ปัญหาปวดหลังเป็นปัญหาหนักอย่างหนึ่งที่คนส่วนใหญ่พบเจอ ยิ่งการจราจรบนท้องถนนของประเทศไทยติดขัดมากมายขนาดนี้ การนั่งขับรถในแต่ละวันจึงกินเวลายาวนานหลายชั่วโมงต่อวัน จะลุก จะบิดตัว หรือขยับร่างกายก็ลำบาก เพราะสถานที่คับแคบเกินไป
และเพราะหลายคนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนท้องถนนแบบนี้ จึงไม่น่าแปลกที่จะเกิดปัญหาปวดหลังกันอยู่เสมอ สาเหตุหลักก็เพราะคุณ “นั่งไม่ถูกท่า” “จัดตำแหน่งเบาะหรือพวงมาลัยไม่เหมาะสม” ซึ่งนำมาซึ่งอาการปวดแบบเรื้อรัง หรือเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังตามมาได้
ยังไม่สายถ้าคิดจะแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ มาดูวิธีการจัดท่าที่เหมาะสมกันดูสักหน่อยดีกว่า ว่าควรนั่งขับรถอย่างไรให้ไม่ปวดหลัง แต่ยังสามารถขับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแล้วตามมาดูกัน
1. ระยะนั่งต้อง เหมาะสม
ยังมีหลายคนที่ไม่ทราบว่าระยะนั่งขับรถที่เหมาะสมของตัวเองควรเป็นอย่างไร ทำให้บางทีนั่งชิดไป บางทีนั่งห่างไป และมีผลโดยตรงต่อสรีระระหว่างการขับรถ การจะนั่งขับรถให้สบายและถูกต้อง ควรควบคุไม่ให้เบาะที่นั่งชิดหรือห่างจากพวงมาลัยมากจนเกินไป โดยมีวิธีการระยะ คือ
การนั่งห่างจากพวงมาลัยประมาณ 1 ช่วงแขน ซึ่งเป็นช่วงที่สามารถหมุนพวงมาลัยได้คล่องแคล่ว ไม่ติดขัด ไม่ต้องเอื้อม และสามารถหักเลี้ยวรถได้ง่าย ในขณะเดียวกัน กล้ามเนื้อบ่าและไหล่ก็จะต้องไม่เกร็ง ส่วนขาจะต้องสามารถแตะแป้นเหยียบทั้งเบรก คลัช และคันเร่งได้พอดีในลักษณะกึ่งงอขา ไม่เหยียดหรืองอขาจนเกินไป

ถ้ายังมองภาพไม่ออก มาลองตรวจสอบว่าเบาะที่นั่งของคุณอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ด้วยวิธีการนี้ค่ะ
1. เอาข้อมือทั้งสองข้างวางไว้ที่พวงมาลัยด้านบน
2. ปรับเบาะถอยหลังหรือเดินหน้าจนแขนเหยียดตึงพอดี โดยที่ยังวางข้อมืออยู่ที่เดิม
3. เพียงเท่านี้ก็จะได้ระยะเบาะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณแล้ว
2. ความสูงต่ำของเบาะต้องเหมาะสม
ปัจจุบัน รถรุ่นใหม่สามารถปรับความสูงของเบาะได้หลาย ๆระดับ ดังนั้น คนที่ตัวสูงมากๆหรือเตี้ยมากๆจึงไม่ต้องกังวลใจอีกต่อไป โดยคนที่ตัวสูงควรที่จะปรับเบาะนั่งของคุณให้สูงขึ้น เพราะหากปรับเบาะเตี้ย คุณจะต้องปรับเบาะรถห่างจากพวงมาลัยมากขึ้น ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อการงอของหลัง และทำให้ปวดหลังเมื่อต้องนั่งขับรถนานๆได้
ส่วนคนเตี้ยก็ควรปรับเบาะให้ต่ำลง เพื่อจะได้ไม่ต้องนั่งชิดพวงมาลัยมากเกินไป แต่ก็ต้องกะระยะให้มองเห็นท้องถนนได้ชัดเจนด้วย
