การเลือก แก้วน้ำ ก่อนดื่ม
แก้วน้ำกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเลือกที่จะพกติดตัวเพื่อใช้ในการบรรจุน้ำดื่ม เพราะสามารถช่วยลดการใช้พลาสติกจากขวดน้ำพลาสติกลงได้ ทั้งนี้ แก้วน้ำก็มีให้เลือกหลากหลาย ออกแบบมามากมายหลายแบบ วัสดุที่ใช้ในการผลิตก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับดีไซน์และวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ซึ่งความแตกต่างของแก้วน้ำเหล่านี้อาจทำให้ไม่สามารถที่จะใช้ในการบรรจุเครื่องดื่มในบางชนิดได้ เนื่องมาด้วยวัสดุนั้นๆไม่เหมาะสมในการบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่มบางประเภท หรืออาจจะทำให้เกิดการละลายของสารบางอย่างออกมา และเสี่ยงต่อการบริโภคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้แก้วน้ำให้ถูกประเภทหรือถูกแบบ เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนของสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย

วัสดุที่ใช้ในการทำแก้วน้ำมีได้หลากหลายแบบ บางชนิดก็ออกแบบมาไว้เพียงเพื่อแค่ความสวยงาม หรืออาจจะเสริมฟังก์ชันอื่นเข้ามาเพื่อเป็นลูกเล่นพิเศษ เช่น การเก็บอุณหภูมิร้อนหรือเย็น การเปลี่ยนสีเมื่อเปลี่ยนอุณหภูมิ น้ำหนักที่เบา หรือรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่
ไม่ว่าจะวัตถุประสงค์อะไร สิ่งที่เราต้องพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก ก็คือ วัสดุที่ใช้ในการผลิตแก้วน้ำนั้นคืออะไรกันแน่? มาลองกันดูกันดีกว่าว่าวัสดุแบบไหนที่ไม่ควรที่จะใช้หรือแบบไหนที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายได้
แก้วน้ำประเภทแรกที่ทุกคนจะต้องรู้จักกันอย่างแน่นอน ก็คือ แก้วกระดาษ ซึ่งถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆในสังคมปัจจุบัน เพราะเป็นเทรนด์ที่รักษ์โลกกว่าวัสดุชนิดอื่นๆ
แก้วกระดาษเป็นแก้วที่นิยมใช้ในกรณีที่เป็นการดื่มน้ำในที่สาธารณะ เพราะสามารถใช้แล้วทิ้งได้เลย ย่อยสลายในธรรมชาติได้ง่ายและรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม กระดาษที่นำมาใช้ในการผลิตแก้วก็มีหลายเกรด หากเป็นเกรดของกระดาษคุณภาพต่ำที่มีสารเคมีบางอย่างซ่อนอยู่ ก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะใช้ในการนำมาบรรจุเครื่องดื่ม เพราะอาจส่งผลให้เกิดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งได้หากมีการรับประทานต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะสาระสำคัญอย่างสารฟอกขาวกระดาษ ยิ่งเป็นสารที่ไม่ควรที่จะได้รับเข้าสู่ร่างกาย เพราะสารตัวนี้ถือเป็นตัวเร่งของการเกิดมะเร็งชั้นดี
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีแก้วกระดาษหลายๆแบบที่เหมาะสมที่จะใช้ในการบริโภคเครื่องดื่มได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะมีราคาที่สูงขึ้นมากว่าปกติ และไม่มีการผสมของสารฟอกขาว ซึ่งจะเป็นแก้วน้ำที่ปลอดภัยต่อการบริโภคมากกว่า

