การดูแลสุขภาพ, การออกกำลังกาย, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, เกี่ยวกับโรค

เช็คสภาพหู

เช็คสภาพหูกันบ้างหรือเปล่า

เพราะการได้ยินคือเรื่องที่มนุษย์ขาดไม่ได้ การสูญเสียการได้ยินทำให้การใช้ชีวิตยากลำบากมากขึ้นกว่าปกติ ดังนั้น การถนอมการใช้งานของระบบหารได้ยินจึงกลายเป็นเรื่องที่สำคัญขึ้นมา และทำให้เราต้องหันมาฟังสุขภาพหูให้มากขึ้น เพื่อตรวจสอบดูว่าประสิทธิภาพในการได้ยินของเรายังดีอย่างเดิมอยู่ใช่หรือไม่

การที่เราเกิดมาแล้วสามารถได้ยินและสื่อสารได้อาจจะเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนเพิกเฉย เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วคนเราก็ล้วนแต่เกิดมาพร้อมกับระบบการได้ยินทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกหนึ่งกลุ่มที่โชคร้ายที่อาจจะสูญเสียการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการติดโรคตอนอยู่ในครรภ์ หรือเกิดจากอุบัติเหตุอื่นๆ ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะได้ยินเสียงอย่างชัดเจนมาเลย แต่เมื่อใดก็ตามที่ความโชคร้ายมาเยือน หรือคุณขาดการดูแลหูที่ดีเพียงพอ โลกแห่งการไร้เสียงก็สามารถเข้ามาเยือนคุณได้เสมอ

สำหรับการสูญเสียการได้ยิน สามารถแบ่งออกได้หลายประเภทตามระดับความรุนแรง

ประเภทแรก คือ “การนำเสียงบกพร่อง” ซึ่งจะเกิดปัญหาการสูญเสียการได้ยินบริเวณหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลางที่ปิดกั้นไม่ให้เสียงถูกส่งต่อไปอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวไม่ได้ยินเสียงชัดเจนดังเดิม ซึ่งการสูญเสียการได้ยินชนิดนี้มีความรุนแรงอยู่ในระดับต่ำหรือปานกลาง ผู้ที่สูญเสียการได้ยินประเภทการนำเสียงบกพร่อง จะไม่ได้ยินเสียงตั้งแต่ 25 ถึง 65 เดซิเบล หรือบางรายอาจไม่ได้ยินเสียงเพียงชั่วคราวเท่านั้นไม่ได้มีอาการอย่างต่อเนื่อง การให้ยา การผ่าตัด การใช้เครื่องช่วยฟัง หรือการฝังประสาทหูชั้นกลางเทียมสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

ประเภทที่สอง คือ “ประสาทรับฟังเสียงบกพร่อง” ซึ่งเป็นปัญหาการสูญเสียการได้ยินที่รุนแรงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ความผิดปกติประเภทนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่เซลล์รับเสียงเสียหาย ซึ่งแบ่งระดับอาการได้ตั้งแต่ขั้นต้น ไปจนถึงขึ้นหูหนวกโดยสมบูรณ์ การรักษากรณีนี้ทำได้ด้วยการใช้เครื่องช่วยฟังหรือหูชั้นกลางเทียมเพื่อบรรเทา หรือการผ่าตัดประสาทหูเทียมในกรณีสูญเสียการได้ยินในขั้นรุนแรง

เช็คสภาพหูกันบ้างหรือเปล่า
เช็คสภาพหูกันบ้างหรือเปล่า  — ภาพจาก : http://www.sjearhelp.com/article

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาการที่เรียกว่า “อาการหูหนวกบางส่วน” เนื่องจากมีเพียงเซลล์ขนบางบริเวณที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งส่วนที่เสียหายมักจะเป็นในส่วนบริเวณเริ่มต้นของก้นหอยหรือส่วนบริเวณด้านในแต่ส่วนอื่นยังคงทำงานได้อย่างสมบูรณ์อยู่ ดังนั้น การรักษาก็จะใช้เทคโนโลยี Electric Acoustic Stimulation ในการบรรเทาอาการดังกล่าว

