ยืนทำงาน ดีอย่างไร
ในยุคปัจจุบัน…คนเราต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์มากขึ้น ทำให้การนั่งทำงานเป็นเวลานานๆทั้งวันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยความเคร่งเครียดหรือความเร่งด่วนของงาน อาจจะทำให้คุณไม่มีเวลาที่จะผ่อนคลายความเครียดอย่างเพียงพอ มัวแต่นั่งทำงานหน้าจอจนทำให้เกิดเป็นโรคต่างๆที่ทำร้ายร่างกายได้
หลายๆคนจึงคิดหาหนทางหรือวิธีการที่จะแก้ไขการนั่งทำงานนานๆ โดยเปลี่ยนมาเป็น “การยืนทำงาน” แทน ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยให้การทำงานมีความปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น และยังช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้การทำงานออกมาได้ดีขึ้นด้วย แต่การยืนทำงานแบบนี้มีประโยชน์จริงอย่างที่กล่าวไว้หรือไม่? มาลองดูกันค่ะ
การนั่งทำงานตลอดทั้งวันย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การปวดตามอวัยวะต่างๆตั้งแต่คอ บ่า หัวไหล่ ต้นแขน ข้อมือ บั้นเอว หรือแม้กระทั่งหัวเข่า ที่ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดหรือวัยใดก็สามารถเกิดอาการเดียวกันได้ทั้งสิ้น
ทำให้หนึ่งในกระแสการแก้ไขอาการ Office sysdome จากการนั่งนานเกินไปเปลี่ยนมาเป็น “การยืนทำงาน” แทน ซึ่งพฤติกรรมนี้ถือเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา หลายๆบริษัทใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเริ่มนำเอามาตรการการยืนทำงานมาปรับใช้กับองค์กรแล้ว โดยมีการจัดสภาวะแวดล้อมในการทำงานให้เป็นโต๊ะที่สามารถที่จะยืนทำงานได้ เพราะพวกเขาเชื่อว่านอกจากจะช่วยในการแก้ไขปัญหาการนั่งนานๆแล้ว ยังสามารถทำให้พนักงานมีความกระตือรือร้นและสามารถที่จะทำให้ผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพที่ดีกว่าเดิมได้
ทั้งนี้ การยืนทำงานไม่ได้หมายความว่าจะต้องยืนตลอดทั้งวันที่ทำงาน แต่จะเป็นการยืนเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยบริษัทดังกล่าวได้มีการออกกฎให้พนักงานยืนทำงานเฉลี่ย 2-3 ชั่วโมง จากเดิมที่จะต้องนั่งติดโต๊ะตลอด 8-9 ชั่วโมงต่อวัน โดยพนักงานสามารถที่จะสลับอิริยาบถระหว่างการนั่งและการยืนเมื่อใดก็ได้ตามที่ตนเองต้องการหรือตามหน้างานที่ทำอยู่
ผลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานแบบนี้ พบว่า การเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานทำให้ผลงานที่ออกมาดีกว่ากลุ่มพนักงานที่นั่งทำงานเพียงอย่างเดียว ซึ่งนอกเหนือจากผลงานที่ดีขึ้นแล้วแน่นอนว่ามันส่งผลถึงสุขภาพของพนักงานด้วย เพราะการยืนทำงานทำให้พนักงานมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่มากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกิดจากการนั่งนิ่งๆนานๆโดยไม่เคลื่อนไหวได้ หรือเป็นการกระตุ้นการเผาผลาญไขมันให้สูงมากขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจหรือโรคเบาหวานในระยะยาวได้

ทั้งนี้สาเหตุของการที่การยืนทำงานมีผลที่ดีมากกว่าการนั่งทำงานก็เป็นเพราะการนั่งติดโต๊ะทำงานจะทำให้ร่างกายมีระดับการเผาผลาญไขมันลดลง และทำให้มวลกระดูกเสียความหนาแน่นลงเรื่อยๆ ระดับการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจก็จะน้อยกว่าปกติ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และทำให้อายุขัยสั้นลงได้ด้วย
การที่เรานั่งนานๆโดยไม่ขยับร่างกายตั้งแต่ 3 ชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ดังนั้น การยืนทำงานจึงเป็นหนึ่งในวิธีการในการช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานได้ดีขึ้น เพราะเวลาที่เรายืนเรามักจะต้องมีการขยับร่างกายที่มากกว่าการนั่งเฉยๆอยู่แล้ว
สำหรับคนที่ไม่ค่อยจะมีเวลาออกกำลังกาย สามารถนำเอาวิธีการยืนทำงานไปใช้ในการทำงานได้ เพราะเพียงแค่คุณเพิ่มเวลาในการยืนทำงานให้มากขึ้น ก็สามารถทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้นแล้ว ทั้งนี้ เราแนะนำว่าระยะเวลาในการยืนทำงานควรจะยืนให้ได้ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน สลับกับการนั่งอีกประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน
สำหรับโต๊ะทำงานก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพฤติกรรมในการยืนทำงานด้วย โดยโต๊ะที่เลือกใช้ควรที่จะมีความสูงพอที่จะใช้มือเท้าในขณะใช้แป้นพิมพ์ได้ รวมไปถึงจอคอมพิวเตอร์ก็ต้องมีขนาดหน้าจอที่ใหญ่เพียงพอต่อการทำงาน และสามารถปรับเงยหน้าจอให้เหมาะสมกับระยะสายตาได้

การยืนทำงานของคุณจะมีประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้น หากคุณมีการปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ควรทำ นั่นก็คือ ในขณะที่คุณยืนทำงาน คุณต้องหลีกเลี่ยงการยืนนิ่งท่าเดียว แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ้างในระหว่างการทำงาน เช่น มีการแกว่งแขน แกว่งขา เพื่อกระตุ้นให้เลือดมีการไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา การยืนค้างท่าเดิมนานๆติดต่อกันหลายชั่วโมงอาจจะเกิดขึ้นโดยที่คุณไม่รู้ตัว เพราะคุณกำลังโฟกัสอยู่กับงานมากจนเกินไป
การที่ยืนติดกันในลักษณะเดิมอาจจะทำให้เกิดเป็นผลเสียต่อร่างกายได้เช่นเดียวกันกับการนั่งทำงาน ดังนั้น คุณจึงต้องมีการพยายามเปลี่ยนอิริยาบถใหม่เรื่อยๆตลอดระยะเวลาการยืนทำงาน เพื่อช่วยทำให้ร่างกายนั้นได้รับการกระตุ้นและมีแรง รวมไปถึงจะทำให้ไม่รู้สึกเฉยชาเหมือนกับการนั่งทำงานด้วย
หากใครที่รู้สึกเบื่อกับการนั่งทำงานแบบเดิมๆ ก็ลองขอหัวหน้าเปลี่ยนมาเป็นการยืนทำงานดูบ้าง การยืนทำงานที่ถูกต้องและเหมาะสมอาจจะทำให้คุณสมองไบรท์และคิดอะไรได้ง่ายขึ้น หรือเป็นไปได้ว่าอาจจะทำให้คุณทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิมไปพร้อมๆกับการมีสุขภาพที่ดีขึ้น และไม่ต้องกังวลกับอาการออฟฟิตซินโดรมอีกต่อไป