การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, อาหารเพื่อสุขภาพ, เกี่ยวกับโรค

ปวดหัว…เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้

    อาการปวดหัวเป็นอาการที่พบได้บ่อย และมีสาเหตุการเกิดมากมายทั้งแบบที่ทราบสาเหตุและไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งความน่ากลัวของอาการปวดหัวก็มีความแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็จำเป็นต้องแยกให้ออกด้วยว่า อาการปวดหัวที่เราเป็นอยู่คืออะไรกันแน่ อย่าคิดว่าทุกครั้งที่ปวดหัวจะต้องเกิดมาจากสาเหตุเดิมๆซ้ำๆ เพราะบางทีคุณอาจจะได้รับอันตรายจากอาการปวดหัวเล็กๆน้อยๆที่คุณมองข้ามมันไปแล้วก็เป็นได้

    หากแบ่งอาการปวดหัวออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ อาการปวดศีรษะแบบที่หาสาเหตุไม่เจอ และอาการปวดศีรษะแบบมีสาเหตุ เราจะแยกความแตกต่างย่อยลงไปได้อีกดังนี้

 

ปวดศีรษะกลุ่มที่หาสาเหตุไม่เจอ แยกย่อยไปได้เป็น 3 ชนิด คือ

1. ปวดหัวแบบกล้ามเนื้อตึง

ผู้ป่วยมักจะปวดศีรษะในระดับน้อยถึงปานกลาง ไม่มีอาการคลื่นไส้ ไม่มีอาการของระบบประสาท และไม่เกี่ยวกับการออกแรงหรือเคลื่อนไหว อาการที่ว่านี้มักมีความสัมพันธ์กับความเครียด การพักผ่อนน้อย การใช้สายตามาก หรือเมื่อตำแหน่งศีรษะอยู่ผิดที่ เป็นต้น

วิธีการรักษา เพียงแค่พักผ่อนให้เพียงพอ ลดการใช้สายตาลง ออกกำลังกายลดความเครียด บีบนวดคลายปวดเมื่อยส่วน ในกรณีที่ปวดศีรษะแบบเรื้อรัง ก็ให้ทานยาพาราเซตามอลครั้งละ 500-1,000 ม.ก. หรือแอสไพรินครั้งละ 300 – 600 ม.ก. จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้

 

2. ปวดหัวแบบไมเกรน

ผู้ป่วยมักปวดศีรษะแบบตึ๊บๆ ครั้งหนึ่งกินเวลานาน 4 – 7 ช.ม. อาจมีอาการบางอย่างนำ เช่น เห็นแสงวูบวาบ ซึ่งเกิดจากการเสียการทำงานของระบบประสาทแบบชั่วคราว นอกจากนี้ มักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะข้างเดียว แพ้แสง นอนไม่หลับ และซึมเศร้าร่วมด้วย

วิธีการรักษา ต้องหมั่นจัดการความเครียด เช่น คลายกล้ามเนื้อ เล่นกีฬา หรือใช้การฝังเข็มเข้าช่วย ทั้งนี้ต้องหมั่นสังเกตว่าตัวเองมักเกิดอาการปวดศีรษะเพราะอะไร จดบันทึกไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้คุณหมอช่วยรักษาได้ถูกกรณี

 

3. ปวดหัวแบบคลัสเตอร์

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณหลังลูกตาหรือที่เบ้าตา นอกจากนี้จะมีอาการร่วมกับการมีน้ำมูกน้ำตาไหล เหงื่อออก ตาแดง หนังตาบวมหรือหนังตาตก โดยจะเป็นหนักเพียงซีกเดียว จนลุกลี้ลุกลนและอยู่ไม่สุข

ปวดหัว...เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้
ปวดหัว…เรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้ ภาพจาก : http://fitnessandhealthadvisor.com/five-ways-get-rid-exercise-headache/


ปวดศีรษะกลุ่มที่มีสาเหตุ แยกย่อยเป็น 2 ชนิด คือ

1. ปวดศีรษะที่มีสาเหตุมาจากนอกสมอง ได้แก่

– โรคต้อหิน ซึ่งเป็นโรคที่มีการเสื่อมสภาพในส่วนของลำประสาทตา ทำให้การมองเห็นเสื่อมลง หากความดันในลูกตาเพิ่มอาจทำให้เกิดอาการตาบอดได้

