อาหารเป็นพิษต้องดูแล
มีหลายครั้งที่การรับประทานอาหารของเรากลับกลายเป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพหรือทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ ซึ่งความเจ็บป่วยดังกล่าวสามารถเกิดได้ทั้งอาการเบา ปานกลาง จนถึงหนัก แต่ไม่ว่าจะเป็นอาการในระดับไหน ก็ย่อมเป็นความไม่สบายกายและไม่สบายใจของตัวเราทั้งสิ้น
อาการบางอย่างอาจจะสามารถหายไปได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารักษา เพียงแค่คุณรู้จักวิธีการในการดูแลตัวเอง ทานยาที่ถูกต้อง ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการอาหารเป็นพิษได้แล้ว
ในวันนี้เราจะมาศึกษาวิธีการในการดูแลตัวเองกัน หากคุณเกิดอาการดังกล่าวนี้จะต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นมารู้จักกันก่อนว่าอาหารเป็นพิษคืออะไร?
อาหารเป็นพิษ หมายถึง อาการที่เกิดขึ้นมาจากการที่เรารับประทานอาหารที่มีสารพิษหรือมีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไปในร่างกาย จนทำให้เกิดเป็นอาการท้องเดินหรืออุจจาระร่วง โดยส่วนใหญ่คนที่มีอาการอาหารเป็นพิษจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าไหร่นัก อาการสามารถหายไปเองได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง เพียงแต่เราก็จำเป็นที่จะต้องรู้จักแยกแยะอาการของโรคให้ถูกต้อง และดูแลตัวเองตามอาการที่เป็น พร้อมคอยเฝ้าสังเกตว่า หากมีอาการรุนแรงใดๆเกิดขึ้น ก็จำเป็นจะต้องมีการเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไปอีกระดับหนึ่ง

อาการอาหารเป็นพิษ สามารถเกิดขึ้นได้จากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ได้หลากหลาย ตั้งแต่เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียเป็นหลัก รองลงมาก็จะเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถพบได้บ้างเช่นกัน นอกจากนี้ อาจจะมีส่วนของอาหารอื่นๆที่ไม่ใช่เชื้อโรคที่ก็เป็นต้นเหตุของอาการอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น สารพิษจากเห็ด อาหารทะเล สารตะกั่วหรือสารหนู ก็สามารถเกิดได้เช่นกัน
ทั้งหมดทั้งมวลนี้สามารถทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ทั้งสิ้น ซึ่งอาการของโรคอาหารเป็นพิษก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล อาการที่เกี่ยวข้องจะเกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรคหรือสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของเชื้อและสารพิษนั้นๆ โดยส่วนใหญ่สามารถเกิดอาการได้เร็วที่สุดตั้งแต่ 2-6 ชั่วโมง
ส่วนลักษณะอาการที่เกิดขึ้นก็มักจะมีอาการที่คล้ายๆกัน นั่นก็คือ อาการปวดบิดเป็นพักๆ ซึ่งความรุนแรงของอาการปวดก็จะมีความแตกต่างกันตามปริมาณและชนิดของเชื้อจุลินทรีย์หรือสารพิษ บางรายอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งมักมีเศษอาหารที่เป็นต้นเหตุของการเกิดอาหารเป็นพิษออกมาด้วย หรือบางรายอาจจะมีอาการถ่ายเป็นน้ำ ซึ่งก็สามารถก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
เมื่อเกิดอาการอาหารเป็นพิษแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการแก้ไขด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นอันดับแรก เพราะเชื่อว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจะช่วยรักษาอาการติดเชื้อและบรรเทาให้อาการที่เกิดดีมากขึ้นได้ แต่จริงๆแล้ว…ยาปฏิชีวนะอาจจะไม่สามารถแก้ไขอาการอาหารเป็นพิษได้ในทุกๆกรณี แต่กลับมีวิธีการอื่นๆที่จะช่วยในการบรรเทาอาการและทำให้เกิดผลดีได้เช่นเดียวกัน ดังที่เราจะพูดถึงต่อไปนี้
1 หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร ในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรกหลังจากมีอาการอาหารเป็นพิษ ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหนักๆ แค่หันไปรับประทานหรือดื่มน้ำ น้ำซุป หรือน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการขับถ่ายหรืออาเจียนแทน ทั้งนี้ ให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางชนิด เช่น นม แอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีฟอง รวมไปถึงอาหารรสจัดหรืออาหารทอดด้วย หลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้ว ควรรับประทานอาหารอ่อนๆที่ย่อยง่าย และมีไขมันน้อย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ขนมปังปิ้ง กล้วยหอม เป็นต้น
2 รับประทานยาสามัญประจำบ้าน นั่นคือ ถ่านกัมมันต์ ถ่านกัมมันต์จะเป็นผงถ่านสีดำที่บรรจุเป็นเม็ด อัดเป็นแคปซูล ซึ่งมีหน้าที่ช่วยในการดูดซึมสารพิษหรือสารเคมีที่เข้าสู่ร่างกาย จึงสามารถช่วยรักษาอาการอาหารเป็นพิษได้เป็นอย่างดี ซึ่งยาตัวนี้ก็ถือเป็นยาที่มีความปลอดภัยมากกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ตาม อาจเกิดผลข้างเคียงเป็นอุจจาระที่มีสีดำ แต่ก็ไม่เกิดอันตรายใดๆแก่ร่างกายหากผู้ป่วยมีการปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้ยา

อย่างไรก็ตาม หากการแก้ไขอาการอาหารเป็นพิษข้างต้นยังคงไม่สามารถที่จะทำให้อาการทุเลาลงได้ ยังคงถ่ายเหลว อุจจาระปนเลือด หรือมีอาการท้องเสีย รวมไปกับอาการปวดเกร็งหน้าท้องอย่างรุนแรง หรือมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส ก็เป็นสิ่งที่จะต้องมีการเข้าไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะการขาดน้ำ และจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างตรงจุด เพื่อที่จะลดความรุนแรงของอาการอาหารเป็นพิษ และกำจัดจุลินทรีย์หรือสารพิษต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้
ทั้งนี้ เราเองก็ควรจะรู้จักวิธีการในการป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษด้วย เช่น ต้องมีการดื่มน้ำที่สะอาด ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการรับประทานอาหาร หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะเป็นการสะสมเชื้อจุลินทรีย์ในอาหารให้มากขึ้น ไม่เสี่ยงที่จะนำเอาอาหารแช่ตู้เย็นค้างคืนนานๆมาอุ่นทานซ้ำ รวมไปถึงการไม่ละลายอาหารแช่แข็งด้วยการตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิปกติ เพราะในช่วงระยะเวลาการละลายจะเป็นช่วงที่ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เพิ่มปริมาณ และเป็นต้นเหตุุของการเกิดโรคอาหารเป็นพิษได้
โรคอาหารเป็นพิษสามารถป้องกันและแก้ไขได้อย่างไม่ยากเย็น แม้ว่าคุณจะมีอาการเหล่านี้แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลมากเกินไป เพียงแค่คอยสังเกต และแก้ไขด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามลำดับของอาการ ก็จะช่วยให้คุณปลอดภัยจากโรคนี้ได้อย่างแน่นอน