การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้, เกี่ยวกับโรค

อย่ากลัว…ช็อกโกแลตซีสต์

    ผู้หญิงเป็นเพศที่มีอวัยวะภายในซับซ้อน และความซับซ้อนนี้เองที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคตได้ โดยเฉพาะกับระบบสืบพันธุ์ที่ยากที่จะรู้ล่วงหน้า แต่พอเกิดโรคขึ้นมาทีไร ก็ต้องป่วยหนักทุกที

    หนึ่งในโรคที่คนเป็นมากโรคหนึ่ง ก็คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับมดลูก เพราะเป็นส่วนที่ง่ายต่อการเกิดความผิดปกติและเป็นอวัยวะสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองทุกเดือน

    โรควันนี้ที่เราจะพูดถึง มีชื่อว่า ช็อกโกแลตซีสต์ ซึ่งคนส่วนใหญ่มองข้ามมันไปจากชื่อที่ฟังดูแล้วไม่น่ากลัวแต่น่ากินเสียมากกว่า แต่ในความจริงแล้ว อาการนี้ก็มีอันตรายแฝงอยู่ ทำให้สาวๆทุกคนไม่ควรจะนิ่งนอนใจกับโรคนี้ วันนี้เราจะมาอธิบายความหมายและสาเหตุ รวมทั้งวิธีแก้ไขกัน

    การมีก้อนช็อกโกแลตซีสต์อยู่ในร่างกาย อาจทำให้คุณปวดท้องจนล้มป่วยไปเลยก็เป็นได้ รวมถึงยังมีอาการข้างคียงอีกมากมาย โดยเริ่มแรกขอเริ่มต้นด้วยความหมายของมันกันก่อนดีกว่า

ช็อกโกแลตซีสต์ คืออะไร? น่ากินหรือน่ากลัว

    ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) หรือ ถุงน้ำช็อกโกแลต เป็นชื่อเรียกของอาการเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่อาการนี้เกิดขึ้นจากการที่เลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในช่องท้อง แล้วผ่านท่อรังไข่ ปิดท้ายด้วยการนำเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกเข้าไปด้วย

    และเมื่อเซลล์ตัวนี้เข้าไปฝังตัวอยู่ที่อวัยวะไหน มันก็จะเกิดเป็นถุงน้ำขึ้นที่ตรงนั้น ดังนั้น ช็อกโกแลตซีสต์จึงสามารถเกิดได้หลายตำแหน่ง เช่น อุ้งเชิงกราน ท่อรังไข่ ลำไส้ ช่องคลอด หรือมดลูก

อย่ากลัว...ช็อกโกแลตซีสต์
อย่ากลัว…ช็อกโกแลตซีสต์ — ภาพจาก :
http://www.livewell.in.th/article/โรค-ช็อกโกแลตซีสต์-อันตร/


     คนทั่วไปมักจะพบช็อกโกแล็ตซีสต์บ่อยที่สุดที่ รังไข่ เนื่องจากบริเวณนี้มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง และมันเป็นตัวเร่งได้เป็นอย่างดี

    อย่างไรก็ตาม ถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก ซีสต์จะไม่เกิดขึ้น แต่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาใหม่ นั่นก็คือ พังผืดในกล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง มีประจำเดือนมามาก และทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากตามมา

    นอกจากนี้ เวลาที่เยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกตัวออกมาตอนมีประจำเดือน ถุงน้ำที่ฝังตัวอยู่ก็จะมีเลือดออกด้วย แต่เมื่อเลือดประจำเดือนหมด ร่างกายก็จะดูดน้ำจากถุงกลับมา ทำให้เลือดในถุงเข้มข้นขึ้น ซึ่งหากเลือดค้างอยู่นาน ๆ ก็จะกลายเป็นก้อนสีน้ำตาลคล้ายช็อกโกแลต ด้วยเหตุนี้มันจึงถูกเรียกว่า “ถุงน้ำช็อกโกแลต” หรือ “ช็อกโกแลตซีสต์” นั่นเอง

อย่ากลัว...ช็อกโกแลตซีสต์
อย่ากลัว…ช็อกโกแลตซีสต์ — ภาพจาก : http://www.never-age.com/3857-1-ช็อกโกแลตซีสต์.html


