เป็นที่รู้กันดีอยู่ว่า…ไม่มีการพักผ่อนใดดีไปกว่าการได้นอนหลับพักผ่อนบนเตียงนอนนุ่มๆ เพราะธรรมชาติกำหนดมาแล้วว่ามนุษย์จะต้องมีเวลาการนอนหลับที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นคืนพลังงาน และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในวันต่อไป แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ต้องพบเจอกับปัญหาด้านการนอนหลับ หรือไม่สามารถข่มตาหลับในยามกลางคืนได้เสียที ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็คงหนีไม่พ้นการพึ่งพา “ยานอนหลับ” เพื่อบังคับให้ร่างกายปิดสวิทช์แบบทันทีทันใด แต่การกระทำดังกล่าวที่ว่ามานี้ มีความปลอดภัยต่อร่างกายมากแค่ไหน มาลองหาคำตอบไปพร้อมๆกันดีกว่าค่ะ

สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งสหรัฐอเมริกา แบ่งความรุนแรงของอาการนอนไม่หลับออกเป็น 3 ระดับ คือ นอนไม่หลับชั่วคราว นอนไม่หลับระยะสั้น และนอนไม่หลับระยะยาว ซึ่งระดับความรุนแรงของโรคจะสูงมากขึ้นตามลำดับ การแก้ไขอาการนอนไม่หลับเหล่านี้สามารถทำได้หลากหลายวิธี ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือ “การรับประทานยานอนหลับ” นั่นเอง
ยานอนหลับ คือ ยาที่ออกฤทธิ์แล้วทำให้คนเรารู้สึกง่วงนอน คนส่วนใหญ่จึงนิยมใช้ยาชนิดนี้เพื่อบรรเทาความเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวัน คลายความวิตกกังวลภายในจิตใจ หรือแก้ไขปัญหาการนอนไม่หลับอันเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ซึ่งยาในกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่ต้องอาศัยความระมัดระวังในการใช้งานมากเป็นพิเศษ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น และไม่สามารถหาซื้อได้ด้วยตนเองจากร้านขายยาทั่วไป อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ผลิตที่แอบลักลอบขายยานอนหลับแบบผิดกฎหมาย ซึ่งหากผู้ป่วยบริโภคเข้าไป ก็อาจส่งผลเสียอันร้ายแรงต่อร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
แม้ว่าการรับประทานยานอนหลับจะเป็นไปตามที่แพทย์สั่งแล้ว และดูเหมือนจะเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยได้มีระยะเวลาการพักผ่อนที่มากขึ้นก็จริง แต่เมื่อมองไปในระยะยาวแล้ว อาจมีผลกระทบบางอย่างที่รุนแรงตอบโต้กลับมาก็เป็นได้
ผลกระทบที่ผู้บริโภคยาอาจได้รับ เช่น ผู้ป่วยบางรายที่ร่างกายมีความสามารถในการกำจัดยาลดลง ภายหลังจากการรับประทานยานอนหลับไป อาจจะยังคงมียาสะสมอยู่ในร่างกาย ดังนั้น เมื่อตื่นนอนแล้ว อาจจะยังส่งผลให้เกิดความรู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลีย มึนงง หรือตัดสินใจช้าลงได้

ไม่ใช่ว่าใครอยากจะทานยาชนิดนี้ก็ทานได้ตามใจนะคะ เพราะมีข้อห้ามสำหรับการบริโภคยานอนหลับในผู้ป่วยบางรายหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคปอด ผู้ที่นอนกรนอย่างมาก หรือผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่กดประสาทส่วนกลาง เนื่องจากยานอนหลับบางชนิดอาจออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ซึ่งจะส่งผลทำให้ศูนย์ควบคุมการหายใจถูกกดไปด้วย และทำให้เป็นสาเหตุของการหยุดหายใจไปได้เลยทันที สำหรับผลเสียของการรับประทานยานอนหลับแบบระยะยาวก็มีอยู่หลายประการ ประการแรกที่อาจเกิดขึ้นได้ ก็คือ ‘การดื้อยา’ การใช้ยานอนหลับขนาดเดิมติดต่อกันนานสักระยะหนึ่ง อาจทำให้คุณพบว่าประสิทธิภาพในการทำให้นอนหลับนั้นลดน้อยลงกว่าเดิม ส่งผลให้จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งการเพิ่มในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้ปริมาณยาที่ร่างกายได้รับมากเกินกว่าขนาดปกติที่ควรจะเป็นได้ อีกทั้ง การได้รับยาในปริมาณมากๆแบบนี้อาจส่งผลให้เกิดพิษจากการใช้ยาได้เช่นกัน นอกเหนือจากอาการดื้อยาแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการ ‘ติดยา’ หรืออาการที่ไม่สามารถนอนหลับด้วยตัวเองได้เลยหากไม่ใช้ยานอนหลับ ส่งผลให้จำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันแบบไม่สามารถหยุดได้เลย
นอกเหนือจากนี้ การรับประทานยานอนหลับเป็นระยะเวลานานๆ ยังอาจมีผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพด้านอื่นๆอีกด้วย เช่น การทำให้สมรรถภาพทางเพศในผู้ชายเสื่อม หรือ การทำให้ความจำสั้นลงหรือความจำเสื่อม เป็นต้น
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า วิธีการบริโภคยานอนหลับเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก หากต้องการให้การรักษาอาการนอนไม่หลับมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ควรควบคุมปริมาณการใช้ยานอนหลับให้มีขนาดต่ำที่สุด และเลือกชนิดยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงแต่ใช้ระยะเวลาในการรักษาสั้นๆ ซึ่งถ้าจะให้ดีไม่ควรเกิน 2 – 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ ก็ควรศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับนี้ เพื่อที่จะได้รักษาสาเหตุของการเกิดอาการนั้นๆได้อย่างตรงจุด และจะยิ่งทำให้สามารถรักษาอาการที่คุณเป็นอยู่ได้อย่างดีมากยิ่งขึ้นด้วย
นอกจากการรับประทานยานอนหลับแล้ว ยังพอจะมีวิธีดีๆอีกมากมายที่จะช่วยให้คุณนอนหลับฝันดีได้ยาวนานมากขึ้น เช่น การพยายามเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาไม่ว่าจะง่วงนอนหรือไม่ก็ตาม การจัดห้องนอนและบรรยากาศในห้องนอนให้เหมาะสม การนอนด้วยท่านอนที่เหมาะสม การฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังอย่างเพียงพอประมาณ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ไม่ควรออกกำลังกายในช่วงค่ำและช่วงก่อนนอน การงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และการไม่แอบงีบหลับระหว่างวันเกิน 30 นาที เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้การนอนหลับในช่วงกลางคืนของคุณยาวนานและเต็มอิ่มมากยิ่งขึ้นได้แล้ว
หากร่างกายได้รับการพักผ่อนที่มากเพียงพอ ย่อมส่งผลให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ และมีกำลังเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับเช้าวันใหม่อยู่เสมอ