Uncategorized, บทความน่ารู้

เสียงที่เปลี่ยน

    “เสียง” เป็นตัวกลางในการสื่อสารที่นิยมใช้เพื่ออธิบายข้อมูลหรือความรู้สึกระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง การจะเกิดเป็นเสียงขึ้นมานั้นจะต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันของระบบต่างๆ ได้แก่ ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และอวัยวะภายในช่องปาก หากมีส่วนใดส่วนหนึ่งทำงานบกพร่องไป ก็ย่อมส่งผลต่อการเปร่งเสียงที่ผิดปกติไปได้นั่นเอง

เสียงที่เปลี่ยน
เสียงที่เปลี่ยน

    “เสียง” เกิดจากลมหายใจที่ผ่านออกจากปอดและหลอดลมไปยังสายเสียง ช่วงที่เราพูด กล้ามเนื้อของสายเสียงจะดึงสายเสียงให้เข้ามาชิดกัน ลมจากปอดนี้จะดันให้สายเสียงเปิดหรือปิด มีผลให้สายเสียงเกิดการสั่นสะเทือน จนเกิดเป็นเสียงขึ้นมา

    จะเห็นได้ว่าสายเสียงเป็นอวัยวะที่สำคัญในการสร้างเสียงเป็นอย่างมาก  หากเกิดปัญหากับสายเสียง เช่น ใช้เสียงผิดวิธี หรือ เกิดการติดเชื้อของสายเสียง ก็จะส่งผลทำให้เกิดอาการสายเสียงอักเสบ  บวมแดง  เกิดตุ่มที่สายเสียงขึ้นได้ และก็จะส่งผลต่อการออกเสียงที่มีคุณภาพแย่ลง  ทำให้เกิดเสียงแหบแห้ง หรือเสียงหายตามมาได้
สายเสียงอักเสบสามารถพบได้บ่อยในคนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด  เจ็บคอ  ไอ  สูบบุหรี่  ดื่มสุราจัด หรือผู้ที่ใช้เสียงมากเกินไป จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณจะเคยได้ยินว่า นักร้องบางคนจำเป็นต้องหยุดใช้เสียงไปชั่วคราว เนื่องจากเกิดอาการเส้นเสียงอักเสบนั่นเอง

       โดยทั่วไปแล้ว อาการสายเสียงอักเสบ สามารถแบ่งเป็นหลักๆออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่ 1) สายเสียงอักเสบเฉียบพลัน อาการของสายเสียงอักเสบประเภทนี้จะเป็นแบบชั่วคราวไม่เกิน 3 สัปดาห์ และผู้ป่วยมักจะมีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ส่วนชนิดที่ 2) สายเสียงอักเสบเรื้อรัง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการประเภทนี้มักจะต้องพักการใช้เสียงนานเกิน 3 สัปดาห์ และมักจะเป็นๆหายๆ ไปตลอดขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ

    ที่นี้ เรามาดูถึงสาเหตุในการเกิดอาการกันแบบเจาะลึกกันเลยดีกว่า จะได้รู้ว่า คุณนั้นกำลังเข้าข่ายบุคคลที่อาจจะเกิดอาการเส้นเสียงอักเสบหรือไม่

เสียงที่เปลี่ยน
เสียงที่เปลี่ยน

    ใครที่มักจะมีอาการเป็นหวัด หรือมีการอักเสบของบริเวณช่องจมูกและภายในคอ ที่เกิดมาจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อวัณโรค การอักเสบนี้อาจจะมีผลลามต่อไปถึงกล่องเสียงและสายเสียง ทำให้สายเสียงอักเสบได้ โดยหากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียอาจมีอาการอยู่นานประมาณ 1-3 สัปดาห์  แต่ถ้าเป็นเชื้อราและเชื้อวัณโรค จะทำให้เกิดการอักเสบของสายเสียงนานเป็นแรมเดือนได้เลยทีเดียว นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการไข้ ไอเรื้อรัง หรือน้ำหนักลดร่วมด้วย
สาเหตุต่อมา เกิดขึ้นได้จากการได้รับแรงกระแทกบริเวณกล่องเสียง หรือการหายใจเอาไอร้อนจัดของสารเคมีหรือแก๊ส ส่งผลทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย และมีผลทำให้สายเสียงอักเสบได้ด้วยเช่นกัน

    อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดเส้นเสียงอักเสบไม่แพ้กันก็คือ การใช้เสียงที่ผิดวิธีจนติดนิสัย บางคนก็ชอบตะโกนโวกเวกโวยวาย หรือบางคนอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้เสียงต่อกันนานๆได้ เนื่องจากเป็นหนึ่งในกิจวัตรที่ต้องทำเป็นประจำ เช่น นักร้อง นักพูด หรือนักเทศน์ เป็นต้น

    ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลให้เส้นเสียงโดนทำลายได้มากขึ้น ก็คือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดๆ เช่น การสูบบุหรี่จัด การดื่มสุราจัด หรือแม้กระทั่งการที่น้ำย่อยจากโรคกรดไหลย้อนไหลย้อนกลับไปที่กล่องเสียง ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบหรือเจ็บคอในช่วงหลังการตื่นนอนตอนเช้า และทุเลาลงในช่วงสายๆของวัน

    เมื่อคุณเริ่มรู้ตัวว่าตัวเองเริ่มมีความผิดปกติของเส้นเสียง ก็อย่ามัวรีรอ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ ซึ่งการตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจลักษณะของเส้นเสียง ว่ามีความผิดปกติหรือมีการบวมหรือไม่ ตรวจการทำงานของเส้นเสียงเมื่อเราเปล่งออกเสียงต่างๆ หรือใช้กล้องเลนส์พิเศษสอดเข้าไปทางปากหรือจมูกเพื่อดูรายละเอียดของสายเสียง หากตรวจพบก้อนเนื้อที่ผิดปกติบนสายเสียง แพทย์ก็จะตัดเอาชิ้นเนื้อเล็กๆนั้นออกมาเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป

         หากรู้ตัวแล้วว่าคุณกำลังมีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับเส้นเสียงอยู่ สิ่งที่ควรทำมากที่สุด ก็คือพยายามพูดให้น้อยที่สุด หรือพยายามไม่ใช้เสียงเลย นอกจากนี้ ก็ควรงดดื่มสุรา กาแฟ หรือน้ำอัดลม และเน้นการดื่มน้ำอุ่นให้มากๆ พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่ที่มีสารระคายเคืองต่อสายเสียงอย่างฝุ่นหรือควัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้อาการป่วยที่เป็นอยู่ค่อยๆทุเลาลงทีละน้อยๆ และทำให้การรักษาด้วยยาของแพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น

    แต่ถ้าใครไม่อยากที่จะต้องเผชิญหน้ากับอาการเหล่านี้ ก็อาจจะป้องกันตัวเองได้โดยการพูดด้วยเสียงที่ดังพอเหมาะ  ไม่ตะโกนหรือกรีดร้องบ่อยๆ หมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่สัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างเพียงพอ หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าจัด และหลีกเลี่ยงการใช้เสียงมากเกินไป

    การถนอมรักษาเสียงด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้เราสามารถมีเสียงที่สดใส และอยู่ร่วมกันกับเราไปได้อย่างยาวนานตราบใดที่ยังไม่หมดลมหายใจ

Sending
User Review
0 (0 votes)
error

Enjoy this blog? Please spread the word :)