RSV คือ อะไร?
ในช่วงสถานการณ์ที่โรคระบาดคุมคามเรามากมายแบบนี้ เชื่อว่านอกจากผู้ใหญ่จะต้องระวังตัวให้มากแล้ว เด็กๆที่ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสียงที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยได้ง่ายกว่าคนอื่นๆ เพราะนอกจากเชื้อไวรัส covid-19 ที่ต้องระวังแล้ว เด็กๆยังมีอีกหนึ่งเชื้อไวรัสที่นิยมป่วยกันมากในช่วงนี้ นั่นก็คือ เชื้อ RSV ซึ่งย่อมาจาก Respiratory Syncytial Virusนั่นเอง

RSV คืออะไรและทำไมถึงต้องเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุน้อยๆเท่านั้น ลองมาศึกษาเพื่อหาทางป้องกันไวรัสตัวนี้ก็เลยดีกว่าค่ะ
RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการรับเชื้อทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การจาม หรือการไอ หากมีการสัมผัสโดนละอองน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วยอื่น ก็มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคนี้ได้ ซึ่งเชื้อไวรัสนี้จะทำให้ระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่างติดเชื้อ ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาในจำนวนมาก และเป็นอันตรายอย่างมากต่อเด็กเล็ก
ในความเป็นจริงแล้วเชื้อ RSV สามารถติดต่อได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่การเกิดขึ้นในผู้ใหญ่มักจะสามารถหายป่วยเองได้ เนื่องมาจากผู้ใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันโรคที่สูงกว่า ในขณะที่เด็กเล็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ การติดเชื้อไวรัสตัวนี้จะทำให้เกิดอาการรุนแรง และยิ่งรุนแรงมากหากเด็กคนนั้นมีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
ทั้งนี้ เปอร์เซ็นต์ในการเสียชีวิตของเด็กที่มีการติดเชื้อไวรัส RSV ยังมีน้อยมาก เนื่องจากยังไม่ใช่เชื้อโรคที่ร้ายแรงจนสามารถฆ่าชีวิตคนได้
อย่างไรก็ตาม โอกาสการเสียชีวิตจากโรคนี้ก็ยังสามารถเกิดได้เช่นเดียวกัน แต่มักจะมาจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆมากกว่า เช่น เด็กคนนั้นอาจจะมีโรคประจำตัวเป็นโรคปอด โรคหัวใจ เป็นเด็กที่มีการคลอดก่อนกำหนด หรือมีภูมิคุ้มกันโรคที่ต่ำมากจริงๆ ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

สำหรับอาการที่มักจะแสดงออกสำหรับเด็กที่มีการติดเชื้อ RSV จะแสดงอาการในช่วง 3-7 วันหลังจากการติดเชื้อ โดยหากเป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจส่วนบน ก็จะมีอาการคล้ายๆกับการเป็นหวัด นั่นก็คือ การมีไข้ จาม มีน้ำมูกไหล หรือเจ็บคอ แต่หากเป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจส่วนล่างก็จะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า โดยอาการที่พบ คือ การไอแบบต่อเนื่อง หายใจเหนื่อยหอบ หรือหายใจมีเสียงหวีด บางรายมีความร้ายแรงจนถึงขั้นหายใจล้มเหลวจนต้องได้รับการช่วยหายใจอย่างเร่งด่วนก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
เนื่องมาจากการติดเชื้อ RSV ในเด็กเล็กอาจจะมีอุปสรรคในการรักษา เนื่องจากเด็กบางคนไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าเขานั้นมีอาการป่วยอยู่ ดังนั้น ผู้ปกครองจึงต้องมีการสังเกตอาการของลูกของคุณอยู่เสมอ หากรู้สึกว่าลูกของคุณนั้นไม่ร่าเริงเหมือนเดิม ซึม กินอาหารไม่เหมือนเดิม มีไข้สูงนานกว่า 2 วัน มีเสมหะ ไอถี่ๆ หายใจหอบเหนื่อย หรือหยุดหายใจเป็นพักๆ ต้องรีบนำมาหาหมอ และลองสำรวจดูว่ามีการติดเชื้อไวรัส RSV แล้วหรือยัง
ทั้งนี้การวินิจฉัยของแพทย์จะเป็นการตรวจหาเชื้อโดยใช้เสมหะจากบริเวณโพรงจมูกด้านหลัง หากในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น อาจจะมีการเอกซเรย์ปอดเพื่อดูสภาพของระบบทางเดินหายใจ และใช้ในการประกอบการวางแผนเพื่อรักษาโรค
สำหรับวิธีการที่จะป้องกันไม่ให้ลูกหลานของคุณติดเชื้อ RSV ได้นั้น จะต้องพยายามทำให้เด็กๆมีวินัยในการป้องกันตัวเอง เพราะโรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่ายมากเมื่อเด็กมีการเล่นหรือรวมกลุ่มด้วยกัน การป้องกันทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการล้างมือให้สะอาด มีการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปในพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน รวมถึงการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือให้ลูกเป็นประจำ และให้ลูกดื่มน้ำดื่มอย่างเพียงพอ หากเป็นกรณีของเด็กเล็กที่ยังไม่หย่านม จะต้องมีการแยกอุปกรณ์หรือภาชนะของเด็กแต่ละคน โดยไม่ใช้ร่วมกันเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อระหว่างกันและกัน
ในส่วนของการรักษา ในปัจจุบันยังไม่มียาตัวไหนที่จะมีความจำเพาะในการต้านเชื้อไวรัส RSV ดังนั้น การรักษาจะต้องเป็นการรักษาตามอาการ ในผู้ป่วยที่มีอาการที่ยังไม่รุนแรงหรืออาการคล้ายๆกับการเป็นหวัด ก็จะใช้วิธีการให้ยาลดไข้ และสังเกตอาการ แต่สำหรับในผู้ป่วยที่มีอาการที่รุนแรงมากขึ้นก็อาจจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์อาจจะมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือด และพิจารณาดูการหายใจของเด็กคนนั้นว่ามีการหอบเหนื่อยหรือมีเกณฑ์ที่จะเข้าข่ายภาวะการหายใจล้มเหลวหรือไม่ เพื่อที่จะช่วยไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้
จะเห็นได้ว่า RSV อาจจะไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กกลับถือเป็นไวรัสที่น่ากลัวและจำเป็นที่จะต้องดูแลบุตรหลานของคุณให้ดี เพื่อให้มั่นใจว่าจะปลอดภัยจากเชื้อไวรัสอันตรายตัวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วถ้าเกิดเด็กไปโรงเรียน การสัมผัสหรือการเล่นกับเพื่อนอาจจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสจากเพื่อนมาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควบคุมหรือดูแลได้อย่างยากลำบาก ดังนั้น จึงต้องใส่ใจในเรื่องของการป้องกันเชื้อไวรัสที่จะได้รับมาจากเด็กคนอื่น และป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสของลูกของเราแพร่ไปสู่บุคคลอื่นๆด้วย