– สายตาผิดปกติ เช่น สายตาเอียง สายตาสั้น สายตายาว

– โพรงไซนัสอักเสบ

– หูชั้นกลางอักเสบ

– โรคภูมิคุ้มกันทำลายหลอดเลือดตนเอง ซึ่งจะมีอาการปวดหัวและปวดคอร่วมกับการอักเสบมีไข้ บางครั้งจะปวดรอบวงไหล่และวงตะโพกด้วย

– กลุ่มอาการปวดข้อกราม เนื่องจากความผิดปกติของการทำงานของข้อกรามที่หน้าหู ซึ่งอาจเกิดจากการกัดฟันขณะนอนหลับ

– กระดูกสันหลังระดับคอเสื่อมหรืออักเสบ

– โรคไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดแดงมากเกินไป

– โรคติดเชื้ออักเสบเป็นไข้ เมื่อเกิดการอักเสบของอวัยวะบางส่วนในร่างกาย ก็มีผลให้เกิดอาการปวดหัวได้ทั้งนั้น

– ปวดศีรษะเพราะติดคาเฟอีน หรือไม่ได้ดื่มกาแฟ

 

2. ปวดศีรษะที่มีสาเหตุมาจากในสมอง ได้แก่

– หลอดเลือดในสมองโป่งพอง หรือเกิดความผิดปกติ ซึ่งหากส่วนของหลอดเลือดโป่งพองจนใกล้จะแตก จะยิ่งทำให้มีอาการปวดศีรษะมากขึ้น และถ้าปล่อยทิ้งไว้จนเส้นเลือดในสมองแตกจริงๆ ก็จะมีผลให้กลายเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้เลย

– มีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดดำในสมอง

– มีเนื้องอกในสมอง

– มีการติดเชื้อในสมอง

– เกิดภาวะความดันน้ำไขสันหลังต่ำ ซึ่งมักเกิดจากการที่น้ำไขสันหลังรั่วออกไปทางใดทางหนึ่ง เช่น เกิดหลังจากอุบัติเหตุ การผ่าตัดครั้งใหญ่ หรือการเจาะหลัง จนทำให้มีอาการปวดศีรษเมื่อเปลี่ยนท่าทาง

 

    ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นนี้ล้วนเป็นอาการปวดศีรษะที่สามารถเกิดขึ้นกับร่างกายเราได้ทั้งสิ้น แต่สิ่งหนึ่งที่แพทย์แจ้งเตือนว่าเป็นอาการปวดที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรามากที่สุด ก็คือ “อาการปวดศีรษะที่มีอาการรุนแรง ปวดแบบสายฟ้าแลบ หรือมีอาการทันทีแบบไม่ได้มีสัญญาณอื่นมาก่อนภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที รวมถึงอาการที่ปวดจนปลุกผู้ป่วยให้ตื่นขึ้นจากการนอนหลับได้” หากใครกำลังมีอาการเช่นนี้อยู่ต้องรีบปรึกษาแพทย์หรืออยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด มิเช่นนั้น อาจรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

    ก่อนหน้านี้อาจดูเหมือนว่าอาการปวดศีรษะจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หลังจากที่ได้ทราบสาเหตุของอาการที่ว่านี้ไปแล้ว จะเห็นได้เลยว่า เราสามารถปวดศีรษะได้จากหลายสาเหตุ ทั้งแบบที่หาสาเหตุได้และแบบที่หาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เราเองไม่ควรที่จะละเลยมันไป เพราะหากเราพยายามหาที่มา หาวิธีการแก้ไข และหาวิธีการป้องกัน อาการปวดศีรษะก็จะค่อยๆลดน้อยลงหรือหายไปได้เอง แล้วเราก็จะได้ไม่ต้องทนทรมานกับความเจ็บปวดเช่นนี้อีกต่อไป หรือมีเวลาไปทำสิ่งใหม่ๆที่ต้องการได้อย่างเต็มที่