การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, เกี่ยวกับโรค

ท้องอืดอันตราย

ท้องอืดอันตราย

ต้องยอมรับว่าอาการท้องอืดเป็นหนึ่งในความไม่สบายกายที่สามารถเกิดได้กับคนทุกคนทุกเพศทุกวัย เพราะในบางเวลา…เราอาจจะรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือใช้เวลาในการรับประทานอาหารรวดเร็วจนเกินไป หรือบ้างก็อาจจะขาดความใส่ใจในการที่จะรับประทานอาหารในแต่ละคำ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ทั้งสิ้น

อาการท้องอืด คือ การที่ร่างกายเกิดภาวะแน่นท้องเนื่องมาจากการมีแก๊สในกระเพาะอาหารที่มากเกินกว่าปกติ จนทำให้เกิดอาการท้องบวมขึ้นมาและส่งผลให้รู้สึกอึดอัดท้องตามมานั่นเอง หากเมื่อใดก็ตามที่อาการท้องอืดเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานโดยไม่ทราบว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ เป็นสิ่งสำคัญที่คุณควรที่จะต้องไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้

โดยส่วนใหญ่แล้ว…อาการท้องอืดเป็นลักษณะที่ระบุได้ยาก คนที่ท้องอืดส่วนใหญ่มักจะรู้สึกแน่นและไม่สบายท้อง มีอาการปวดท้อง มีลมในท้องจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการเรอหรือผายลมเพื่อระบายแก๊สส่วนเกินออกจากร่างกาย ในบางรายอาจจะมีการเสียงโครกครากภายในท้อง หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการอาเจียนและอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งอันตรายของมันสามารถรุนแรงได้จนถึงการหมดสติในทันที ซึ่งหากรุนแรงขนาดนั้นจะถือเป็นหนึ่งในสัญญาณสำคัญที่จะต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน

อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ ก็คือ อาการท้องอืดสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เราจะขอสรุปเราถึงสาเหตุที่สามารถทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ดังต่อไปนี้

1 เกิดจากการที่เรากลืนอากาศมากจนเกินไป การกลืนอากาศในที่นี้เกิดขึ้นมาจากกิจกรรมต่างๆที่มีการอ้าปาก ไม่ว่าจะเป็น การพูดคุย หัวเราะ การหายใจทางปาก เป็นต้น ทำให้ลมหรืออากาศเข้าไปอยู่ในท้องมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น และอากาศเหล่านั้นจะไหลไปตามระบบทางเดินอาหาร ลงไปตามลำไส้ สะสมอยู่ในช่องท้องจนทำให้เกิดอาการท้องอืดได้

2 การรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของแก๊ส เช่น เบียร์ น้ำอัลม เป็นต้น รวมไปถึงอาหารที่เมื่อรับประทานเข้าไปอยู่ร่างกายแล้ว จะสร้างแก๊สขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ถั่ว บล็อกโคลี่ เป็นต้น การที่เรารับประทานแก๊สหรืออาหารที่ทำให้เกิดแก๊สเข้าไปมากจนเกินไป จะทำให้เกิดเป็นอาการท้องอืดในที่สุด อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของอาการท้องอืดที่เกิดจากการรับประทานอาหารจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระบบการย่อยของแต่ละบุคคลด้วย

3 อาการท้องผูก ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการท้องผูกอาจจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องอืดตามมา แต่กรณีนี้จะไม่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร

4 การรับประทานยาบางชนิดยาบางชนิด เช่น ยาระงับอาการปวดชนิดเสพติด ยาเสริมธาตุเหล็ก หรือยารักษาอาการท้องผูก ยาเหล่านี้เมื่อรับประทานเข้าไปจะมีผลข้างเคียงที่ทำให้คุณเกิดอาการท้องอืดตามมาได้ ดังนั้น ก่อนรับประทานยาต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสียก่อน หากคุณเป็นหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการท้องอืดได้ง่าย

5 การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงของการมีประจำเดือน โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนที่จะมีประจำเดือนมักจะทำให้เกิดภาวะท้องอืดได้บ่อยกว่าช่วงอื่นๆ

6 ความอ่อนแอของผนังช่องท้อง สาเหตุที่เกี่ยวกับความอ่อนแอของผนังช่องท้องอาจเกิดมาจากการที่คุณเคยมีประวัติการผ่าตัดช่องท้องหรือมีการคลอดบุตรมาก่อน ซึ่งมีผลต่อการเกิดท้องอืดได้ด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจาก 6 ปัจจัยหลักที่กล่าวไปแล้ว ยังสามารถเกิดอาการท้องอืดได้จากปัจจัยอื่นๆได้อีกมากมาย แต่อาจจะมีโอกาสในการเกิดน้อยกว่า เช่นเป็นโรคอ้วน โรคกรดไหลย้อน กำลังตั้งครรภ์ การแพ้อาหารจำพวกโปรตีนจากนม การรับประทานอาหารเร็วจนเกินไป เนื้องอกในช่องท้อง โรคมะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งรังไข่ เป็นต้น

Young woman suffering from abdominal pain feeling stomachache Premium Photo
ท้องอืดอันตราย — ภาพจาก : https://www.freepik.com/premium-photo/young-woman-suffering-from-abdominal-pain-feeling-stomachache_5051177.htm#query=flatulence&position=15

เมื่อทราบแล้วว่าตัวเองเริ่มเกิดปัญหาท้องอื่นขึ้น การเข้าพบแพทย์จะถูกวินิจฉัยไปตามลำดับขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการซักถามคำถามเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต หรือการรับประทานยา และซักถามถึงปัญหาสุขภาพที่มีอยู่ จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจบริเวณท้องว่าว่ามีอาการบวมของท้องหรือไม่ อย่างไร ฟังเสียงการทำงานของระบบย่อยอาหาร และใช้มือกดเพื่อทดสอบความแข็งและอาการเจ็บปวดบริเวณท้อง ซึ่งหากวินิจฉัยว่าอาการที่เกิดขึ้นมีผลสืบเนื่องกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ก็อาจจะต้องมีการตรวจเชิงลึกลงไปที่อวัยวะต้องสงสัย เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก หรือการกลืนแบเรียม เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติบริเวณช่องท้อง เป็นต้น

การรักษาอาการท้องอืดจะต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องอืด ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาไซเมทิโคน ซึ่งเป็นยาลดกรดและช่วยลดแก๊สในกระเพาอาหาร จึงช่วยลดอาการท้องอืดและลดอาการอึดอัดในช่องท้องได้

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขที่แท้จริงคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องอืด ได้แก่

1 การเคี้ยวอาหารให้ช้าลง หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง ไม่ใช้หลอดดูดเครื่องดื่ม เพื่อป้องกันไม่ให้เผลอกลืนอากาศเข้าไปมากจนผิดปกติ

2 ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีการอัดแก๊ส เช่น น้ำอัดลม โซดา เป็นต้น หรือหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร

3 หลีกเลี่ยงสารให้ความหวานแทนน้ำตาลหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยเฉพาะซอลบิทอล

4 ปรับมื้ออาหารจาก 3 มื้อ เป็น 5-6 มื้อ เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ง่ายมากขึ้น

5 งดการสูบบุหรี่

เพียงเท่านี้ ก็ช่วยให้อาการท้องอืดลดน้อยลง และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นแล้ว

Sending
User Review
0 (0 votes)