น้ำตาลจัดอยู่ในสารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น กลูโคส ฟรุกโทส แล็กโทส ซูโครส เป็นต้น ประโยชน์ทางโภชนาการอย่างหนึ่งของน้ำตาลคือเป็นแหล่งให้พลังงาน แต่การบริโภคน้ำตาลที่มากเกินความต้องการของร่างกายอาจก่อให้เกิดปัญหาน้ำหนักเกินหรือปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆตามมา ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นหาน้ำตาลเทียมซึ่งเป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลเพื่อที่จะลดปริมาณแคลอรีให้ต่ำลงและเหมาะต่อการใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ภาพจาก : http://www.kanzuksa.com/Radio.asp?data=252
น้ำตาลเทียมมีอยู่มากมายหลากหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น
ขัณฑสกรหรือแซกคาริน (Saccharin) เป็นน้ำตาลเทียมที่มีความหวานสูงกว่าน้ำตาลถึง 300-700 เท่า มีรสชาติหวานจัดและติดลิ้น อาจรู้สึกขมหากใช้ในปริมาณมาก สารนี้ไม่ให้พลังงานจึงเป็นที่ใช้กันแพร่หลายในอาหารควบคุมน้ำหนักพลังงานต่ำ
ไซคลาเมต (cyclamate) มีความหวานสูงกว่าน้ำตาลทราย 30 เท่าและไม่ให้พลังงาน เนื่องจากความหวานไม่สูงมากนักจึงทำให้อาหารไม่ออกรสหวานเอียนหรือขมเวลากิน และไม่ทำให้ได้รสหวานติดลิ้นอยู่หลังจากกินอาหารนั้นหมดแล้ว
แอสพาเทม (Aspartame) ให้ความหวานสูงกว่าน้ำตาลทราย 200 เท่า แต่เป็นสารให้ความหวานที่มีขีดจำกัดในด้านการใช้ เนื่องจากสลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อนและเมื่อสภาพความเป็นกรด-ด่างไม่เหมาะสม ทำให้สูญเสียคุณสมบัติในการให้ความหวานไป อย่างไรก็ตามข้อควรระวังในการบริโภคAspartame คือ สารนี้อาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีโรคอันเนื่องมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า ?เฟนิลคีโตนูเรีย? (Phenylketonuria-PKU) เพราะบุคคลเหล่านี้จะไม่สามารถใช้และกำจัดเฟนิลอะลานีนซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของAspartameได้อย่างปกติ ทำให้เกิดการสะสมของสารเคมีบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อสมอง องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงกำหนดให้มีการระบุในฉลาก ถ้าอาหารใดมีAspartameเป็นส่วนประกอบ
เอซีซัลเฟม เค (acesulfame K)ให้ความหวานสูงกว่าน้ำตาลทราย 200 เท่า และไม่ให้พลังงาน ปัจจุบันมีการใช้สารให้รสหวานชนิดนี้ในน้ำอัดลม เครื่องดื่มอื่นๆ ลูกกวาด และของหวานต่างๆ เป็นต้น
การเลือกใช้น้ำตาลเทียมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษารายละเอียดในด้านความปลอดภัย เพราะสารเหล่านี้ล้วนได้มาจากปฏิกิริยาทางเคมีที่อาจเป็นอันตรายได้ต่อคนบางกลุ่ม อย่างไรก็ตามการรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและศึกษาฉลากอาหารก่อนทุกครั้งจะเป็นการป้องกันอันตรายเบื้องต้นให้แก่คุณได้อย่างแน่นอน