ในบางรายอาจจะพบเจอกรณี โรคหูดับฉับพลัน” หรืออาการที่ประสาทหูเสื่อมลงแบบทันทีทันใดภายในระยะเวลาหนึ่งๆเพียงเวลาไม่นาน  ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการได้ยินเสียงน้อยลง หรืออาจจะรู้สึกสูญเสียในระดับใดระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การสูญเสียการได้ยินประเภทนี้ไม่ได้เป็นไปตลอด แต่เป็นเพียงอาการชั่วคราวที่สามารถรักษาให้หายด้วยวิธีต่างๆ เช่น การรับประทานยาบางชนิด หรือการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เป็นต้น

สำหรับบางคนอาจไม่ใช่ประเภทใดประเภทหนึ่งที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากเป็นการสูญเสียการได้ยินแบบผสม ซึ่งเกิดทั้งจากสาเหตุของประสาทรับฟังเสียงบกพร่องและชนิดการนำเสียงบกพร่อง ซึ่งความผิดปกติในกรณีนี้เกิดขึ้นได้ทุกๆบริเวณ ตั้งแต่หูชั้นใน หูชั้นกลาง หรือหูชั้นนอก การรักษาจึงมีได้หลากหลายรูปแบบตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย  เช่น การรับประทานยา การผ่าตัด การใช้เครื่องช่วยฟัง หรือการผ่าตัดประสาทหูชั้นกลางเทียม เป็นต้น

ความผิดปกติเกี่ยงกับการได้ยินประเภทสุดท้าย คือ “ประสาทหูเสื่อม” หรือการที่เส้นประสาทการได้ยินคู่ที่ 8 เกิดความเสียหาย ทำให้สูญเสียการได้ยินโดยสมบูรณ์ สำหรับอาการกล่มนี้ไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังเพื่อเสริมการฟังได้ และการผ่าตัดประสาทหูเทียมก็ไม่สามารถช่วยได้เช่นกัน เพราะไม่มีเส้นประสาทเชื่อมต่อข้อมูลเสียงไปสมองนั่นเอง

เช็คสภาพหูกันบ้างหรือเปล่า
เช็คสภาพหูกันบ้างหรือเปล่า — ภาพจาก : http://www.thaihealth.or.th/partnership/Content/27143-หูหนวกรักษาได้.html

การสูญเสียการได้ยินคงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเราอีกต่อไปแล้ว เพราะจะเห็นได้ว่ามีโอกาสมากมายที่ทำให้การได้ยินไม่เหมือนเดิม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ป้องกันไม่ได้ เพราะทุกคนสามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยการหลีกเลี่ยงเสียงที่ดังเกินไปเป็นเวลานานๆ หรือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงเพื่อลดความดัง นอกจากนี้ การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนอาจเชื่อมโยงไปสู่การสูญเสียการได้ยินได้ ดังนั้น การรักษาร่างกายให้แข็งแรงเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จำเป็นต้องทำเช่นกัน เพื่อลดโอกาสที่จะสูญเสียการได้ยินนั่นเอง

หากใครสงสัยว่าตัวเองอาจจะมีความเสี่ยงในการสูญเสียการได้ยินในอนาคต เพราะมักไม่ได้ยินเสียงพูดอย่างชัดเจนของคนรอบข้าง หรืออยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดังตลอดเวลา ก็ต้องหมั่นตรวจวัดระดับการได้ยินกันสักหน่อย เพราะหากคุณเริ่มรู้ตัวว่าตัวเองกำลังเริ่มอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะสูญเสียการได้ยินในระยะแรกๆ ก็จะสามารถประเมินอาการ ประมาณสาเหตุ และรักษาความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ การได้ยินเสียงที่ชัดเจนก็จะกลับมาได้ง่ายกว่าการที่รอให้หูสูญเสียการได้ยินในขั้นสูง

สุดท้าย คงต้องบอกให้คุณดูแลอวัยวะต่างๆให้ดีที่สุด ไม่เว้นแม้แต่หูที่อาจจะคิดว่าไม่สำคัญ แต่หากคุณขาดมันไปโลกที่ไร้เสียงจะทำให้คุณรู้สึกไม่สนุกกับการใช้ชีวิตเท่าเดิมอย่างแน่นอน

error

Enjoy this blog? Please spread the word :)