บทความน่ารู้

จังหวะหัวใจที่ไม่เหมือนเดิม

หัวใจ อวัยวะหลักที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อนำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย การดูแลหัวใจให้เป็นปกติจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรละเลย

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะที่หัวใจเต้นผิดปกติไปจากเดิม โดยอาจเป็นไปได้ทั้งการเต้นเร็วเกินไปหรือเต้นช้าเกินไป มีผลทำให้การสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเก่า ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายโดยเสี่ยงต่อโรคหัวใจล้มเหลวได้

 

clip_image001

ภาพจาก : http://www.khaosod.co.th/view_news.php

อาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณอาจมีแนวโน้มของการเป็นโรคภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ อาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่นหวิว หายใจติดขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก หรือบางรายอาจเป็นลมหมดสติไปเลยก็มี

ตามปกติ กลไกการเต้นของหัวใจจะถูกควบคุมโดยกระแสไฟฟ้าที่ส่งมาจากเนื้อเยื่อบริเวณหัวใจห้องบนขวา ทำให้โดยทั่วไป หัวใจของคนเราจะเต้นอยู่ระหว่าง 50-100 ครั้งต่อนาที อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจเกิดจากจังหวะหัวใจที่ขาดหายไปหรือแทรกเข้ามาก่อนจังหวะปกติ บางชนิดอาจไม่เป็นอันตราย แต่บางชนิดหากไม่ได้รับการตรวจรักษา อาจส่งผลร้ายแรงถึงแก่ชีวิตก็เป็นได้

การตรวจวินิจฉัย ทำได้โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) แต่ทางการแพทย์พบว่าบางครั้งไม่สามารถใช้วิธีนี้ในการตรวจได้ เนื่องจากความผิดปกติอาจเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ จึงมีอีกวิธีที่เรียกว่า การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test) บันทึกค่าการทำงานของหัวใจอย่างต่อเนื่อง 24-48 ชั่วโมง หรืออาจใช้วิธีตรวจระบบการนำไฟฟ้าในหัวใจ (cardiac electrophysiology study) โดยใช้สายสวนหัวใจสอดไปตามหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้ทราบตำแหน่งของความผิดปกติที่แน่นอนได้

clip_image002

ภาพจาก : http://www.medicalhealthtests.com/do-i-really-need-a-stress-test-slideshow.html

การรักษาจะต้องพิจารณาจากสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค การรักษามีหลายวิธี เริ่มตั้งแต่การใช้ยา การใช้ไฟฟ้าปรับการเต้นของหัวใจ การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติ การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น ซึ่งการเลือกวิธีในการรักษาแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยในแต่ละราย

การลดการดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับการลดการสูบบุหรี่และการหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะเป็นพฤติกรรมที่ช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้ได้

Sending
User Review
0 (0 votes)
error

Enjoy this blog? Please spread the word :)