3. องศาของเบาะต้องเหมาะสม
อย่าคิดว่า การที่เรานั่งขับรถในลักษณะเอนหลังกึ่งนอน จะถือเป็นท่านั่งขับรถที่สบายมากที่สุด หรือจะช่วยให้เราขับรถได้เก่งได้เร็วแบบนักขับรถ Formula1นะคะ เพราะในความเป็นจริงแล้ว แต่ละคนจะมีสรีระที่ไม่เหมือนกัน
และแม้ว่าการนั่งในท่านั่งกึ่งนั่งกึ่งนอนจะความสบายกว่ามากก็จริง แต่ท่านี้กลับไปเพิ่มแรงกดลงไปที่เอว และหากนั่งท่านี้ขับรถนานๆก็จะมีอาการปวดเอวมากกว่าเดิมแน่นอน หรือถ้าใครทานข้าวมาอิ่มๆ เผลอๆจะหลับคาพวงมาลัยไปได้ เพราะฉะนั้นอย่าทำเลย
องศาการปรับเบาะที่ดีควรเริ่มจากการปรับเบาะให้ตั้งตรง 90 องศาก่อน จากนั้นจึงเอนหลังลงเล็กน้อยประมาณ 1-2 ล็อค ให้รู้สึกว่าช่วงเอวกระชับ ถ้ารู้สึกเช่นนั้นก็ถือว่านั่งถูกต้องที่สุดแล้ว

4. หัวหมอน ของสำคัญที่ห้ามลืม
เมื่อปรับเบาะได้อย่างเหมาะสมแล้ว อย่าลืมที่จะใส่ใจ “หัวหมอน” บนเบาะด้วย เพราะหัวหมอนเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อรักษาความปลอดภัย ลดแรงกระแทก และลดอาการบาดเจ็บที่จะเกิดกับช่วงคอ ซึ่งถือเป็นช่วงอวัยวะที่ละเอียดอ่อนมากที่สุดของเรา
สำหรับใครไม่ทราบว่าควรปรับหัวหมอนอย่างไรให้เหมาะสม ให้ทำโดยการปรับหัวหมอนให้อยู่กลางหลังศีรษะ เพราะจุดนี้จะช่วยลดแรงกระแทกเวลาเกิดอุบัติเหตุได้ดีมากที่สุด
5. จับพวงมาลัยให้มั่นใจ
นอกจากการปรับที่นั่งแล้ว การวางมือบนพวงมาลัยก็ควรอยู่ในตำแหน่งที่พอดีมือด้วยเช่นกัน โดยควรวางมือไว้ในตำแหน่ง 10 และ 2 นาฬิกา เพื่อช่วยให้การขับรถมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมรถได้อย่างง่ายดายมากที่สุด ทั้งนี้ พวงมาลัยควรอยู่ในลักษณะเชิดหน้าขึ้นหาคนขับเล็กน้อยด้วย
6. ไม่ลืมปรับกระจกส่องข้างและส่องหลัง
กระจกเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากในการขับรถ หากเราจัดท่าทางที่ไม่ถูกต้องก็จะมีปัญหาในการเอี้ยวตัวเพื่อมองกระจกได้ การขับรถที่ดีควรจะนั่งโดยไม่ต้องขยับศีรษะหรือโยกตัวไปไหน ก็สามารถมองเห็นในจุดที่เราต้องการได้
หากพิจารณาว่ายังมีจุดบอดก็อาจจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์เสริมเข้าไป เช่น ใช้กระจกส่องหลังบานใหญ่ ใช้กระจกโค้ง เป็นต้น เพื่อให้การขับรถปลอดภัยได้มากที่สุด
สุดท้ายอยากจะย้ำเตือนให้ทุกท่านระลึกไว้เสมอว่า การขับรถอย่างปลอดภัย ไม่ประมาทเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ ก่อนขับรถทุกครั้งอย่าลืมปรับท่านั่งหรืออุปกรณ์ต่างๆในรถให้เหมาะสม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังตามมานั่นเอง