การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, สุขภาพดี, สุขภาพน่ารู้

เมื่อตากระตุกไม่ใช่ลางร้าย

เมื่อตากระตุกไม่ใช่ลางร้าย

มีคำพูดโบราณกล่าวไว้เสมอว่าการที่เรามีอาการตากระตุกอาจจะเป็นในเรื่องของโชคลาง ว่ากันว่า “ขวาร้าย ซ้ายดี” หากเมื่อใดก็ตามที่เกิดอาการตากระตุกกำลังจะมีลางบอกเหตุ เพื่อเตือนให้เราระวังตัวกันล่วงหน้าเสมอ

แต่หากกล่าวกันในเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว อาการตากระตุกอาจไม่ใช่ลางบอกเหตุร้ายแต่อย่างใด แต่เป็นหนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา และสามารถบ่งบอกได้ว่าเรานั้นกำลังมีอาการผิดปกติอะไรบางอย่างอยู่ ซึ่งไม่ควรโทษเพียงแค่โชคชะตา แต่ควรต้องหาที่มาและวิธีการในการแก้ไข เพื่อให้ร่างกายปลอดภัยมากที่สุด

หากพูดถึงสาเหตุของอาการตากระตุกแล้ว ก็ต้องบอกว่าเกิดขึ้นมาจากกระแสประสาทที่ไหลมาเลี้ยงบริเวณรอบดวงตามีความผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ อาการนี้จะทำให้เกิดความรุนแรงของอาการตากระตุกตั้งแต่น้อยไปจนถึงมาก อาจจะหายเองหรือจำเป็นต้องได้รับการรักษา

สำหรับเด็กบางคนอาจจะเกิดอาการเปลือกตากระตุก ซึ่งเป็นความเคยชินตั้งแต่ในวัยเด็ก อาการตากระตุกจะเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราว และสามารถหยุดได้ทันทีที่ตัวเองต้องการที่จะหยุด และอาการเหล่านี้มักจะหายไปเมื่ออายุมากขึ้น นอกจากนี้ อาการตากระตุกก็สามารถเกิดได้กับคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปได้เช่นกัน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยอาการที่จะเป็นก็คือเปลือกตาจะค่อยๆบีบตัวเกร็งทีละน้อย จนกลายเป็นหลับตาแน่นทั้งสองตา อาการที่ว่านี้จะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และไม่มีอาการในช่วงเวลาที่นอนหลับ แต่หากทิ้งไว้นานๆอาจจะทำให้เกิดเป็นอาการตาปิดไปตลอด และทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุดได้

อาการเปลือกตากระตุกอีกชนิดหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นมาจากการที่กล้ามเนื้อตาและกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้ากระตุก ซึ่งมาเกิดจากการที่เส้นเลือดในสมองโป่งพองหรือมีเนื้องอกโตขึ้นมากดทับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณเปลือกตา จนทำให้เกิดเป็นอาการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อเปลือกตา หรือเกิดอาการเกร็งของใบหน้าครึ่งซีก ซึ่งหากเป็นอาการนี้จำเป็นจะต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขอาการดังกล่าวโดยเร็ว

เมื่อตากระตุกไม่ใช่ลางร้าย — ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/funny-guy-widen-eye-scan-it_9696601.htm#page=1&query=eye&position=44

จะเห็นได้ว่าอาการตากระตุกมีความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไปและสามารถเกิดได้จากหลายๆสาเหตุ รวมไปถึงอาจจะเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่นๆได้ด้วย ซึ่งในแต่ละสาเหตุก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธีและตรงจุด เพื่อที่จะได้หายจากอาการที่เป็นอยู่ได้โดยเร็ว ทั้งนี้ เราสามารถรวบรวมปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดอาการตากระตุกได้หลายๆปัจจัยดังต่อไปนี้

