ผักเสริมแคลเซียม
หากพูดถึงการบำรุงกระดูและฟัน คนก็คงจะคิดถึงการดื่มนมวัวเพื่อเสริมสร้างแคลเซียมให้กับร่างกาย เพราะนมถือเป็นอาหารที่มีแคลเซียมอยู่ในปริมาณสูง ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่จึงมักจะนิยมดื่มนม เพื่อที่จะเสริมสร้างแคลเซียมให้แก่ร่างกายและทำให้กระดูกแข็งแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีอาหารอีกหลายๆประเภทที่สามารถที่จะให้แคลเซียมแก่ร่างกายได้เช่นกัน ทั้งนี้ จะเหมาะอย่างยิ่งสำหรับบางคนที่ไม่สามารถที่จะดื่มนมได้เนื่องจากภาวะอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแพ้แลคโตสในนม หรือไม่ชื่นชอบการดื่มนมเป็นทุนเดิม
คุณทราบหรือไม่ค่ะว่า? คุณสามารถที่จะรับประทานผักต่างๆเหล่านี้เพื่อเสริมสร้างแคลเซียมได้เช่นเดียวกับการดื่มนม ลองดูกันดีกว่าเขาว่าผักประเภทไหนบ้างที่มีแคลเซียมสูง และหากคุณต้องการที่จะดูแลกระดูกและฟัน ต้องไม่ลืมเลือกผักแบบนี้มารับประทานกันค่ะ
1 ใบมะกรูด ใบมะกรูดที่เป็นวัตถุดิบหลักในอาหารไทย เช่น ต้มยำ ต้มข่า เป็นต้น และเป็นผักที่มีปริมาณแคลเซียมที่สูงมาก โดยในใบมะกรูด 100 กรัมจะมีแคลเซียมสูงถึง 1672 mg ทำให้การรับประทานใบมะกรูดช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้มีความแข็งแรงมากขึ้นได้ ร่วมไปถึงยังมีสรรพคุณในการช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายต่างๆ บำรุงเส้นเอ็น บำรุงข้อกระดูก และช่วยป้องกันภาวะการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ดีด้วย

2 ใบชะพลู ตามมาที่ใบชะพลู ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งชนิดผักที่มีแคลเซียมสูงเช่นกัน หลายๆคนมักจะนิยมรับประทานใบชะพลูเป็นผักแกล้มกับอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เมี่ยงคำ แหนมเนือง เป็นต้น ให้รู้ไว้เลยว่าการรับประทานใบชะพลู 100 กรัมจะทำให้คุณได้รับแคลเซียมสูงถึง 600 mg ซึ่งถือว่ามีปริมาณที่สูงพอๆกับการดื่มนมวัวเลยทีเดียว ทำให้การรับประทานใบชะพลูช่วยในการทำให้กระดูกมีความแข็งแรงและเพิ่มมวลกระดูกได้ดีขึ้นด้วย
3 ผักแพว ก็เป็นอีกหนึ่งชนิดผักที่เป็นผักพื้นบ้าน นิยมกินเพียงกับอาหารไทยพื้นบ้านต่างๆมากมายเช่นเดียวกับใบชะพลู การรับประทานผักแพว 100 กรัมจะทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมสูงถึง 580 มิลลิกรัม ดังนั้น การรับประทานผักเหล่านี้จึงไม่ได้เพียงแค่ความอร่อยเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ที่คุณอาจจะไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยด้วย
4 ใบยอ ใบยอที่อยู่ในอาหารประเภทห่อหมกให้แคลเซียมสูงถึง 470 mg ต่อใบยอ 100 กรัม มากไปกว่านั้น ใบยอยังมีสรรพคุณเป็นยา ช่วยในเรื่องของการขับประจำเดือน บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้จุกเสียดแน่นท้อง และป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย ดังนั้น การรับประทานใบยอจึงกลายเป็นอาหารที่มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ
5 ผักกระเฉด เป็นอีกหนึ่งผักที่ไม่ได้อุดมไปแค่ไฟเบอร์หรือใยอาหารที่มีประโยชน์ต่อการย่อยอาหารเท่านั้น แต่ในผักกระเฉดยังมีแคลเซียมสูงถึง 390 มิลลิกรัมต่อผักกระเฉด 100 กรัม ดังนั้น การรับประทานผักกระเฉดบ่อยๆไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหารใดก็ตาม จึงช่วยให้คุณชะลอการเกิดโรคเกี่ยวกับกระดูกได้
6 ผักโขม ผักโขมเป็นผักที่โดดเด่นในเรื่องของการมีโฟเลตสูง ซึ่งเหมาะสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ และนอกเหนือจากประโยชน์เรื่องโฟเลตแล้ว ผักโขมยังเป็นผักที่มีแคลเซียมสูงถึง 350 มิลลิกรัมต่อผักโขม 100 กรัมด้วย ขนาดป็อปอายยังทานผักโขมเพื่อบำรุงร่างกายเลย ดังนั้น ผักโขมจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องการที่จะบำรุงกระดูก ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์หรือใครคนใดก็ตาม

7 ตำลึง ตำลึงเป็นผักปลูกง่ายตามรั้วบ้าน การที่เอาตำลึงมาใช้ในการประกอบอาหารจึงค่อนข้างแพร่หลาย และสามารถทำเมนูอร่อยๆได้เสมอ การรับประทานตำลึงทำให้คุณได้รับแคลเซียมในปริมาณที่ไม่น้อยเลย เพราะตำลึงให้แคลเซียมสูงถึง 125 มิลลิกรัมต่อผักตำลึง 100 กรัม ดังนั้น คนที่ชอบรับประทานเมนูที่มีส่วนผสมของตำลึงบ่อยๆ จะช่วยทำให้ร่างกายมีความแข็งแรง มีความหนาแน่นกระดูกมากขึ้น ลดโอกาสการเกิดโรคกระดูกพรุน และบำรุงลงลึกไปถึงการดูแลเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด รวมไปถึงระบบประสาทต่างๆให้ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้นด้วย
จะเห็นได้ว่าผักส่วนใหญ่ที่แนะนำมาว่าเป็นผักที่มีแคลเซียมสูงจะเป็นผักที่เราสามารถพบเห็นได้ในท้องตลาดทั่วๆไป เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่เคยรู้หรือหลงลืมไปว่ามันมีประโยชน์มากกว่าแค่การเป็นผักที่ทานเพื่อให้เกิดความอร่อย หรือเพื่อเหตุผลเกี่ยวกับการย่อยอาหารที่ดีในร่างกายเท่านั้น ผักจำนวนมากเหล่านี้ไม่ค่อยมีใครมาสนใจถึงสารอาหารสักเท่าไหร่ เพราะโดยส่วนใหญ่คนอาจจะมุ่งเน้นไปที่สารอาหารที่ได้จากเนื้อสัตว์เป็นหลัก จนหลงลืมไปว่าผักเองก็เป็นแหล่งของสารอาหารที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อร่างกายไม่น้องไปกว่าแหล่งอาหารอื่นๆเลย แถมราคาก็ไม่ได้แพงมาก เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ปลูกในประเทศไทยได้ทั้งนั้น
หากเรานำผักต่างๆเหล่านี้มาปรุงสุกให้ถูกวิธี รับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่างๆได้เป็นอย่างดี และคาดว่าจะเป็นประโยชน์เหล่านั้นจะตกถึงคุณอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างแคลเซียมหรือการเสริมสารอาหารอื่นๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ได้รับการบำรุงอย่างเต็มเปี่ยม และเกิดเป็นผลประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว