บทความน่ารู้

ยิ่งลวกยิ่งสกปรก

ทุกวันนี้การรับประทานอาหารนอกบ้าน ถือเป็นรูปแบบการรับประทานอาหารที่ค่อนข้างแพร่หลาย น้อยคนนักที่จะมีเวลาทำอาหารรับประทานกันเองอยู่ที่บ้าน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเหตุผลในด้านของการทำงาน เวลา สถานที่ หรืออุปกรณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้คนจำนวนมากจำเป็นต้องฝากท้องไว้กับร้านอาหารข้างทางหรือร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้าต่างๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุผลนี้เอง จึงทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารหันมาดำเนินธุรกิจในด้านนี้มากขึ้น เนื่องมาจากความต้องการในด้านการบริโภคที่สูงขึ้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ความสะอาดถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้ความใส่ใจดูแล ซึ่งความสะอาดหมายรวมไปถึงความสะอาดของวัตถุดิบ การประกอบอาหาร

สิ่งแวดล้อม และภาชนะบรรจุ

ยิ่งลวกยิ่งสกปรก
ภาพจาก : http://www.prd.go.th/ewt_news.php?nid=70286
ยิ่งลวกยิ่งสกปรก

สุขลักษณะในการประกอบอาหารที่ดีจะส่งผลให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัย และช่วยเสริมความมั่นใจในการรับประทานอาหารนอกบ้านมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน หากผู้ผลิตไม่สามารถควบคุมความสะอาดหรือสุขลักษณะของอาหารและภาชนะที่สัมผัสอาหารได้ ก็จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคภัยต่างๆ รวมไปถึงโรคที่รุนแรงอย่างอาหารเป็นพิษ ซึ่งเป็นอาการป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค และมักพบได้บ่อยในประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อน

จากสถิติในปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา พบว่า เมื่อสำรวจคนจำนวนทั้งสิ้น 100,000 คน จะพบผู้ป่วยที่เป็นโรคอาหารเป็นพิษถึง 170 ราย ซึ่งแม้ว่าจะคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% แต่ก็นับเป็นสถิติที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา โรคอาหารเป็นพิษที่พบโดยส่วนใหญ่จะพบในประชากรในช่วงวัยทำงาน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด

จากสาเหตุหลักที่กล่าวไป จำเป็นต้องย้อนกลับมามองถึงภาชนะ ที่ถือเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงแหล่งของเชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ภาชนะทั้งจาน ชาม ตะเกียบ ช้อน หรือส้อม จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นจะต้องดูแลรักษาความสะอาดให้ดีและปลอดจากเชื้อจุลินทรีย์ด้วย

ในภาชนะเหล่านี้มีความเสี่ยงอย่างมากต่อการสะสมของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งเชื้อจุลินทรีย์ที่สำคัญและควรระวังเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ เชื้อแบคทีเรีย เช่น E.coli และ Enterobacter spp. เป็นต้น เชื้อเหล่านี้จัดเป็นเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหารที่ได้มาจากการใช้น้ำทำความสะอาดไม่เหมาะสม หรือการเก็บรักษาภาชนะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เกิดเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธุ์ของเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนได้ นอกจากนี้ยังอาจมีความเสี่ยงในด้านเชื้อไวรัสที่มีอันตรายไม่แพ้กันด้วย

วิธีการในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ทำได้ไม่ยาก เนื่องมาจากเชื้อเหล่านี้ไม่ค่อยคงทนต่อความร้อนสักเท่าไร เชื้อส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนได้ดีที่อุณหภูมิตั้งแต่ 4-45 องศาเซลเซียส ดังนั้น การลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์โดยทั่วไปจึงมักทำโดยวิธีการลวกหรืออบด้วยความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส เพียงเท่านี้ก็สามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้แล้ว แต่หากเป็นเชื้อไวรัสต้องใช้อุณหภูมิที่สูงกว่า 98 องศาเซลเซียส และลวกนานถึง 4 นาที จึงจะกำจัดออกไปได้

ยิ่งลวกยิ่งสกปรก
ภาพจาก : http://www.abc6.com/story/19969922/boil-water-advisory
ยิ่งลวกยิ่งสกปรก

จากวิธีที่กล่าวถึงข้างต้น ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนใหญ่นำวิธีเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ โดยมากมักจะมีอ่างน้ำร้อนวางไว้ข้างๆกับอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับรับประทาน เพื่อให้ผู้บริโภคลวกช้อนหรือส้อมก่อนนำไปใช้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์ก่อนนำไปใช้ในการรับประทานอาหาร

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความหวังดีกลับกลายเป็นผลร้ายเพราะนอกจากอ่างน้ำร้อนจะไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคในอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหารได้แล้ว ยังอาจเป็นการเพิ่มเชื้อโรคให้มาเกาะที่ช้อนหรือส้อมของเรามากขึ้นได้อีกด้วย

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ตัวการสำคัญอยู่ที่อุณหภูมิของน้ำที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ มีงานวิจัยที่ทดลองสุ่มน้ำจากหม้อลวกช้อนส้อมที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดทิ้งไว้โดยไม่ได้มีการตรวจสอบอุณหภูมิ ผลการทดสอบพบว่า ในตัวอย่างน้ำในหม้อลวกพบเชื้อแบคทีเรียปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก และเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

เมื่อสำรวจอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ลวกตามโรงอาหารหรือศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้าจะพบว่าอุณหภูมิไม่ถึงจุดที่เหมาะสมที่จะฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ โดยส่วนมากมักมีอุณหภูมิต่ำ ซึ่งการที่อุณหภูมิไม่ถึงอุณหภูมิฆ่าเชื้อ จะกลายเป็นสภาวะที่เชื้อจุลินทรีย์ชอบและเจริญเติบโตได้ดีกว่าเดิม และเมื่อตรวจสอบในด้านความสะอาด กลับพบว่าน้ำที่ใช้ลวกช้อนส้อมมีความสะอาดของน้ำต่ำมาก และมีการหมุนเวียนเปลี่ยนถ่ายน้ำค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะใช้ซ้ำไปเรื่อยๆตลอดวัน ดังนั้น แทนที่หม้อลวกฆ่าเชื้อจะใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อฆ่าหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ กลับกลายเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มเชื้อให้มากขึ้นด้วยซ้ำ

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือระยะเวลาในการลวก คนส่วนใหญ่มักจะลวกช้อนด้วยระยะเวลาสั้นๆเพียงไม่กี่วินาที ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่มีผลต่อการฆ่าหรือทำลายเชื้อจุลินทรีย์เลย แต่ครั้นจะให้ยืนลวกนานเป็นนาทีก็คงจะเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ดังนั้น หากพบว่าช้อนส้อมที่ใช้ไม่ได้สกปรกจนเกินไป ก็ไม่ควรจะนำไปลวกในหม้อ เพราะเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า หม้อที่ใช้มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยมากแค่ไหน หรือมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการฆ่าเชื้อหรือไม่

การรักษาสุขอนามัยในการบริโภคอาหารที่ดีย่อมจะช่วยให้ห่างไกลจากโรคอาหารเป็นพิษ หรือลดความเสี่ยงในการได้รับไวรัสตัวร้ายได้ การป้องกันง่ายๆเพียงเท่านี้ จะส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง ปลอดภัยและปลอดโรคร้ายได้อย่างแน่นอน

Sending
User Review
0 (0 votes)