    การจะรับรู้ว่าตัวเองมีก้อนช็อกโกแลตซีสต์แล้ว ต้องอาศัยความช่างสังเกต ซึ่งจะเกิดเมื่อมีอาการต่อไปนี้

    1. ปวดท้องน้อยเมื่อมีประจำเดือน และอาการมากขึ้นทุก ๆ เดือน บริเวณที่ปวดจะปวดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ข้างหน้าตั้งแต่สะดือไปถึงอุ้งเชิงกราน และข้างหลังตั้งแต่บั้นเอวไปถึงก้นกบ

    2. อาการอื่นๆ ได้แก่ ลำไส้แปรปรวน ท้องอืด ท้องเสีย ปวดมากเวลาขับถ่าย ปวดเสียดในท้อง ปวดหลัง ปวดร้าวลงขา ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย รวมทั้งมีอาการเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์


    แล้วใครบ้างละที่ถือว่า เสี่ยง

    ผู้หญิงที่อยู่ในวัยมีประจำเดือนทุกคน สามารถเป็นช็อกโกแลตซีสต์ได้ทั้งนั้น แต่คนที่เสี่ยงมากกว่า มักจะมีคุณสมบัติดังนี้

    1. ประจำเดือนมาตั้งแต่อายุยังน้อย

    2. รอบประจำเดือนสั้น หรือยาวนานกว่า 7 วัน

    3. มีประจำเดือนออกมามาก

    4. สมาชิคในครอบครัวเคยเป็นจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป 3-10 เท่า

    5. ผู้ที่มีความผิดปกติของทางออกประจำเดือน

สัญญาณเตือน

    หากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้ลองไปตรวจร่างกายดู เพราะเป็นไปได้ว่าคุณอาจจะมีช็อกโกแลตซีสต์อยู่ในตัว

    1. ไม่เคยปวดท้องประจำเดือนมาก่อนเลย แต่พออายุ 30 ปีขึ้นไปแล้วกลับมีอาการปวดท้องมากขึ้นเรื่อย ๆ และปวดจนทนไม่ได้

    2. ไม่มีอาการปวดเลย ยกเว้นเมื่อขนาดของซีสต์โตมาก ๆ แล้วไปกดอวัยวะข้างเคียงหรือแตกออกมา

    อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความสงสัยข้อใดข้อหนึ่ง อย่ามัวแต่คิดเอง แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อใช้เครื่องมือและวิธีการที่ถูกต้องในการตรวจหาความผิดปกติ

    ซึ่งการวินิจฉัยจะทำการตรวจภายในก่อนเพื่อคลำหาก้อน จากนั้นอาจจะตรวจด้วยการอัลตราซาวด์หรือใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปในช่องท้อง

รักษาโรคช็อกโกแลตซีสต์อย่างไร

    โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ โดยจะมีวิธีการรักษาหลักๆอยู่ 2 วิธี ได้แก่

    1. การใช้ยา มีทั้งแบบยากินหรือยาฉีด ใช้รักษาสำหรับถุงขนาดเล็ก วัตถุประสงค์เพื่อลดขนาดซีสต์ ใช้ยาตัวนี้แล้วอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นจากผลข้างเคียง

    2.การผ่าตัด เมื่อยาเอาไม่อยู่หรือถุงน้ำมีขนาดใหญ่มากเกินกว่าการใช้ยา แพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัด โดยอาจตัดเฉพาะตำแหน่งของโรค หรือสลายด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง

    3. รักษาด้วยการตั้งครรภ์ ช่วงเวลาตั้งครรภ์ 9 เดือน จนถึงหลังคลอดอีก 3-6 เดือน จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงไม่มีประจำเดือน เพราะฉะนั้น ช่วงนี้จะทำให้ถุงน้ำฝ่อตัวไปได้เอง

    เมื่อรักษาเสร็จควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะจะช่วยลดฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน เพื่อป้องกันเลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับ อย่างไรก็ตาม ซีสต์แบบนี้มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้เพียงแค่ 0.3-0.7% เท่านั้น ซึ่งนับว่าต่ำมากๆ
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวลมากไปนะคะ

    สุดท้าย อย่าลืมดูแลตัวเองกันให้ดีๆนะคะ โรคภัยไข้เจ็บจะได้ไม่เกิดขึ้นกับเรา


error

Enjoy this blog? Please spread the word :)