อาการแพ้อาหารเป็นหนึ่งในโรคที่ไม่มีใครอยากเป็น เพราะหากเมื่อใดที่เผลอรับประทานอาหารนั้นๆเข้าไปโดยไม่ทันตั้งตัวหรือไม่ได้ตั้งใจ ก็จะทำให้เกิดอาการแพ้ที่อาจแสดงออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน บางคนก็แพ้กุ้ง ส่วนบางคนก็แพ้นม แล้วกลไกในร่างกายส่วนใดที่คอยฟ้องให้เกิดปฏิกริยาตอบโต้การแพ้ขึ้นมาได้บ้าง สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเราเริ่มแพ้อาหารนั้นๆแล้ว เรามาเริ่มไขปริศนาไปพร้อมๆกันได้เลยค่ะ

ใครแพ้อาหาร ฟังทางนี้
กลไกการเกิดอาการแพ้อาหาร แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบ “IgE Mediated Food Allergy” ซึ่นงเป็นการเกิดแพ้อาหารเนื่องจากโปรตีนในอาหารทำปฏิกิริยาเมื่อผ่านผนังลำไส้ และจนเกิดเป็นภูมิแพ้ชนิด IgE ขึ้นมา อาการภูมิแพ้ประเภทนี้มักจะเป็นแบบเฉียบพลัน เช่น เกิดผื่นลมพิษ หรือในบางรายอาการอาจจะรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตเลยก็ได้เช่นกัน ส่วนภูมิแพ้อีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “Non IgE Mediated Food Allergy” หรือการแพ้อาหารที่ไม่ได้ผ่านกลไกแพ้แบบ IgE เช่น อาการท้องเสียหลังดื่มนมวัว หรืออาการปวดท้องหลังจากรับประทานอาหารรสจัด เป็นต้น
สารก่อภูมิแพ้ (Allergens) คือ สารอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ มักเป็นสารอาหารประเภทโปรตีนที่ทนต่อความร้อนหรือทนต่อการย่อยในระบบทางเดินอาหาร การแพ้อาหารของคนทั่วโลกกว่า 90% ล้วนมีสาเหตุมาจากอาหาร 8 อย่าง หรือที่เราเรียกกันว่า “Big Eight Allergens” ดังต่อนี้
1. Tree nut เช่น ถั่วอัลมอนต์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ วอลนัท เป็นต้น
2. ไข่
3. นม
4. ถั่วลิสง
5. สัตว์น้ำมีเปลือก เช่น หอย กุ้ง ปู เป็นต้น
6. ข้าวสาลี
7. ปลา
8. ถั่วเหลือง

นอกเหนือจากอาหารทั้ง 8 กลุ่มนี้แล้ว สารปรุงแต่งหรือสารถนอมอาหารก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน โดยสารที่มักมีผลต่อการเกิดภูมิแพ้ เช่น สีเหลือง (tartrazine), sodium benzoate, sodium nitrate, ผงชูรส monosodium glutamate (MSG)
เป็นต้น
ซึ่งหากคุณตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของผู้บริโภคที่มีอาการแพ้อาหารกลุ่มนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสำเร็จรูปที่ผ่านการปรุงแต่งมาแล้ว และหันไปรับประทานอาหารจากธรรมชาติที่ปรุงสดๆให้มากขึ้น เพื่อลดอาการแพ้ที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น
สำหรับอาการแพ้อาหารในเด็กจะพบมากในช่วงขวบปีแรก และค่อยหายไปเองตามธรรมชาติสารอาหารที่เด็กมักจะแพ้บ่อย ได้แก่ นม ไข่ ถั่วลิสง ข้าวสาลี ถั่วเหลือง และถั่วอื่นๆ ซึ่งอาหารบางชนิดอย่างไข่ นม และถั่วเหลือง เมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น อาการแพ้ก็จะหายไปเองหรือทุเลาลง แต่สำหรับอาหารจำพวกถั่วต่างๆ ปลา หรือหอย มักจะพบอาการแพ้ติดตัวไปจนโต
