การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, เกี่ยวกับโรค

โรคกระเพาะอาหาร ต้องเป็นตลอดชีวิตจริงหรือ?

โรคกระเพาะอาหาร ต้องเป็นตลอดชีวิตจริงหรือ?

มีหลายคนบนโลกนี้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความรุนแรงของอาการป่วยที่ไม่เท่ากัน แต่หนึ่งสิ่งที่ทุกๆคนที่ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารต้องพบเจอก็คือ อาการปวดท้องที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะหาย หรือจะมีโอกาสหายขาดและไม่กลับมาเป็นอีกหรือไม่? และจำเป็นที่จะต้องเจ็บปวดกับมันทุกครั้งที่ละเลยการดูแลตัวเองตามที่ควรจะเป็น

บางคนเชื่อว่าโรคกระเพาะอาหารหากเป็นแล้วต้องเป็นตลอดชีวิต ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ต้องกินยาไปจนตาย คำกล่าวนี้เป็นจริงหรือไม่? เราจะมาลองศึกษาโรคกระเพาะอาหารให้ชัดเจนกันค่ะ จะได้รู้ว่าต้องรับมือหรือจัดการกับมันอย่างไร

โรคกระเพาะอาหารคืออะไร

โรคกระเพาะอาหาร (Gastritis) หรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการอักเสบหรือมีการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร ซึ่งสามารถเกิดได้ในระยะเวลาอันสั้นและอาจจะหายไปได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ ในขณะเดียวกัน อาจจะทำให้เกิดอาการที่ยาวนานเรื้อรังและเป็นไปตลอดชีวิตคุณก็เป็นได้ หากมีการดูแลที่ไม่ถูกต้อง

โรคกระเพาะอาหาร ต้องเป็นตลอดชีวิตจริงหรือ?
โรคกระเพาะอาหาร ต้องเป็นตลอดชีวิตจริงหรือ? — ภาพจาก : https://www.freepik.com/premium-photo/asian-woman-having-painful-stomach-ache-during-working-from-home_8365414.htm#page=1&query=Gastritis&position=9

อาการของโรคกระเพาะอาหารจะไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่จะเป็นอาการปวดท้องที่เป็นๆหายๆ ปวดจุกเสียด แสบบริเวณลิ้นปี่ มีอาการท้องอืด เรอเปรี้ยว บางรายถ้าเป็นมากอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว หรือปวดทะลุไปจนถึงหลังก็ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ สาเหตุในการเกิดโรคกระเพาะอาหารหรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบยังไม่สามารถที่จะบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน แต่สันนิษฐานได้ว่าสามารถเกิดจากสาเหตุหลักๆ 2 ประการ ได้แก่

1 การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารหรือน้ำดื่ม

2 การรับประทานยาในกลุ่มต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs)

นอกจากนี้ ยังสามารถพบได้ว่าโรคกระเพาะอาหารสามารถเกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน การมีระบบภูมิคุ้มกันตนเองบทบกพร่อง เป็นต้น

ในส่วนของการรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบก็จะต้องทราบก่อนว่าอาการของโรคของคุณที่เป็นอยู่นั้นเกิดมาจากสาเหตุใด และจะต้องมีการรักษาตามสาเหตุนั้นๆ เช่น หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียก็จะต้องมีการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั้นๆ หรือถ้าเกิดจากสาเหตุอื่นๆแพทย์ก็จะต้องมีการรักษาตามอาการ เพื่อจะช่วยให้อาการต่างๆของผู้ป่วยนั้นดีขึ้น

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบเนื่องมาจากการรับประทานยาบางตัวที่อยู่ในกลุ่มบรรเทาอาการปวด ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยคนนั้นต้องหยุดยาไปเบื้องต้นก่อน และปรับเปลี่ยนเป็นการใช้ยาตัวอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันแทน รวมไปถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งผลกระทบให้เกิดอาการกระเพาะอักเสบกำเริบ ทั้งนี้ การปฏิบัติตัวที่เหมาะสมจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถที่จะรักษาโรคนี้ให้หายไปอย่างรวดเร็วได้ และพึงระลึกเอาไว้ว่า การเป็นโรคกระเพาะอาหารนั้นอาจจะไม่หายขาดตลอดชีวิตถ้าดูแลตัวเองไม่ถูกต้อง

ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับยาติดต่อกันนานระยะหนึ่งก่อน ซึ่งอาจจะทำให้อาการปวดที่คุณเป็นอยู่หายไป 3 ถึง 7 วัน ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าแผลที่เกิดขึ้นในกระเพาะอาหารของคุณจะหายไปแล้ว เพราะโดยส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาในการเยียวยาแผลในกระเพาะอาหาร 4 ถึง 8 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นจึงยังจำเป็นจะต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องไปก่อนแม้รู้สึกว่าไม่มีอาการปวดแล้วก็ตาม หากหยุดยาในทันทีจะเป็นหลุมพลางที่ทำให้คุณหายจากโรคนี้ได้ยากขึ้นไปอีก

และเมื่อแผลหายแล้ว คุณก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นใหม่หากมีการปฏิบัติตนเองที่ไม่เหมาะสม ถ้าคุณไม่อยากให้อาการกระเพาะอาหารกลับมาอีก หรือไม่อยากจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารจะต้องมีพฤติกรรม ดังนี้

โรคกระเพาะอาหาร ต้องเป็นตลอดชีวิตจริงหรือ?
โรคกระเพาะอาหาร ต้องเป็นตลอดชีวิตจริงหรือ? — ภาพจาก : https://www.freepik.com/premium-photo/stomach-fire-excessive-acidity-indigestion_4490696.htm#page=1&query=Gastritis&position=21

1 เลือกรับประทานอาหาร สำหรับคนที่กังวลว่ากระเพาะอาหารอาจมีโอกาสอักเสบอีกครั้ง ควรที่จะควบคุมพฤติกรรมในการทานอาหารให้เหมาะสม ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย รับประทานอาหารตรงเวลาทุกมื้อ ในแต่ละมื้อไม่ควรจะกินมากจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด ทั้งเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หรือหวานจัด หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

2 หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

3 งดการใช้ยาแก้ปวด แอสไพรินและยาแก้โรคกระดูกและข้อทุกชนิด เพราะมีตัวยาที่ส่งเสริมการเกิดโรคนี้ได้

4 หลีกเลี่ยงความเครียด ความวิตกกังวล และพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โรคกระเพาะอาหารกำเริบ

หากคุณสามารถทำตามพฤติกรรมที่เหมาะสมที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้ได้และทำต่อเนื่องตลอดไป ก็จะช่วยเป็นเกราะป้องกันที่จะทำให้โรคกระเพาะอาหารไม่กลับมาหาคุณอีก หรือไม่มีทางที่คุณจะต้องพบเจอกับมันได้เลย

ดังนั้น จึงอาจจะสรุปได้ว่าโรคกระเพาะอาหารไม่ใช่โรคที่จะต้องเป็นตลอดชีวิต สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้ หากคุณแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และคอยป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นเกิดขึ้นกับคุณอีก

หวังว่าเพื่อนๆทุกท่านคงจะมีความเข้าใจและรู้จักวิธีในการปฏิบัติตนให้เหมาะสมที่จะสามารถห่างไกลจากโรคกระเพาะอาหารได้มากขึ้นนะคะ แค่ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมโรคนี้ก็ไม่สามารถทำร้ายคุณได้อีกแล้ว

Sending
User Review
0 (0 votes)