บทความน่ารู้, อาหารเพื่อสุขภาพ

จริงหรือ..ครีมเทียม ขาวจั๊วแต่(ไม่)น่าเจี๊ยะ

จริงหรือ..ครีมเทียม ขาวจั๊วแต่(ไม่)น่าเจี๊ยะ

” คอกาแฟ ” หรือกลุ่มคนที่หลงรักในกลิ่นหอมของเมล็ดกาแฟคั่วบดและติดใจในความเข้มข้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาไม่ได้ในเครื่องดื่มชนิดไหน คอกาแฟเหล่านี้มักจะเป็นผู้ที่เสพติดคาเฟอีนอันเป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้เกิดอาการ ‘ตาสว่าง’ ได้ และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บุคคลกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ในทุกๆวัน เพราะหากวันใดวันหนึ่งขาดไป อาจจะทำให้รู้สึกเฉื่อยชาหรือไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่าเหมือนเคย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นของคู่กันกับกาแฟ และมีส่วนช่วยในการเพิ่มรสชาติความกลมกล่อมหอมมัน ก็คงหนีไม่พ้นการเติมผงสีขาวๆที่เรียกว่า ” ครีมเทียม ” ลงไปในกาแฟแก้วโปรดของคุณนั่นเอง

แล้วคุณทราบหรือไม่ค่ะว่า ครีมเทียมที่มีสีขาวๆ ดูน่ารับประทานนั้น มีความร้ายกาจที่แอบแฝงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว อย่ารอช้า…เราลองมาทำความรู้จักครีมเทียมกันเลยดีกว่าค่ะ

ครีมเทียมถูกจัดเป็นอาหารประเภทควบคุมเฉพาะในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 สำหรับคำจำกัดความตามกฎหมายได้ระบุไว้ว่า ครีมเทียม คือ “ผลิตภัณฑ์ที่มิได้ทำจากนมและมีไขมันอื่นนอกจากมันเนยเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ หรือครีมที่มีมันเนยผสมอยู่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของไขมันทั้งหมด” ส่วนกฎหมายไทยได้กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของครีมเทียม ตามสัดส่วนร้อยละของไขมันโดยน้ำหนัก แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังต่อนี้

  • ครีมเทียมชนิดพร่องไขมัน มีไขมัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และไม่ถึงร้อยละ 18 ของน้ำหนัก
  • ครีมเทียมชนิดธรรมดา มีไขมัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 ของน้ำหนัก
  • ครีมเทียมชนิดวิปปิ้งครีม มีไขมัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 28 ของน้ำหนัก
  • ครีมเทียมชนิดดับเบิลครีม มีไขมัน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 36 ของน้ำหนัก

     

ในส่วนของครีมเทียมที่ถูกทำให้แห้งจนมีลักษณะเป็นผงนั้น ต้องมีไขมันทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของน้ำหนัก

ในอดีต ประเทศไทยเคยผลิตครีมเทียมจากไขมันมะพร้าว เนื่องจากประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณค่อนข้างสูง แต่ระยะหลังมานี้ พบว่ามีการแปรรูปมะพร้าวในภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง จึงส่งผลทำให้ผลผลิตมะพร้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการ และมีราคาค่อนข้างสูง ผู้ผลิตครีมเทียมจึงหันมาใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบหลักทดแทนไขมันจากมะพร้าวแทน

จริงหรือ..ครีมเทียม ขาวจั๊วแต่(ไม่)น่าเจี๊ยะ

ทีนี้มาดูกันซิว่าส่วนประกอบที่อยู่ในครีมเทียมนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ?

