อาหารกินเล่นหรือขนมขบเคี้ยว จัดเป็นหนึ่งในประเภทอาหารที่มีให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย เรียกได้ว่ามองไปทางไหนก็สามารถหาซื้อได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วไปซะหมด ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ตามแต่ความต้องการ ทั้งที่เป็นมันฝรั่งทอด ป๊อปคอร์น บิสกิต เวเฟอร์ ปลาเส้น รวมไปถึง “สาหร่ายปรุงรส” ที่เป็นอีกหนึ่งความนิยมที่ติดตลาดอย่างมากในปัจจุบัน

ภาพจาก : http://www.thaitechno.net/t1/knowledge_detail.php?id=1655&uid=41998
สาหร่าย นับเป็นอาหารหรือขนมที่นิยมรับประทานกันอย่างมากในกลุ่มคนหลายวัย ซึ่งก็อาจพบเห็นทั้งในรูปแบบที่เป็นสาหร่ายทะเลสด สาหร่ายทะเลชนิดแผ่นอบแห้งไม่ปรุงรส (จีฉ่าย) และสาหร่ายแผ่นปรุงรส ที่โดยส่วนใหญ่มักถูกบริโภคในรูปแบบของอาหารมื้อหลักหรือเพื่อรองท้องระหว่างมื้ออาหาร เมื่อพิจารณาในด้านของคุณค่าทางสารอาหารของสาหร่ายทั้งสามประเภทนี้ จะพบว่า การรับประทานสาหร่ายแบบสดหรือสาหร่ายที่ไม่มีการปรุงรสจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโปรตีนสูงถึง 10-40 กรัมต่อสาหร่าย 100 กรัม ซึ่งจัดเป็นแหล่งของโปรตีนที่มีคุณภาพเทียบเคียงกับเนื้อสัตว์ได้เลย นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยใยอาหาร(Dietary fiber) ที่มีปริมาณสูงตั้งแต่ 27-41 กรัมต่อสาหร่าย 100 กรัม การนำสาหร่ายสดหรือสาหร่ายแบบไม่ปรุงรสไปใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ แต่ก็ยังต้องการโปรตีนจากอาหารอยู่
ในส่วนของสาหร่ายปรุงรส ก็เป็นอีกหนึ่งในอาหารที่เป็นที่ชื่นชอบของคนในทุกเพศทุกวัย เพราะด้วยรสชาติที่อร่อย กลมกล่อม และให้พลังงานต่ำ จึงไม่ยากเลยที่สาหร่ายปรุงรสจะเข้าไปนั่งอยู่ในใจใครหลายต่อหลายคน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระวังให้มาก ก็คือ เครื่องปรุงรสที่ช้ในการเสริมรสชาติของสาหร่ายนั้นๆ ที่ในบางครั้งอาจทำให้ร่างกายของเราได้รับสารอาหารที่ไร้ประโยชน์เกินกว่าปริมาณที่ร่างกายจะรับได้ได้
จากผลการวิจัย พบว่า ในสาหร่ายปรุงรสบรรจุซองมีปริมาณผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมส) สูงกว่าสาหร่ายชนิดไม่ปรุงรสประมาณ 2-7 เท่า และยังมีปริมาณโซเดียมที่มากกว่าถึง 2-4 เท่าด้วย ดังนั้น การรับประทานสาหร่ายปรุงรสจึงไม่เหมาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับไต
อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคทั่วๆไปก็ยังคงสามารถรับประทานสาหร่ายปรุงรสได้อย่างเป็นปกติอยู่ หากมีการควบคุมปริมาณในการรับประทานที่เหมาะสมและไม่มากจนเกินไป ซึ่งผลวิเคราะห์เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจาก
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ซึ่งเป็นประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม แห่งภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วว่า การบริโภคขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่ายปรุงรสส่งผลให้ได้รับปริมาณโซเดียมเฉลี่ยประมาณ 100 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ส่งผลให้สามารถบริโภคได้หลายซองภายใต้ปริมาณที่ร่างกายยังสามารถรับได้ที่วันละ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนักโภชนาการที่แนะนำให้บริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของร่างกายจะมีการขับโซเดียมส่วนเกินออกในรูปแบบของปัสสาวะอยู่แล้ว เพื่อปรับสมดุลของระบบของเหลวในร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ
และไม่ใช่เพียงแค่ “สาหร่ายปรุงรส” เท่านั้นที่มีปริมาณโซเดียมสูง แต่ขนมขบเคี้ยวอื่นๆ เช่น ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์ และปลาเส้น เป็นต้น ก็ล้วนแต่มีการปรุงแต่งเครื่องปรุงรส ซึ่งอาจส่งผลให้มีปริมาณโซเดียมมากหรือน้อยตามแต่รสชาติที่ฝ่ายวิจัยพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์เอาไว้ รวมไปถึงอาหารกึ่งสำเร็จรูปอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็นับเป็นอีกหนึ่งชนิดอาหารที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากพบว่ามีปริมาณของโซเดียมเฉลี่ยสูงถึง 2,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้เอง ผู้บริโภคจึงจำเป็นจะต้องสังเกตฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้ออาหารหรือขนมที่ตนเองต้องการรับประทาน การพิจารณาเพียงแค่รสชาติที่ชื่นชอบเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ หากยังคงต้องการความปลอดภัยในการบริโภคอยู่ นอกจากนี้ ยังต้องสังเกตลักษณะของบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ภายในด้วยว่ามีความผิดปกติไปจากที่ควรจะเป็นหรือไม่
โดยหากเป็นสาหร่ายประเภทรับประทานสด สาหร่ายควรจะมีสีเขียวเข้ม แผ่นหนา มีเมือกเคลือบ และมีกลิ่นคาวเล็กน้อย ส่วนสาหร่ายแห้งที่ไม่ปรุงรสควรมีเนื้อที่กรอบ ไม่นิ่ม มีสีเขียวเข้ม เป็นมันเงา มีกลิ่นหอมของสาหร่าย ไม่มีเชื้อรา ไม่มีฝุ่นผงหรือสิ่งเจือปนแปลกปลอมอื่นๆ ส่วนสุดท้ายที่เป็นสาหร่ายปรุงรสมักจะต้องบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สามารถป้องกันแสงหรืออากาศได้ดีเพื่อยืดอายุการเก็บของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งควรมีเนื้อสัมผัสที่กรอบเพื่อแสดงให้เห็นว่ายังไม่มีการดูดความชื้นจากภายนอก
นอกจากนี้ ก่อนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สาหร่ายทุกชนิดก็ควรสังเกตวันผลิตหรือวันหมดอายุ รวมถึงเครื่องหมายรับประกันความปลอดภัยอย่าง “เครื่องหมาย อย.” เพื่อเป็นหนึ่งในการการันตีคุณภาพความปลอดภัย
แม้จะมีการยืนยันจากนักวิชาการและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วว่า สามารถรับประทานสาหร่ายปรุงรสได้อย่างปลอดภัยแล้ว แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรบริโภคอาหารให้หลากหลายและครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่ซ้ำซากจำเจ และเกิดประโยชน์ต่อร่างกายอย่างสูงสุด
อาหารหรือขนมขบเคี้ยวทุกประเภท สามารถรับประทานให้เกิดประโยชน์หรือรับประทานให้เกิดโทษได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกรับประทานในแนวทางไหน ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากจะได้รับอันตรายจากการรับประทานอาหารที่ชอบเป็นแน่ ดังนั้น การรู้จักสังเกตจึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่เหมาะสมก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าที่คุณชอบนั่นเอง