โอกาสในการเกิดอาการแพ้มีอยู่หลายสาเหตุ เช่น ลักษณะนิสัยการบริโภคของแต่ละชนชาติ ปริมาณ ความถี่ ความนิยมในการใช้วัตถุดิบนั้นๆเป็นส่วนประกอบในอาหาร เป็นต้น หรืออาจมีสาเหตุมาจากความแตกต่างทางพันธุกรรม เช่น บางชนชาติอาจมีโอกาสเกิดภูมิแพ้อาหารบางชนิดมากกว่าอีกชนชาติหนึ่ง เป็นต้น ตัวอย่างการเกิดภูมิแพ้ที่แตกต่างกัน เช่น คนทั่วโลกมักเกิดภูมิแพ้ในไข่ไก่และในนมวัวได้เท่าๆกัน ในขณะที่คนเยอรมันและคนญี่ปุ่นมักเกิดภูมิแพ้ในข้าวสาลีได้มาก เป็นต้น
ถึงตอนนี้คงมีหลายๆ คนตั้งคำถามว่า แล้วเราจะรับรู้ จัดการหรือควบคุมอาการภูมิแพ้ในของร่างกายของเราได้อย่างไร เพราะในหนึ่งวัน คนเรามักจะรับประทานอาหารตั้งหลายอย่าง ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะบอกว่าบุคคลแต่ละคนนั้นแพ้อาหารจำพวกใด การจะรับรู้ว่าเราแพ้อาหารชนิดใดในขั้นต้นนั้นจะต้องเริ่มจากการสำรวจอาการหลังการบริโภคอาหารของตนเอง ถ้าหากคุณรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วมีผื่นลมพิษขึ้นตามตัว ปากบวม หรือรู้สึกหายใจลำบาก ให้พึงระวังไว้ว่า “คุณเข้าข่ายการแพ้อาหาร” แล้วละ สิ่งที่จะต้องทำในขั้นตอนต่อไปคือ การยืนยันผลทางการแพทย์ ซึ่งทางการแพทย์มีการคิดค้นวิธีการวิเคราะห์ที่ง่ายและครอบคลุมอาการภูมิแพ้ในเกือบทุกสิ่งอยู่ 2 วิธี ด้วยกัน วิธีแรกคือการ “ทดสอบทางผิวหนัง” ซึ่งเป็นวิธีที่รวดเร็วแต่ยังไม่แม่นยำมากนัก วิธีนี้จึงเป็นการวิเคราะห์เบื้องต้นก่อนการทดสอบในขั้นที่ 2 ที่เรียกว่า “การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ Food Allergy IgG ” หรือ Food Intolerance Test โดยจะทำการเจาะเลือดผู้ป่วยไปเพื่อนำไปวิเคราะห์หาระดับ IgE แล้วรายงานผลการตรวจออกมาเป็นระดับการแพ้ต่ออาหารแต่ละรายการ ซึ่งจะทำให้เรารับทราบถึงอาการแพ้ในร่างกายและรู้จักหลีกเลี่ยงอาหารที่ส่วนผสมของสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวได้
การรักษาในปัจจุบันยังไม่สามารถกำจัดต้นเหตุของการเกิดโรคได้อย่างแท้จริง ทำได้เพียงแค่การรักษาอาการด้วยการรับประทานยาแก้แพ้ที่ชื่อ cetirizine หรือในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรงจะต้องใช้ยาฉีดที่ชื่อว่า Epinephrine แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงแบบ anaphylaxis จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ทำการรักษาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ เมื่อทราบว่าตนเองแพ้อาหารชนิดใดแล้วก็ควรพยายามหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด ในด้านการเลือกซื้ออาหารก็ควรสังเกตฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ก่อนทุกครั้ง ว่ามีส่วนผสมของอาหารที่อาจทำให้เราเกิดอาการแพ้ได้หรือไม่ สำหรับกรณีผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรง จำเป็นจะต้องพกยาติดตัวไว้เสมอ เผื่อว่าอาจจะเผลอไปรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบภายในเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้เข้า จะได้สามารถแก้ไขได้ทัน