โดยทั่วไป ในส่วนผสมของครีมเทียมจะมีส่วนประกอบ 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ “ไขมัน” ทั้งไขมันปาล์มโอเลอีน ไฮโดรจีเนตเต็ดปาล์มเคอร์เนลออยล์ หรือไขมันพืชอื่น รวมแล้วประมาณร้อยละ 30-32 ซึ่งจะมีมากน้อยเท่าไรก็ขึ้นกับสูตรและวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ ส่วนที่เหลืออีก 2 ส่วน จะประกอบด้วย กลูโคสไซรัป หรือ มอลโตเด็กซ์ตริน ร้อยละ 60-65 และส่วนสุดท้ายอีกเพียงเล็กน้อยจะเป็นสารเคมีในการแต่งสี และแต่งกลิ่น ประมาณร้อยละ 1-3 นอกจากนี้ อาจมีส่วนผสมอื่นๆอย่างโซเดียมเคซีเนต (โปรตีนนม) ผสมอยู่ด้วยก็เป็นได้

ส่วนผสมหนึ่งที่ถือเป็นอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมากก็คือ ส่วนประกอบที่เรียกว่า “ไฮโดรจีเนตเต็ดปาล์มเคอร์เนลออยล์” ซึ่งจัดเป็นไขมันชนิดทรานส์ ที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัวให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัวสูง โดย การเติมไฮโดรเจนลงไปเพื่อเปลี่ยนสภาพของน้ำมันเหลวให้กลายเป็นน้ำมันที่ข้นขึ้น ขาวขึ้น และสามารถละลายในน้ำได้ง่ายขึ้น ซึ่งเหตุผลที่มีการนำไขมันไม่อิ่มตัวมาเปลี่ยนให้เป็นไขมันทรานส์ ก็เนื่องมาจากไขมันทรานส์สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานที่อุณหภูมิห้องโดยไม่เหม็นหืนและไม่เป็นไข สามารถทนความร้อนได้สูง และมีรสชาติใกล้เคียงกับไขมันจากสัตว์ แต่มีราคาที่ถูกกว่ามากนั่นเอง

การที่เรารับประทานครีมเทียมที่มีกรดไขมันทรานส์ในปริมาณมากจะส่งผลต่อการทำงานของเอนไซม์ Cholesterol Acyltranferase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความสำคัญในกระบวนการเมตาบอลิซึมของคอเลสเตอรอล ทำให้ระดับ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดเลวในเลือดเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับทำให้ระดับ HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดีในเลือดลดลง และเนื่องมาจากไขมันทรานส์เป็นไขมันที่เกิดจากการแปรรูป จึงเกิดการย่อยสลายตัวได้ยากกว่าไขมันชนิดอื่น ส่งผลให้ตับต้องสลายไขมันทรานส์ด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากการย่อยสลายไขมันตัวอื่น ร่างกายจึงเกิดสภาวะที่ผิดปกติขึ้นนั่นเอง

พิษภัยส่วนใหญ่ที่พบจากการรับประทานไขมันทรานส์มากเกินไปก็คือ การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักและไขมันส่วนเกิน รวมไปถึงภาวะการทำงานของตับที่ผิดปกติ มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจสูง ทั้งยังทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ได้ทำการศึกษาถึงผลของการบริโภคครีมเทียมกับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ พบว่า ส่วนประกอบภายในที่เป็นไขมันทรานส์เป็นสาเหตุของการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคาร์โบไฮเดรตถึง 93% ส่วนไขมันอิ่มตัวเป็นสาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคาร์โบไฮเดรตถึง 17%
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการรับประทานครีมเทียมที่มีไขมันทรานส์มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าครีมเทียมที่ใช้ไขมันอิ่มตัวถึง 5 เท่าเลยทีเดียว

ทราบหรือยังว่า การเติมครีมเทียมลงในกาแฟแก้วโปรดของคุณนั้นจะเกิดโทษต่อร่างกายมากขนาดไหน การบริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพจะเป็นหนึ่งทางออกที่ช่วยให้คุณสามารถหลีกหนีโรคร้ายแรงต่างๆได้ดีมากที่สุด

 

Sending
User Review
0 (0 votes)