ตรวจเจอก้อนเนื้อแบบไหนที่เสี่ยงมะเร็งเต้านม
การตัดหน้าอกทิ้งคงเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมต้องทำเพื่อยื้อชีวิตของตนเอง และป้องกันไม่ให้เซลล์ร้ายขยายอาณาเขต ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนกลัวและผู้หญิงแต่ละคนก็มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งไม่เท่ากัน ดังนั้น นอกจากเรื่องของพันธุกรรม การรับประทานอาหาร หรือการออกกำลังกายแล้ว การหมั่นตรวจสอบตัวเองก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่น้อยเลย
แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ ว่าแม้ว่าเราจะตรวจสอบตัวเองแล้ว แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าวิธีที่เราใช้มันถูกต้อง แล้วก้อนเนื้อที่เราจับได้ที่หน้าอกเป็นก้อนเนื้อที่มีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่ เรามาหาคำตอบของก้อนเนื้อร้าย เพื่อหาทางป้องกันมันก่อนเถอะค่ะ
ก้อนเนื้อแบบไหนที่น่ากลัวและไม่น่ากลัว
ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเริ่มต้นสังเกตเต้านมตัวเองเพรารู้สึกเจ็บแบบไม่มีสาเหตุ โดยพวกเธอจะเริ่มสังเกตและคลำที่เต้านม โดยอาจะพบก้อนเนื้อหรือพบสิ่งปกติบางอย่างที่แน่ใจ จากนั้น ก็มักจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบอาการที่แน่ชัด เพื่อให้มั่นใจว่าตนเองเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ ซึ่งหากเป็นไปในกรณีนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะสามารถรักษาตัวได้ทัน เพราะมาหาหมอตั้งแต่เริ่มแรก
ในทางตรงข้าม ผู้ป่วยที่มีก้อนที่เต้านม แต่ไม่รู้สึกเจ็บ ก็จะไม่รู้ว่ามีสิ่งผิดปกติอยู่ และทำให้มะเร็งเติบโตจนเลยจุดที่เหมาะสมที่จะรักษา ซึ่งจะทำให้กลุ่มนี้รักษาตัวเองไม่ทัน และอาจจะต้องโดนตัดหน้าอกทิ้งไปในที่สุด
โดยเราสามารถแบ่งประเภทของก้อนที่เกิดขึ้นในเต้านมได้อยู่ 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ซีสเต้านม เนื้องอกเต้านม และมะเร็งเต้านม ซึ่งแต่ละประเภทจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้
ซีสเต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน หมายความว่าก้อนซีสมักจะโตก่อนรอบเดือนมาและเล็กลงหลังจากรอบเดือนหมดไปในแต่ละเดือน ดังนั้น หากคลำดูแล้วพบว่าก้อนที่หน้าอกเล็กบ้างใหญ่บ้างให้สงสัยว่าเป็นซีสเต้านม นอกจากนี้ ซีสเต้านมมักจะรู้สึกเจ็บที่ก้อน
กลุ่มเนื้องอกหรือมะเร็ง จะไม่ค่อยรู้สึกเจ็บ โดยทั้งสองกลุ่มนี้มีรายงานพบว่า ร้อยละ 90 ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อน แต่ไม่มีอาการเจ็บ ทำให้ส่งเสริมให้คุณผู้หญิงละเลยที่จะไปตรวจสอบก้อนเนื้อที่หน้าอก คิดว่าการไม่เจ็บคือ ไม่เป็นไร และปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งลุกลามเป็นก้อนมะเร็งที่ใหญ่โตมากขึน

แล้วมะเร็งเต้านมที่มีสิทธพบในผู้หญิงสามารถพบได้บ่อยมากน้อยแค่ไหน คำถามนี้เป็นคำถามที่หลายคนอยากรู้แต่เมื่อฟังคำตอบแล้วคุณอาจจะขนลุกได้ เพราะจากข้อมูลที่มี (สำนักระบาดวิทยาของไทย) ทุก ๆ 3 ชั่วโมง จะพบผู้หญิงไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมถึง 2 คน และมากไปกว่านั้นก็คือ ในบรรดาคนที่ป่วยเป็นมะเร็งจะพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 30 หรือถ้าคิดเป็นจำนวนคนแล้วจะพบว่าหญิงไทยมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็ง 40 คน ในสตรี 1แสนคน
สำหรับข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงแค่ข้อมูลในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนข้อมูลทั่วโลกพบว่า อัตราการพบมะเร็งเต้านมในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติและวิถีการดำเนินชีวิต โดยในประเทศแถบตะวันตก จะพบคนป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้สูงกว่า
เมื่อพูดถึงความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในคนไทย พบว่า หญิงไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคมะเร็งได้สูงขึ้นทุกปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ70 ป่วยเป็นมะเร็งเนื่องจากสภาพแวดล้อม เช่น สภาพอากาศสภาพมลภาวะ สารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร หรือความเครียด แต่ก็ยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆที่สามารถทำให้เกิดมะเร็งได้เช่นกัน ได้แก่
1)อายุ ยิ่งมีอายุมากขึ้นยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะสตรีวัย 60 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 50 – 60
2)คนที่เคยผ่าตัดก้อนเนื้อที่เต้านม
3)พันธุกรรม เมื่อคุณมีญาติพี่น้องที่เคยป่วยเป็นมะเร็ง อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งสูงมากขึ้น
4) การเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย
5) การเกิดภาวะมีบุตรยาก
6) การใช้ยากลุ่มฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลานาน
เมื่อความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งมากมายขนาดนี้ การเฝ้าระวังตัวเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยการคลำเจอก้อนที่เต้านมเป็นสัญญาณแรกที่เราต้องตรวจสอบ โดยหากพบว่าก้อนที่เต้านมมีลักษณะแข็งและขรุขระ ให้ต้องสงสัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่บางครั้งอาจเป็นก้อนเรียบๆ ซึ่งสามารถพบได้เช่นกัน
นอกจากนี้ อาจจะพบอาการอื่น ๆ ที่ผิดปกติ เช่น ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไป รูปร่างเต้านมผิดปกติไปจากเดิม มีแผลที่หัวนมและรอบหัวนม หรือมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนม ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่ชีชัดว่าคุณอาจจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้ เมื่อพบควรเข้ารับการตรวจด้วย เครื่องแมมโมแกรม เพื่อช่วยวิเคราะห์มะเร็งเต้านมขนาดเล็กอย่างละเอียด เครื่องนี้สามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการไปจนถึงการมีอาการรุนแรงได้
สำหรับคนมีอายุตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมประจำปี เพราะเรื่องของเต้านมเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คุณควรใส่ใจเสมอ และอย่าอายที่จะไปพบหมอเมื่อพบความผิดปกติในร่างกาย