เป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารเป็นหนึ่งในสี่ของปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการดำเนินอยู่ของร่างกาย เมื่อใดที่ร่างกายขาดอาหารไป ก็คงยากเป็นอย่างยิ่งที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ดังนั้น การดูแลรักษาอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารให้ดี จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะส่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของระบบอวัยวะอื่นๆเป็นอย่างมาก
หนึ่งในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่นับเป็นอันตรายที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคอื่นๆอีกมากมาย ก็คือ “อาการกลืนอาหารลำบาก” เพราะเมื่อใดที่เราเกิดอาการเช่นนี้ขึ้น ก็จะทำให้ความอยากอาหารลดน้อยลง เมื่อร่างกายได้รับอาหารได้อย่างไม่สมบูรณ์ ก็จะเกิดภาวะทุพโภชนาการ หรือการที่ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นบางอย่างขาดตกบกพร่องไป ทำให้ความสมบูรณ์ของร่างกายไม่ดีดังเดิม อีกทั้งยังทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำ และป่วยเป็นโรคอื่นๆได้ง่ายมากขึ้น

อะไรคืออาการกลืนลำบาก ผู้ป่วยที่จะเข้าข่ายอาการกลืนลำบากจะต้องมีอาการผิดปกติเวลาที่กลืนอาหาร หรือจะต้องใช้เวลาและความพยายามที่มากขึ้นในการทำให้อาหารหรือของเหลวเคลื่อนที่จากปากผ่านลงไปในหลอดอาหาร และเคลื่อนตัวต่อไปสู่กระเพาะอาหาร อาการกลืนลำบากนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่มักจะพบได้บ่อยในคนสูงอายุ โดยอาการมักเริ่มจากกลืนอาหารแข็งไม่ได้ก่อน ต่อมาจะเริ่มแสดงอาการกับอาหารอ่อน อาหารเหลว อาหารน้ำ และเครื่องดื่ม ตามลำดับ และในที่สุด ก็จะไม่สามารถกลืนได้แม้แต่น้ำลายของตนเอง
นอกจากนี้อาจมีความรู้สึกเจ็บขณะกลืน หรือรู้สึกเหมือนมีอาหารติดอยู่บริเวณหน้าอก บางคนอาจมีอาการไอหรือสำลักอาหารออกมาขณะกลืน หลายต่อหลายครั้งจะแสดงอาการน้ำลายไหล เสียงแหบ แสบหน้าอก กรดไหลย้อน และน้ำหนักลดควบคู่ไปด้วย
ปัญหาการกลืนอาหารยากหรืออาการกลืนอาหารลำบาก มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Dysphagia ภาวะอาการเช่นนี้สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งที่มาจากสาเหตุการรับประทานอาหารที่ผิดวิธี หรือ ในบางคนก็อาจประสบปัญหานี้เนื่องจากปัญหาสุขภาพส่วนตัวก็เป็นได้
โดยมากแล้ว สาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะการกลืนลำบากนั้นมีอยู่หลายประการ โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดมาจากพฤติกรรมส่วนตัวของผู้บริโภค เช่น การรับประทานอาหารคำใหญ่มากเกินไป การรีบรับประทานอาหารมากเกินไป การดื่มน้ำไม่เพียงพอในขณะที่รับประทานอาหาร จนทำให้รู้สึกฝืดคอหรือติดคอ รวมไปถึงการรับประทานในขณะนอน จนอาจส่งผลให้มีสิ่งแปลกปลอมหลุดรอดเข้าไปในหลอดอาหาร เช่น เมล็ดผลไม้ ก้างปลา เป็นต้น มีผลทำให้เกิดการบาดเจ็บของคอหอยหรือหลอดอาหาร และนำไปสู่ภาวะกลืนไม่ลง ในที่สุด
นอกจากนี้ อาการกลืนลำบากก็อาจเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติบางอย่างภายในร่างกาย เช่น การเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อทั้งบริเวณคอหอย กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร หรือกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย อีกทั้งอาจเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทหรือระบบสมองและประสาท อย่างโรคหลอดเลือดในสมองแตก โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เนื้องอกในสมอง โปลิโอ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคพาร์กินสัน หรือโรคปลอกประสาทเสื่อม เป็นต้น นอกจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทแล้ว ยังอาจมีสาเหตุมาจากการที่หลอดอาหารถูกทำลายเนื่องจากกรดไหลย้อน หรือความผิดปกติของกระบวนการย่อยสลายในร่างกาย เช่น กลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing disease) หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจโต ก็ส่งผลให้เกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน หรือสาเหตุสุดท้ายของอาการนี้ อาจจะไม่มีเหตุผลที่แน่ชัด เช่น อาการกินยาลำบาก หรือ อาการที่ผู้ป่วยรู้สึกไปเองว่ามีก้อนในลำคอตลอดเวลา แม้ไม่ได้กำลังกลืนอาหาร เป็นต้น

หลายคนอาจมีคำถามว่า อาการป่วยที่เป็นอยู่นี้จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องไปพบแพทย์ทุกครั้งที่แสดงอาการ หรือเมื่อไหร่ดีที่ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษา คำตอบที่เหมาะสมที่สุดจะต้องพิจารณาจากลักษณะอาการที่เกิดขึ้น กล่าวคือ หากอาการกลืนลำบากที่คุณเป็นอยู่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเกิดเฉพาะเวลาที่กลืนอาหารเร็วเกินไปหรือกลืนอาหารคำใหญ่เกินไป โดยยังไม่ได้บดเคี้ยวอาหารให้ละเอียดเพียงพอ ก็อาจไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ เพียงแต่ต้องปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหารให้เหมาะสมมากขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อใดที่อาการกลืนลำบากที่คุณเป็นอยู่เกิดขึ้นและคงอยู่นาน ไม่หายสักที ก็ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ?ของอาการที่เป็นอยู่ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขให้ถูกต้องตามแต่สาเหตุของอาการที่เป็น
นอกจากนี้ หากอาการกลืนลำบากที่คุณเป็นอยู่นั้น มีภาวะของการหายใจลำบากร่วมอยู่ด้วย ซึ่งอาจเกิดได้จากเกิดก้อนในทรวงอกกดทับลงที่หลอดอาหารและหลอดลม หากคุณกำลังเผชิญกับภาวะดังกล่าว ควรรีบส่งตัวเองไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะถ้ายังมัวแต่ชักช้า อาจเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการกลืนลำบากถือเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอื่นๆที่อันตรายมากยิ่งขึ้น หากรักษาไม่ถูกต้องหรือไม่ทันท่วงที “อาการกลืนลำบาก” นี้ ก็อาจจะพัฒนาจนกลายเป็นโรคมะเร็งในหลอดอาหารได้ด้วย ซึ่งก็จะทำให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่คนไข้เป็นอย่างมาก? และถือเป็นความทรมานอย่างเลือดเย็นที่คงไม่มีใครอยากพบเจอ ดังนั้น หากคุณเริ่มพบความผิดปกติในการรับประทานอาหาร ก็ให้เริ่มต้นสังเกตและติดตามอาการที่เป็นอยู่อย่างใกล้ชิด หากอาการที่เป็นอยู่ยังไม่ดีขึ้นในระยะเวลา 2-3 วัน ก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและหาทางแก้ไข ก่อนจะลุกลามเป็นปัญหาที่ยากเกินแก้