1 ความอ่อนล้าของดวงตา หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มักจะต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ หรือจำเป็นจะต้องใช้สายตาในการจดจ้องบางสิ่งบางอย่างตลอดทั้งวัน ก็อาจจะทำให้เกิดความอ่อนล้าของดวงตาได้ง่าย โดยเฉพาะการจ้องมองแสงสีฟ้าจากจออิเล็กทรอนิกส์ ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการนี้ได้ง่ายกว่าเดิม

2 ความเครียดและความกังวล อารมณ์ไม่ดีที่ถูกสะสมกันเป็นระยะเวลานาน จะมีผลอย่างยิ่งต่อการเกิดอาการตากระตุก หากคุณสามารถที่จะคลายความเครียดหรือความกังวลออกไปได้ ก็เป็นไปได้ว่าอาการที่เป็นอยู่เหล่านี้จะหายไปได้ในทันที

3 นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ลองตรวจเช็คดูก่อนว่า…คุณใช้เวลาในการนอนหลับตอนกลางคืนกี่ชั่วโมง เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหรือไม่ เพราะหากมันน้อยเกินไปเพราะมัวแต่ทำงาน ทำกิจกรรมอื่นๆอยู่ ก็อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดอาการตากระตุกได้

4 ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็น กาแฟ ชา น้ำอัดลม ก็ล้วนแต่มีส่วนผสมของสารคาเฟอีนทั้งสิ้น ซึ่งการได้รับสารคาเฟอีนเข้าไปในร่างกายที่มากจนเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดอาการตากระตุกได้เช่นกัน

5 อาการข้างเคียงของโรคลมชัก หากคุณมีโรคประจำตัวเป็นโรคลมชัก ก็อาจจะมีโอกาสที่จะเกิดอาการตากระตุกได้เช่นกัน

เมื่อตากระตุกไม่ใช่ลางร้าย — ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/beautiful-girl-face-perfect-skin_8096904.htm#page=1&query=eye&position=29

จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวไป จะเห็นได้ว่าการเกิดโรคตากระตุกนั้นมีความรุนแรงที่หลากหลาย แต่ความรุนแรงในระดับใดจึงจะเรียกว่าไม่ปกติ และควรที่จะรักษาโดยทันที คำตอบก็คือ…หากเมื่อใดก็ตามที่คุณเกิดอาการตากระตุกไม่ว่าจะเป็นตาซ้าย ตาขวา หรือตาทั้งสองข้างก็ตาม ซึ่งเกิดอาการติดต่อกันทุกวันเกิน 1 สัปดาห์ ซึ่งรวมไปถึงอาการกระตุกที่บริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น มุมปาก เป็นต้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าควรจะรีบเข้าพบแพทย์โดยทันที

หรือหากอาการตากระตุกที่คุณเป็นมีความรุนแรงมากจนทำให้ตาปิด และรบกวนการใช้ชีวิตของคุณ หรือมีอาการอื่นๆ เช่น ตาบวม ตาแดง มีขี้ตาที่มากกว่าปกติ เป็นต้น ก็จำเป็นที่จะต้องเข้าพบแพทย์โดยด่วน

ส่วนวิธีการในการดูแลตัวเองหากเกิดอาการตากระตุกในเบื้องต้น คุณสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีง่ายๆก่อนที่จะเข้าพบแพทย์เพื่อดูก่อนว่าอาการที่เป็นอยู่จะลดน้อยลงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น การนวดดวงตา การหลับตาแน่นๆ ประมาณ 1 นาที การกระพริบตาถี่ๆ การใช้น้ำอุ่นและน้ำเย็นช่วยประคบดวงตา การหยอดน้ำตาเทียม การนอนหลับให้เพียงพอ การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ หรือการผ่อนคลายความเครียด

หากได้ลองทำกิจกรรมต่างๆนี้แล้วอาการที่เป็นอยู่ก็ยังไม่ได้ผล ก็คงถึงเวลาที่คุณจะต้องลองไปพบแพทย์ เพื่อตามหาสาเหตุที่แท้จริงและแก้ไขกันต่อไปค่ะ

User Review
0 (0 votes)

Enjoy this blog? Please spread the word :)

Exit mobile version