม ซึ่งการรับประทานยาที่ถูกต้องจะต้องปฎิบัติตนอย่างเคร่งครัด รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ครบตามจำนวนและตรงเวลา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาได้มากที่สุด การรับประทานยาส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-6 อาทิตย์ แผลจึงจะหาย และเมื่อทานยาไปสักพักจนรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วอย่าเพิ่งหยุดยาทันที ต้องกินยาต่อจนครบให้แผลหายอย่างแน่นอนก่อน จึงลดยาหรือหยุดยาได้ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากและมีอาการของโรคแทรกซ้อน การรับประทานยาอาจไม่สามารถรักษาโรคนี้ได้ จำเป็นจะต้องได้รับการผ่าตัดเท่านั้น

           อาหารเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ป่วยโรคกระเพาะจะต้องควบคุมให้เหมาะสม การรับประทานอาหารเพื่อช่วยลดกรดในกระเพาะจะต้องรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ รวมถึงการรับประทานอาหารระหว่างมื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่หิวหรืออิ่มมากจนเกินไป หลังจากรับประทานอาหารเสร็จไม่ควรนอนทันที ควรพักให้อาหารย่อยเสียก่อน นอกจากนี้ ประเภทอาหารที่บริโภคก็เป็นสิ่งสำคัญ การหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะเสี่ยงเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติ อีกทั้งควรรับประทานโปรตีนในทุกมื้อในปริมาณที่เหมาะสมด้วย

           หลายๆคนมักมีปัญหาว่าทำไมยังไม่สามารถรักษาอาการของโรคกระเพาะอาหารได้หายขาดเสียที อาการที่เกิดขึ้นมักเป็นๆหายๆ อยู่ร่ำไป ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดมาจากการที่ผู้ป่วยมักไม่ให้ความสำคัญกับการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เมื่อนานวันเข้าทำให้เชื้อโรคเกิดอาการดื้อยา จนทำให้อาการที่เป็นไม่หายขาดเสียที นอกจากนี้ ก็คือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ผู้ป่วยไม่สามารถเลิกได้ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานยาแก้ปวด เป็นต้น

           อาการของโรคกระเพาะเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ หากเราใส่ใจในการรับประทานอาหารและใส่ใจในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่หากทราบว่าตนกำลังเข้าข่ายอาการเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่นั้น ก็ควรรีบไปพบแพทย์เสียแต่เนิ่นๆเพราะจะทำให้การรักษาง่ายมากขึ้นและใช้เวลาน้อยลงได้

 

Sending
User Review
0 (0 votes)
error

Enjoy this blog? Please spread the word :)