สัญญาณร้ายของการนอนกรน
การนอนหลับกับการนอนกรนเป็นสิ่งทื่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แต่การนอนกรนอาจจะเป็นสัญญาณความอันตรายที่ไม่ได้บ่งบอกว่าคุณรู้สึกเหนื่อยจากการทำงานมากเกินไปเท่านั้น แต่ยังบอกถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจอีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ที่มีอาการนอนกรนประมาณ 30% ไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอื่นๆ ตามมา แต่อีกประมาณ 70% ต้องระมัดระวังว่า เสียงกรนที่เกิดขึ้นอาจจะนำท่านไปสู่ที่มาของโรคร้ายได้
หลายท่านอาจจะสงสัยว่า….เสียงกรน…..เกิดจากอะไร? เสียงกรนที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่ทางเดินหายใจส่วนบนบริเวณลำคอมีความแคบมากกว่าปกติ การออกแรงหายใจผ่านช่องทางเดินหายใจที่แคบลงกลายเป็นที่มาของเสียงกรนนั่นเอง
โรคร้ายที่แสดงออกผ่านทางเสียงกรนที่จะกล่าวถึงในที่นี้ ก็คือ โรคนอนหยุดหายใจชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเมื่อคนปกตินอนหลับจะมีกล้ามเนื้อที่คอยทำหน้าที่ตึงตัวและขยายทางเดินหายใจในช่องคอ
แต่สำหรับบางคนกล้ามเนื้อส่วนนี้อาจจะหย่อนตัวลง ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงหรือตีบมากขึ้น เมื่อช่องทางผ่านของลมหายใจน้อยลง การหายใจในขณะที่นอนหลับจึงเป็นไปอย่างลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สมองสามารถรับรู้ภาวะนี้และสั่งการให้เพิ่มความแรงในการหายใจจนกลายเป็นเสียงกรนในที่สุด
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้จะกระตุ้นให้สมองตื่นตัว เพื่อคอยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อช่องคอตลอดเวลา เมื่อวงจรเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆตลอดช่วงการนอน จึงเป็นการรบกวนการนอนหลับ หรือทำให้สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในขณะที่คุณนอนหลับนั่นเอง

แล้วเมื่อไรที่เริ่มจะต้องสงสัยแล้วว่าจะเป็นโรคนอนหยุดหายใจชนิดอุดกั้น?
เมื่อใดก็ตามที่การนอนกรนของคุณมีลักษณะดังต่อไปนี้ นั่นหมายความอาจจะไม่ใช่เสียงกรนธรรมดาๆอีกต่อไป แต่นั่น คือสัญญาณของโรคร้าย โดยมีสัญญาณที่ต้องตรวจติดตามดังต่อไปนี้
1. เสียงกรนดังมากจนกระทั่งไม่ได้ยินเสียงเปิด/ปิดประตู
2. เสียงกรนหยุดเป็นพักๆ ตามด้วยอาการสำลักในขณะที่กำลังนอนหลับ
3. มีคนสังเกตว่าผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ
4. เกิดภาวะง่วงนอนผิดปกติหรือแอบหลับในระหว่างวัน
5. ขาดสมาธิ ขี้ลืม
6. รู้สึกปวดศีรษะเมื่อตื่นนอนตอนเช้า
7. ลุกขึ้นปัสสาวะกลางดึกบ่อยครั้ง
8. ความรู้สึกทางเพศลดลง
หากพบว่ามีอาการต่างๆหลายๆอาการประกอบกัน ให้ต้องสงสัยไว้เลยว่าคุณอาจจะกำลังตกอยู่ในภาวะของโรคนอนหยุดหายใจชนิดอุดกั้นอยู่
จากอาการที่เกิดขึ้น ภาวะนี้จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยการรักษาจะต้องผ่านการซักถามอาการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาระดับความรุนแรงของอาการ และอาจมีการตรวจการนอนหลับ เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
ตัวอย่างวิธีการในการรักษาต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยหากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความรุนแรงปานกลางและรุนแรงมาก แพทย์อาจพิจารณาใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก ซึ่งถือเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมากที่สุด แต่หากมีอาการไม่รุนแรงมากนัก อาจจะใส่อุปกรณ์ทางทันตกรรม เพื่อปรับทางเดินหายใจและสะดวกต่อการหายใจมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาเฉพาะทางอื่นๆ ที่เป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุด้วยการผ่าตัดจุดที่ผิดปกติหรือตีบแคบ เช่น การผ่าตัดต่อมทอลซิล การผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นจมูกคด การผ่าตัดเพดานอ่อนหรือกระดูกกราม ซึ่งแน่นอนว่าการผ่าตัดในแต่ละอวัยวะจะแตกต่างไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าคุณนั้นมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ไหน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรมีการปฏิบัติตนให้เหมาะสม และสิ่งเหล่านี้ถือเป็นคำแนะนำทั่วๆไปที่จะสามารถช่วยลดภาวะความเสี่ยงการเกิดโรคนอนหยุดหายใจชนิดอุดกั้นได้ หรือช่วยให้การรักษาผู้ป่วยของโรคดังกล่าวได้รับผลที่ดีมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
-การนอนตะแคง
-การลดน้ำหนัก
-การลดการดื่มแอลกอฮอลล์
-การลดการสูบบุหรี่
-การรับประทานยานอนหลับต่างๆ
แต่สำหรับใครที่ไม่เห็นถึงความจำเป็นในการรักษา หรือไม่รู้ว่าตัวเองกำลังมีภาวะการป่วยในโรคดังกล่าวอยู่ เพราะนอนคนเดียวและไม่มีใครบอกว่าเรานอนกรน ก็ต้องคอยสำรวจตัวเองว่ามีอาการข้างต้นหรือไม่ ประสิทธิภาพการทำงานหรือการใช้ชีวิตลดลงหรือเปล่า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นกฌต้องตั้งข้อสงสัยถึงโรคนี้ไว้ด้วย
แต่ถ้ายังไม่ใส่ใจหรือปล่อยผ่านไปอีกหลายๆปี คุณอาจจะเกิดความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นในชีวิตในประจำวันได้ เริ่มตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำๆ เช่น เกิดภาวะง่วงนอนผิดปกติตลอดทั้งวัน ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายหากคุณเกิดผลอยหลับในขณะขับรถ จนสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนได้ หรือหากคุณต้องทำงานบางอย่างที่ต้องใช้สมาธิอย่างสูง อาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้ ซึ่งส่งผลต่อการประเมินผลงานปลายปีได้
ส่วนความรุนแรงที่มากไปกว่านั้น ก็คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือดแบบฉับพลัน โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน เป็นต้น ซึ่งเชื่อมโยงกับโรคนอนหยุดหายใจชนิดอุดกั้นนั่นเอง
การนอนคือการพักผ่อนร่างกายหลังจากที่ใช้ชีวิตอย่างหนักหน่วงมาตลอดทั้งวัน ดังนั้น ต้องมั่นใจว่าการนอนของเราไม่ส่งผลเสียต่ออวัยวะอื่นๆด้วย แม้ว่าเราจะไม่รู้ตัวในยามที่เราหลับใหลก็ตาม