แก้วประเภทที่ 2 คือ แก้วพลาสติก ถือเป็นแก้วน้ำที่มีความนิยมใช้สูงมาก และมีความหลากหลายทางดีไซน์ที่สูงมากเช่นกัน
ประโยชน์ของแก้วพลาสติกที่เห็นกันได้ชัด คือ การเป็นแก้วน้ำที่มีน้ำหนักที่เบา และสามารถที่จะเล่นลวดลายได้มากมายหลากหลาย แต่แก้วพลาสติกก็อาจจะไม่เหมาะสมต่อการใส่น้ำที่มีอุณหภูมิร้อนจัดมากเกินไป เพราะหากเป็นพลาสติกที่มีคุณภาพไม่ดี ก็จะทำให้เกิดการละลายของสารเคมีบางอย่างในพลาสติกได้ โดยเฉพาะแก้วพลาสติกที่มีสีสันฉูดฉาด ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการละลายของสารสีที่อยู่ในแก้วนั้น หากนำไปใส่ในอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรดสูง ไม่ว่าจะเป็น น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้เปรี้ยวๆ โลหะหนักอาจจะละลายออกมาจากสารที่เคลือบอยู่บนแก้ว และเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายดาย ทั้งๆที่ร่างกายไม่ต้องการเลยแม้แต่น้อย
อีกหนึ่งประเภทของแก้วที่ควรที่จะต้องระวังด้วยเช่นกัน ก็คือ แก้วที่ทำมาจากวัสดุประเภท โลหะ แก้วประเภทนี้สามารถใส่น้ำดื่มที่เป็นน้ำเปล่าได้อย่างสบายใจ แต่หากนำไปใส่น้ำที่มีความเป็นกรดสูงหรือเป็นน้ำอัดลม กรณีที่เป็นโลหะคุณภาพต่ำที่ไม่เหมาะกับการนำมาเป็นวัสดุสำหรับสัมผัสกับอาหาร หรือไม่ใช่วัสดุ Food Grade ก็มีโอกาสที่โลหะเหล่านั้นจะหลุดออกมาจากแก้ว และเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายดายไปพร้อมกับอาหารที่เรารับประทาน
เพราะฉะนั้นหากจะเลือกใช้แก้วประเภทโลหะ ก็ต้องดูให้ดีว่าเป็นโลหะประเภท Food Grade หรือไม่ ก่อนที่จะเลือกใช้ในการบริโภคอาหาร
จะเห็นได้ว่าแก้วน้ำกลายเป็นภาชนะที่อันตรายสุดๆหากเราเลือกใช้ไม่ถูกต้อง เพราะมันจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้ร่างกายได้รับสารเคมีเข้าไปโดยที่เรายังไม่ทันได้ตั้งตัวเลยด้วยซ้ำ และอันตรายจะมากยิ่งขึ้นเมื่อความไม่รู้นั้นถูกสะสมเป็นระยะเวลานาน บริโภคติดต่อกันหลายๆปี และเมื่อเราแก่ตัวลง ความร้ายกาจของสารพิษที่สะสมในร่างกายเหล่านั้นก็จะถาโถมเข้ามาสู่เรา และทำให้เกิดเป็นโรคอะไรที่แก้ไขได้อย่างยากลำบาก
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีแก้วบางประเภทที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการที่จะนำมาบรรจุเครื่องดื่มในการดื่มรับประทาน เพราะมีอันตรายต่อร่างกายน้อยมากๆ ซึ่งนั่นก็คือวัสดุที่เป็น “แก้ว” เพราะเกิดปฏิกิริยากับสารอื่นๆได้น้อย แต่อาจจะไม่เหมาะกับเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุสักเท่าไหร่ หรือหากมีการใช้งานก็ต้องมีผู้ปกตรองดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะต้องระวังว่าวัสดุประเภทนี้จะเกิดการตกแตกหรือแตกร้าวได้ง่าย โดยเฉพาะหากนำไปใช้บรรจุเครื่องดื่มที่มีความแตกต่างของอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้เกิดการขยายหรือหดตัวของอนุภาคแก้วอย่างเฉียบพลัน ซึ่งมีผลกระทบให้แก้วแตกได้ง่ายกว่าเดิม