
การได้ยิน เป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นที่จะช่วยในการสื่อสารและสร้างความบันเทิงเริงใจให้แก่มนุษย์ แต่หากเราขาดการดูแลรักษา “หู” ให้ดี ก็อาจส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถได้ยินหรือได้ฟังอะไรอีกต่อไปเลย ก็เป็นได้
การสูญเสียการได้ยิน นับเป็นฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากจะเผชิญ ซึ่งภาวะอาการเช่นนี้ สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ดังต่อไปนี้
ประเภทแรก คือ การสูญเสียการได้ยินชนิด “การนำเสียงบกพร่อง” ซึ่งจะเกิดปัญหาบริเวณหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลางที่ปิดกั้นไม่ให้เสียงถูกส่งต่อไปอย่างเหมาะสม แล้วส่งผลทำให้เราได้ยินเสียงได้ไม่ชัดเจนดังเดิมนั่นเอง การสูญเสียการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่องมักมีระดับความรุนแรงอยู่ในระดับต่ำหรือปานกลางตั้งแต่ 25 ถึง?65?เดซิเบล และบางครั้งอาจเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งระดับความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาด้วย ทั้งนี้การรักษาด้วยการให้ยาหรือการผ่าตัดสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ หรืออาจใช้วิธีบรรเทาอาการดังกล่าวด้วยการใช้เครื่องช่วยฟังหรือฝังประสาทหูชั้นกลางเทียมลงไปทดแทนส่วนที่เสื่อมไปก็ได้
ประเภทต่อมาจะมีความรุนแรงมากกว่าในแบบแรก เรียกว่าการสูญเสียการได้ยินชนิด “ประสาทรับฟังเสียงบกพร่อง” การสูญเสียการได้ยินชนิดนี้เกิดจากการที่เซลล์รับเสียง(เซลล์ขน)ขาดหายไปหรือได้รับความเสียหาย แบ่งระดับอาการออกได้เป็นขั้นต้น ขั้นปานกลาง และ ขั้นรุนแรงหรือหูหนวกโดยสมบูรณ์ สำหรับการรักษา โดยส่วนใหญ่แล้วจะบรรเทาอาการด้วยการใช้เครื่องช่วยฟังหรือหูชั้นกลางเทียม แต่ถ้าหากเป็นการสูญเสียการได้ยินในขั้นรุนแรงในระดับหูหนวกมักจะต้องใช้การรักษาโดยการผ่าตัดประสาทหูเทียมแทน นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการไม่ได้ยินเพียงเฉพาะการรับฟังเสียงที่มีความถี่สูงเท่านั้น หรือที่เรียกกันว่า “อาการหูหนวกบางส่วน” ซึ่งสาเหตุเกิดเนื่องมาจากมีเพียงเซลล์ขนเพียงบางบริเวณเท่านั้นที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งมักจะเป็นในส่วนบริเวณเริ่มต้นของก้นหอย ส่วนบริเวณด้านในส่วนปลายที่ทำหน้าที่รับแปลงเสียงที่มีความถี่ต่ำยังคงทำงานได้อย่างสมบูรณ์อยู่ ซึ่งการแก้ไขสามารถใช้ Electric Acoustic Stimulation หรือ EAS ชนิดผสมผสาน บรรเทาอาการดังกล่าวได้
อีกหนึ่งกรณีที่เกิดจากการรับฟังเสียงบกพร่อง ก็คือ “โรคหูดับฉับพลัน” หรือหมายถึงการที่ประสาทหูเกิดการเสื่อมแบบทันทีทันใดภายในระยะเวลาสั้นๆ? ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจมีอาการเพียงแค่รู้สึกได้ยินเสียงน้อยลง หรืออาจจะรู้สึกสูญเสียการได้ยินมากจนไม่ได้ยินเสียงเลยก็เป็นได้??การสูญเสียการได้ยินประเภทนี้อาจเป็นเพียงอาการชั่วคราวที่รักษาได้โดยการพักหูหรือการรับประทานยาบางชนิด หรืออาจเป็นอาการแบบถาวรจนถึงขั้นหูหนวกเลยก็เป็นได้?หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหรือทันเวลา
ประเภทต่อมาเป็นการสูญเสียการได้ยินแบบผสม ระหว่างการสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทรับฟังเสียงบกพร่องและชนิดการนำเสียงบกพร่อง ซึ่งความผิดปกติเกิดได้ทั้งบริเวณหูชั้นใน หูชั้นกลาง หรือหูชั้นนอก แนวทางในการรักษาก็มีได้หลากหลายแบบ โดยอาจใช้วิธีการให้ยา การผ่าตัด ใช้เครื่องช่วยฟัง หรือผ่าตัดประสาทหูชั้นกลางเทียม ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงที่ผู้ป่วยแต่ละรายพบเจอด้วย?

สำหรับความผิดปกติประเภทต่อมา ก็คือ การที่เส้นประสาทการได้ยินคู่ที่ 8 ขาดหายหรือเกิดความเสียหาย จนนำไปสู่อาการสูญเสียการได้ยินชนิด “ประสาทหูเสื่อม” อาการสูญเสียการได้ยินชนิดนี้มักเป็นโดยสมบูรณ์?และไม่อาจใช้เครื่องช่วยฟังและประสาทหูเทียมในการรักษาได้ เนื่องจากไม่มีเส้นประสาทที่จะคอยเชื่อมต่อข้อมูลเสียงไปยังสมองได้อีกแล้ว
จากข้อมูลขั้นต้น หลายๆท่านอาจจะเริ่มมีความวิตกกังวลว่าอาการดังกล่าวนี้จะมีโอกาสเกิดขึ้นกับตนเองได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยวิธีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง หรือหากจำเป็นจะต้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวก็จะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียง เพื่อลดความดังของเสียงก่อนผ่านเข้าสู่หูของเรา นอกจากนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อประสาทหู เช่น Aspirin, amino glycoside, quinine เป็นต้น รวมถึงการหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหูด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่มีผลเสียต่อหูได้เช่นกัน ก็คือ การติดเชื้อจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนหรือติดเชื้อภายในหูเอง ดังนั้น การพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ก็จะส่งผลให้โอกาสในการสูญเสียการได้ยินลดต่ำลงได้นั่นเอง
นอกเหนือจากการประพฤติตนให้เหมาะสมแล้ว การหมั่นตรวจวัดระดับการได้ยินเป็นระยะๆเมื่อเริ่มมีความรู้สึกผิดปกติทางการได้ยินก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ เพื่อที่จะสามารถประเมินอาการได้ว่า ความผิดปกติที่คุณเป็นอยู่นั้นเกิดมาจากสาเหตุสำคัญด้านใด และจะต้องรักษาอาการผิดปกติเหล่านั้นอย่างไร เพื่อที่จะได้กลับมาได้ยินเสียงได้เต็มที่อีกครั้งหนึ่ง
การดูแลอวัยวะทุกชิ้นในร่างกาย นับเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญให้มากเท่าๆกัน เพราะแน่ใจได้เลยว่า คงไม่มีใครที่อยากจะกลายเป็นคนพิการที่สูญเสียสมรรถภาพทางการได้ยินไปก่อนวัยอันควรหรอก ฉะนั้น การดูแลเอาใจใส่หูและการตรวจเช็คร่างกายประจำปี จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยคัดกรองความผิดปกติไม่ให้เกิดขึ้นกับคุณได้ และทำให้โลกของคุณยังคงมีเสียงที่ไพเราะต่อไปได้อีกนานเท่านาน