การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้, เกี่ยวกับโรค

นั่งหน้าคอมฯ ต้องระวังโรคนี้

    การใช้ร่างกายแบบสุดโต่งเป็นผลร้ายต่อร่างกายในระยะยาว แม้ว่าตอนนี้คุณอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบมากเท่าที่ควร แต่เมื่อเวลาผ่านไปสัญญาณที่ฟ้องว่าร่างกายทนไม่ไหวก็จะค่อยๆแสดงออกมาให้คุณเห็นเอง ซึ่งโรคร้ายที่เราจะพูดถึงกันวันนี้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหนุ่มสาวออฟฟิตที่มีชีวิตการทำงานส่วนใหญเกือบ 100% จ้องตัวหนังสืออยู่หน้าคอมพิวเตอร์ และใช้นิ้วมือพิมพ์ดีดอยู่ในท่าทางเดิมๆติดต่อกันนานตลอดทั้งวัน การที่คุณใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในรูปแบบเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระดูก หลัง หรือไหล่เท่านั้น แต่ยังเกิดปัญหาเกี่ยวกับมือ นิ้วมือ หรือข้อมือได้ดังต่อไปนี้ด้วย

    ความเจ็บป่วยที่ว่านี้เกิดขึ้นได้กับคนที่ชอบใช้มือในการหากินบ่อยๆ หรือทำท่าเดิมๆต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยขาดทักษะการบริหารอวัยวะที่ถูกวิธี จนเกิดเป็นอาการของกลุ่มโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ หรือ Carpal tunnel syndrome (CTS) ในที่สุด

    สาเหตุของการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ เกิดขึ้นเพราะบริเวณนี้จะมีลักษณะเป็นโพรงหรืออุโมงค์ที่ประกอบไปด้วยผนังด้านหน้า ได้แก่ เอ็นที่เรียกว่า tranverse carpal ligamentส่วนผนังด้านหลัง ได้แก่ กระดูกข้อมือ ถ้าโพรงนี้ตีบแคบจากสาเหตุใดก็ตาม ก็จะทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท และทำให้เกิดอาการปวดหรือชาบริเวณนิ้วหัวแม่มือถึงนิ้วนางได้


    อาการของกลุ่มโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
จะมีอาการชาเป็นเหน็บ ไม่มีแรงกำปวดแสบปวดร้อนบริเวณฝ่ามือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง ด้านหน้าหรือด้านหลังผ่ามือ ซึ่งมักจะเกิดตอนกลางคืนในขณะหลับ ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาสะบัดมือหรือนวดผ่อนคลายฝ่ามือกลางดึกอยู่บ่อยๆ บางท่านจะมีอาการมืออ่อนแรงในขณะขับรถหรืออ่านหนังสือพิมพ์ ทำให้ยกมือขึ้นค้างนานๆไม่ได้ อาการที่ว่านี้อาจจะปวดร้าวตั้งแต่มือยาวไปถึงข้อศอกเลยก็เป็นได้

    อาการเหล่านี้มักจะพบร่วมกับภาวะโรคอ้วน โรคเบาหวาน การตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย หรืออาจเกิดตามหลังอาการข้ออักเสบ การได้รับอุบัติเหตุที่ข้อมือ หรือเอ็นอักเสบจากการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เช่น การพิมพ์ดีด การบิดผ้า เป็นต้น

ภาพจาก : http://region1.prd.go.th/ewt_news.php?nid=8724&filename=index_region1 นั่งหน้าคอมฯ ต้องระวังโรคนี้


    หากไม่อยากต้องพบเจอกับอาการเช่นนี้ คุณต้องรู้จักการตรวจสอบร่างกายของตัวเองอย่างถูกวิธี เพื่อตรวจหาความผิดปกติของตัวเองให้ได้เสียก่อน ซึ่งเรามีวิธีการสำรวจความผิดปกติอย่างง่ายๆมาฝากกัน ขอเพียงแค่ทำตามนี้ คุณจะรู้ได้เลยว่าตัวเองนั้นเข้าข่ายอาการที่ว่าแล้วหรือยัง

