ทำไมต้องกลัวเบาหวาน
การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมอาจจะทำให้คุณมีสุขภาพที่แย่ลงได้ โดยเฉพาะใครที่ติดหวาน ปรุงน้ำตาลในจานอาหารก่อนรับประทานเสมอ เครื่องดื่มหวานหรือชาไข่มุกไม่เคยขาด และขาดน้ำตาลในมื้ออาหารไม่ได้เลย บุคคลกลุ่มนี้ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะมีสุขภาพที่ไม่ดีจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมได้
หนึ่งในปัญหาที่มักเกิดขึ้นเสมอกับคนที่ติดหวาน ก็คือ การมีอาการน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งหากมีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่ามาตรฐานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็จะก่อให้เกิดโรคเบาหวานตามมา
วันนี้…เราจะมาเรียนรู้กันว่าเมื่อไหร่ที่จะเรียกว่าคุณนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานแล้ว และทำไมถึงจะต้องลดน้ำตาลในเลือดด้วย หากปล่อยให้เกิดอาการเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร มาหาคำตอบกันได้เลย

โดยปกติแล้วคนทั่วๆไปเมื่อมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จะมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ถ้าเกิดว่าคุณมีระดับน้ำตาลสูงขึ้นมาอยู่ในระหว่าง 100 ถึง 125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะเริ่มถือว่าคุณนั้นเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และหากมีน้ำตาลสูงขึ้นไปอีก หรือมากกว่า 126 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และเมื่อมีการตรวจซ้ำแล้วก็ยังพบว่ามีปริมาณน้ำตาลที่สูงอย่างต่อเนื่อง จะเข้าข่ายว่าคุณนั้นป่วยเป็น “โรคเบาหวาน”
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานนั้นมีอยู่หลายกลุ่มคนด้วยกัน ใครกันบ้างที่ต้องระมัดระวังตัวเองมากกว่าคนอื่นๆมาลองเช็คกันหน่อยดีกว่า
กลุ่มคนแรก ก็คือ กลุ่มคนที่มีภาวะโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคนอ้วนที่ยิ่งมีอายุมากกว่า 40 ปี คุณจะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้สูงมากขึ้นไปอีก
กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นป่วยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน เนื่องจากโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ นั่นหมายความว่า ถ้าเกิดว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายของคุณเคยป่วยเป็นโรคเบาหวาน คุณก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าบุคคลอื่นทั่วๆไป
กลุ่มที่ 3 คือ คนที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิต โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานมักจะมาควบคู่กับการเป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย เพราะฉะนั้นหากป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ก็ต้องระวังการป่วยเป็นอีกโรคหนึ่งด้วยเช่นกัน
เมื่อทราบถึงกลุ่มเสี่ยงแล้ว ก็ต้องรู้ต่อว่าทำไมเราถึงต้องกลัวเกรงเจ้าโรคร้ายตัวนี้ด้วย เพราะหลายคนที่ป่วยเป็นโรคนี้ก็ไม่ได้มีอาการที่รุนแรงหรือมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตสูง การป่วยเป็นโรคเบาหวานมีผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างไรบ้าง และจะต้องทำอย่างไรเมื่อเริ่มรู้ตัวแล้วว่าเจ้าโรคนี้กำลังมีอิทธิพลกับชีวิตของเราอยู่
ทั้งนี้ อาการของโรคเบาหวานในระยะแรกจะยังไม่มีอาการใดเด่นชัดนัก แต่หากคุณมีน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะเกิดปัญหาตามมาได้มากมาย ดังนี้เช่น หิวน้ำบ่อย ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักตัวลด ตาพร่ามัว รู้สึกชาบริเวณมือและเท้า แผลหายช้า เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจเกิดหัวใจวายเฉียบพลันได้

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการติดตามระดับน้ำตาลในเลือด ก็คือ การติดตามภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นผลพ่วงมาจากโรคเบาหวาน เช่น การเกิดแผลเรื้อรัง แผลหายยาก หรือปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น
กรณีที่เบาหวานขึ้นตา ผู้ป่วยจะมีปัญหาในเรื่องของการมองเห็นเมื่อเกิดภาวะหลอดเลือดแตก มีผลทำให้จอประสาทตาเสื่อม ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะถูกมองข้ามมาโดยตลอด ทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ในภายหลัง อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็สามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับดวงตา รวมถึงอวัยวะส่วนอื่นๆ อย่างเช่น ไตหรือหัวใจได้ด้วย
ด้วยเหตุนี้…การป่วยเป็นโรคเบาหวานจึงต้องดูแลควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ โดยคุณหมออาจจะใช้วิธีการควบคุมอาหารพร้อมกับการออกกำลังกายในช่วงแรกก่อน หากไม่ได้ผลจะต้องอาศัยยาทานหรือยาฉีด แล้วแต่ความหนักหน่วงของผู้ป่วยในแต่ละราย
ในส่วนของการควบคุมอาหาร ประเด็นสำคัญที่ต้องลด คือ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง ขนมปัง น้ำหวาน ผลไม้รสหวาน เป็นต้น เพราะอาหารกลุ่มคาร์โบเดรตมีผลโดยตรงต่อระดับน้ำตาลในเลือด จึงต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ส่วนสารอาหารอื่นๆ ก็ต้องรับประทานให้ครบ 5 หมู่ รวมทั้งการพยายามควบคุมไขมันในแต่ละมื้อ เพราะไขมันก็เป็นอีกหนึ่งวายร้ายที่ส่งเสริมให้การเกิดโรครุนแรงมากกว่าเดิม
เมื่อทานอื่มก็ต้องหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะการออกกำลังกายเป็นหนึ่งในวิธีการดึงเอาพลังงานส่วนเกินไปใช้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ การออกกำลังกายก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เสมอ ทั้งนี้ แนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานออกกำลังกายในรูปแบบแอโรบิค หรือ มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ระดับ 50 – 70% ของชีพจรสูงสุดของแต่ละบุคคล ก็จะช่วยทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้
ส่วนการใช้ยาต้องใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น หากรับประทานไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบถึงตับหรือไตได้
โรคเบาหวานจะไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป หากเราใส่ใจและรู้วิธีการรับมืออย่างถูกวิธีค่ะ