การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้, เกี่ยวกับโรค

แก้ปวดส้นเท้า

แก้ปวดส้นเท้าให้หายไม่ทรมาน

    สำหรับบางอาชีพแล้ว การยืนนานๆเป็นสิ่งที่คนเหล่านั้นจำเป็นต้องทำมาโดยตลอด ไม่ว่าจะยืนท่าไหน หรือหารองเท้าแบบที่ดีที่สุดมาใส่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่วายต้องเจ็บปวดทรมานกับอาการที่ว่านี้อยู่เรื่อยไป

    ทั้งนี้ อาการปวดส้นเท้า หรือ รองช้ำมีสาเหตุสำคัญมาจากการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อบริเวณใต้ส้นเท้า และมีสาเหตุหลักมาจากการใช้ส้นเท้าเป็นอวัยวะที่รับน้ำหนักตัวของเราตลอดเวลา เมื่อเนื้อเยื่อบริเวณส้นเท้ากดทับพื้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่ร่างกายมีความเสื่อมของสภาพไขมันและเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามอายุ
ก็ย่อมเป็นปัญหาตามมาในที่สุด

    ปัญหาที่ว่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งทำให้มีผลระยะยาวต่อการบาดเจ็บของส้นเท้า และอาจลุมลามไปบริเวณฝ่าเท้าด้วย หากคุณไม่ต้องการให้อาการบาดเจ็บเกิดขึ้นและเรื้อรังต่อเนื่องไปอย่างยาวนาน ยังพอจะมีวิธีการในการแก้ไขมันได้ โดยคุณจะต้องหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่วันนี้ และหาวิธีป้องกันที่ถูกต้อง ดังวิธีต่อไปนี้ค่ะ

แก้ปวดส้นเท้าให้หายไม่ทรมาน
แก้ปวดส้นเท้าให้หายไม่ทรมาน — ภาพจาก :
https://www.bumrungrad.com/healthspot/February-2015/plantar-fasciitis


    เรามีโอกาสเป็นโรคนี้มากน้อยแค่ไหน ? ให่เริ่มสังเกตตัวเองตั้งแต่อาชีพ อายุ และรูปร่างกันก่อน เพราะโรคนี้มักพบบ่อยในวัยกลางคนขึ้นไป พบมากในผู้ที่มีรูปร่างอ้วน และพบมากในผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือมีการใช้ส้นเท้ากระแทกพื้นบ่อยๆ
หากรงตามลักษณะดังกล่าวแล้ว มาสังเกตอาการในขั้นตอนต่อไปกันเลยค่ะ

    อาการปวดบริเวณส้นเท้า เกิดได้จากหลายๆสาเหตุ ซึ่งล้วนแต่เป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับเท้าทั้งสิ้น เช่น

  • เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ
  • เส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อเท้า
  • กระดูกงอกที่ฝ่าเท้าหรือที่เส้นเอ็นร้อยหวาย
  • กระดูกเท้าบิดผิดรูป โรครูมาตอยด์
  • โรคเก๊าท์
  • กระดูกหัก

แต่บอกไว้เลยว่าหากคุณมีอาการเช่นนี้ คุณอาจจะไม่ได้เป็นแค่อาการปวดเท้าแบบปกติอีกต่อไป แต่เป็นอาการปวดเท้าที่ต้องรีบแก้ไข เพราะยิ่งปล่อยไว้นานจะยิ่งรักษาได้ยากมากขึ้น อาการที่น่าเป็นห่วง คือ

    1. มีอาการปวดส้นเท้าและปวดอุ้งเท้า ระบม และปวดชาไปทั่วทั้งส้นเท้า

    2. มีจุดกดเจ็บบริเวณส้นเท้าฝั่งด้านในอุ้งเท้า โดยหากลองใช้นิ้วกดลงไปบริเวณนี้จะรู้สึกเจ็บเป็นอย่างมาก

    3. ปวดส้นเท้าแบบปวดจี๊ดเหมือนโดนเข็มแทง

    4. ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักที่ส้นเท้าได้อย่างเต็มที่

    5. หลังจากตื่นนอน คุณจะรู้สึกเจ็บมากที่สุดในตอนเช้า แต่เมื่ออดทนฝืนเดินต่อไปสักครู่ อาการเจ็บปวดก็จะทุเลาลง แต่สำหรับในผู้ป่วยบางรายอาการปวดอาจจะอยู่เช่นนี้ตลอดทั้งวันหรือตลอดทุกๆครั้งในการเดิน

    6. เมื่อกระดกนิ้วเท้าขึ้นจะมีอาการปวดร้าวตามแนวพังผืดใต้ฝ่าเท้าไปจนถึงจุดกดเจ็บและส้นเท้า

    การรักษาทางการแพทย์สำหรับอาการนี้สามารถทำได้หลายวิธี ยิ่งรักษาร่วมกันยิ่งได้รับประโยชน์ที่ดีขึ้น ทั้งนี้สามารถแบ่งกลุ่มการรักษาได้ 4 กลุ่ม ได้แก่

    1. การรับประทานยาแก้ปวด เพื่อลดการอักเสบ หรือยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการ

    2. ฉีดยาสเตียรอยด์ กรณีที่ปวดหนักจะฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่บริเวณส้น แต่จะไม่ฉีดเกิน 2 ครั้ง เพราะอาจทำให้เกิดเส้นเอ็นฝ่าเท้าเปื่อยและขาดได้

    3. การผ่าตัด เป็นวิธีสุดท้ายหลังจากที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผลอย่างน้อย 8 – 10 เดือน

    4. การทำกายภาพบำบัด
เพื่อให้การรักษาเป็นไปได้ดี และรักษาหายได้เร็วขึ้นมากขึ้น แนะนำให้คุณทำกายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วย ซึ่งการทำกายภาพบำบัดมีหลากหลายวิธีมากมาย เช่น
การแช่น้ำอุ่นเพื่อให้ความร้อนช่วยคลายกล้ามเนื้อการใช้เจลเย็นรักษาในระยะอักเสบการรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียง
รวมไปถึงการ
ออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อน่อง หรือยืดเอ็นร้อยหวาย  
เป็นต้น

แก้ปวดส้นเท้าให้หายไม่ทรมาน
แก้ปวดส้นเท้าให้หายไม่ทรมาน —  ภาพจาก : http://haamor.com/th/รองช้ำเพราะอะไร-1/

    โดยปกติแล้ว การรักษาโรคนี้โดยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เพราะแม้ว่าจะเป็นวิธีที่ช่วยให้หายขาด แต่ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนได้ เช่น การติดเชื้อ การเจ็บปวดต่อเนื่อง หรือการที่เส้นประสาทบริเวณฝ่าเท้าได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกชาได้ นอกจากนี้ การผ่าตัดเพื่อนำพังผืดออกไป อาจส่งผลให้ฝ่าเท้าแบนและเป็นปัญหาอื่นๆตามมาได้อีกด้วย

    โดยสรุปแล้ว แม้จะดูเหมือนโรคนี้จะดูไม่มีอันตรายร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา เพราะการใช้ชีวิตของคุณอาจจะติดขัด ส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้ ดังนั้น หากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

    ต้องไม่ลืมว่าเท้าเป็นอวัยวะที่ต้องได้รับการดูแลไม่น้อยไปกว่าอวัยวะอื่นๆนะคะ อย่าคิดว่าเป็นอวัยวะส่วนล่างแล้วไม่จำเป็นต้องใส่ใจ เพราะหากว่าเท้าใช้งานได้อย่างไม่เหมาะสม เกิดอาการปวดส้นเท้าขึ้นมา ชีวิตก็อาจจะยากกว่าเดิม ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

    ดังนั้น เริ่มต้นหันมาดูแลร่างกาย โดยอาจจะเริ่มต้นจากการบริหารส้นเท้าง่ายๆระหว่างที่นั่งทำงาน ควบคุมน้ำหนักให้เป็นปกติ ไม่เดินกระแทกหรือลงส้นเท้า หรือหลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินเกินความจำเป็น แค่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพียงเล็กๆน้อยๆ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้คุณสามารถกลับมาเป็นคนใหม่ที่ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นแล้ว และปัญหาเกี่ยวกับเท้าก็จะเบาบางและไม่น่าเป็นกังวลอีกต่อไป