    1. ตรวจ Phalen’s test ทำโดยการลองงอข้อมือทั้งสองข้างเป็นมุม 90 องศา หันหลังมือเข้าหากัน ค้างไว้เป็นเวลา 1 นาที หากรู้สึกชา หรืออาการปวดบริเวณฝ่ามือและนิ้วมือ คุณต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนแล้วละ

    2. ตรวจ Tinel’s test ทำโดยการลองเคาะไปเบาๆตรงกลางข้อมือบริเวณที่เส้นประสาท median nerve ผ่าน หากคุณสึกปวดหรือเกิดลักษณะคล้ายไฟช็อตร้าวไปที่นิ้วมือ แสดงว่าคุณเริ่มจะมีอาการของโรคนี้แล้วละ

    3. การตรวจ Durkan ‘s test ทำโดยการกดบริเวณข้อมือเป็นเวลา 30 นาที หากรู้สึกชาหรือปวดแสดงว่าเริ่มมีอาการกดทับของเส้นประสาทแล้วละ

    3 วิธีนี้ เป็นวิธีการสำรวจตัวเองง่ายๆก่อนที่จะป่วยเป็นโรคการกดทับของเส้นประสาท หากคุณลองสำรวจแล้วพบว่าตัวเองอาจจะเข้าข่ายผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ก็ต้องลองเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดต่อไป โดยการตรวจอาการของโรคนี้จะอาศัยการใช้คลื่นไฟฟ้าของเส้นประสาท (Nerve conduction velocity), การตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (Electromyography) หรือ การ x-ray ข้อมือ (Wrist x-rays)

    เมื่อได้รับการตรวจอย่างถูกวิธี และทราบแล้วว่าคุณนั้นกำลังเผชิญหน้ากับอาการของกลุ่มโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือเข้าอย่างจัง ก็ต้องรีบเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนและถูกวิธี ซึ่งการรักษาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนตามลักษณะอาการ โดยหากเป็นอาการเริ่มแรกจะเน้นการรักษาโดยไม่ผ่าตัด ได้แก่ การใช้เผือกอ่อนดามข้อมือ, การใช้ยากลุ่ม NSAID, การใช้ยา steroid, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะใช้ข้อมือเพื่อลดการอักเสบของข้อมือ, การทำกายภาพบำบัด และการฉีดยา steroid เข้าบริเวณข้อมือเสียก่อน แต่หากการรักษาด้วยวิธีแรกทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้ผลก็จะเปลี่ยนเป็นการรักษาโดยการผ่าตัดแทน ซึ่งมีทั้งแบบผ่าตัดเปิดแผลและตัดเอ็นที่ด้านหน้า หรือการผ่าตัดโดยการส่องกล้องขนาดเล็ก

    การรักษาจะได้ผลดีหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับการพักฝืนด้วย โดยหลังจากที่คุณผ่านการรักษาไปเรียบร้อยแล้ว จำเป็นต้องทำการพักข้อมือให้เหมาะสม ใส่ splint หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ปวดมากขึ้น และหากมีอาการบวมให้ประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการ

    นอกเหนือจากคนที่ทำงานหน้าคอมแล้ว คนที่ใช้ข้อมูลทำงานในรูปแบบเดิมซ้ำๆอย่างอาชีพเย็บปักถักร้อย พนักงานขับรถ
ช่างทาสี นักเขียนหนังสือ
พนักงานเจาะถนน การเล่นกีฬาหรือดนตรีบางประเภท ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้เช่นกัน เพราะหากคุณไม่รู้จักวิธีการบริหารหรือพักผ่อนข้อมืออย่างเหมาะสม เอาแต่ใช้มันเพียงอย่างเดียว โอกาสที่จะต้องมานั่งรักษาตัวเองภายหลังก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณเสมอ อย่าให้เป็นเช่นนั้นเลยค่ะ รู้จักใช้งานข้อมือของคุณอย่างคุ้มค่า และทะนุถนอมมันอย่างถูกวิธีจะดีกว่า คุณจะได้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ต้องกลัวว่าจะต้องมาหาหมอตอนหลังด้วย


Enjoy this blog? Please spread the word :)

Exit mobile version