การดูแลสุขภาพ, บทความน่ารู้, บทความสุขภาพ, สุขภาพ, เกี่ยวกับโรค

อัลไซเมอร์อันตรายที่มากกว่าการหลงลืม

อัลไซเมอร์อันตรายที่มากกว่าการหลงลืม

หากพูดถึงโรคอัลไซเมอร์แล้ว เชื่อว่าในความเข้าใจของคนหลาย ๆ คนคงจะคิดว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อมีอายุมาก ซึ่งจะเป็นอาการหลงลืมในบางสิ่งบางอย่างที่เคยจำได้เมื่อตอนที่มีอายุน้อย แต่ที่จริงแล้วโรคอัลไซเมอร์ไม่ได้มีอาการเพียงแค่การหลงลืมเท่านั้น แต่ยังมีความรุนแรงที่มากกว่าที่จะทำให้เกิดเป็นภาวะสมองเสื่อมร่วมได้ด้วย หากยังสงสัยว่าอาการอัลไซเมอร์เป็นอย่างไร? เกิดขึ้นกับเราได้เมื่อไหร่ ? ผู้สูงอายุทุกคนจำเป็นต้องเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์หรือไม่? และจะต้องทำอย่างไรถึงจะป้องกันอาการอัลไซเมอร์ได้? ลองมาศึกษาเพิ่มเติมไปพร้อมๆกันเลยค่ะ

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) คือ โรคที่ทำให้สมองเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อ เบต้าอะไมลอยด์ เคลื่อนที่ไปจับตัวอยู่ที่เซลล์สมอง ซึ่งถือว่าไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ ปฏิกิริยานี้จะส่งผลให้เซลล์สมองที่เคยเป็นปกติเสื่อมลง ฝ่อลง การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองชำรุด ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลโดยตรงต่อการทำงานที่เกี่ยวข้องดับระบบความทรงจำ ระบบความคิด การตัดสินใจ และการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง

ในประเทศไทย โรคอัลไซเมอร์ถือเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่พอสมควร เพราะพบว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สูงกว่า 600,000 คน และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากโรคอัลไซเมอร์ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมที่รุนแรงมากขึ้น จนอาจจะทำให้ผู้ป่วยเหล่านั้นไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติได้เลย

อัลไซเมอร์อันตรายที่มากกว่าการหลงลืม
อัลไซเมอร์อันตรายที่มากกว่าการหลงลืม — ภาพจาก : https://www.freepik.com/premium-photo/depressed-elderly-man-covers-his-face-with-his-hands_11496814.htm#page=1&query=Alzheimer’s&position=7

ทั้งนี้ ระยะของโรคอัลไซเมอร์สามารถแบ่งออกได้เป็นส่วนๆ ได้ดังนี้

1 ระยะแรก

อาการของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้นจะเป็นการเริ่มหลงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นได้บ่อยๆ หลายคนจะย้ำคิดย้ำทำ ชอบที่จะถามคำถามเดิมวนซ้ำ ๆ หรืออาจจะไม่สามารถตัดสินใจเรื่องบางเรื่องที่เป็นเรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวันได้ อาจจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้า แต่โดยมากจะยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้

2 ระยะปานกลาง

อาการของโรคอัลไซเมอร์ในระยะต่อมาจะเป็นการหลงลืมคนรู้จักหรือคนในครอบครัว เริ่มสับสนในเรื่องของวันเวลา ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเริ่มยากมากขึ้น อาจจะมีอาการนอนไม่หลับ คนในครอบครัวไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยในระยะนี้อยู่คนเดียวหรือเดินทางคนเดียว เพราะอาจจะเกิดการผลัดหลง กลับบ้านเองไม่ได้ หรือคิดว่าจะมีคนเข้ามาทำร้ายตลอดเวลา

3 ระยะสุดท้าย

อาการของโรคอัลไซเมอร์ในระยะสุดท้ายจะเป็นอาการที่รุนแรงที่สุด โดยผู้ป่วยมักจะเห็นภาพหลอน มีอารมณ์ก้าวร้าว เคลื่อนไหวร่างกายช้าลง ไม่สามารถเดินเองได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร อาบน้ำ หรือทำธุระส่วนตัว ทำให้อาจจะมีอาการปัสสาวะหรืออุจจาระราดเพราะควบคุมตัวเองไม่ได้

อัลไซเมอร์อันตรายที่มากกว่าการหลงลืม
อัลไซเมอร์อันตรายที่มากกว่าการหลงลืม — ภาพจาก : https://www.freepik.com/premium-photo/child-s-hand-old-man-s-hand-holding-cane_5520222.htm#page=1&query=Alzheimer’s&position=17

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้นั่นเกิดได้จากหลายๆปัจจัย ดังต่อไปนี้

1 อายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป

2 เพศ โรคอัลไซเมอร์มักจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

3 พันธุกรรม การที่มีประวัติของคนในครอบครัวที่เคยป่วยเป็นโรคนี้มาก่อน จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่า

4 มีประวัติโรคดาวน์ซินโดรม สำหรับผู้ป่วยโรคดาวน์ซินโดรมจะเป็นอาการที่มีความผิดปกติของการสะสมของโปรตีนบางชนิด ซึ่งจะให้สามารถเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคดาวน์ซินโดรมที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป อาการของโรคอัลไซเมอร์จะเกิดขึ้นกับคุณได้ง่ายกว่าเดิม

5 เคยได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ สำหรับบุคคลใดที่มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุที่มีความกระทบกระเทือนต่อศีรษะ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่าคนทั่วไป

6 มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคซึมเศร้า จะเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับใครที่เริ่มมีคำถามว่าเราควรทำอย่างไร เมื่อทราบว่าคนใกล้ตัวเริ่มมีอาการของโรคไซเมอร์ คำตอบก็คือ คุณควรจะรีบพาบุคคลนั้นๆเข้าการรักษาจากแพทย์ และจะต้องให้คนในครอบครัวช่วยกันเน้นการฝึกทักษะการใช้ชีวิตประจำวันให้กับผู้ป่วย หมั่นฝึกสมองบ่อยด้วยเกมหรือกิจกรรมต่าง ๆ คอยร่วมมือและให้ความช่วยเหลือ หรือพาผู้ป่วยออกไปผ่อนคลายภายนอกตามความเหมาะสมโดยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของครอบครัวอย่างใกล้ชิด

อีกทั้ง จะต้องมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยในบ้านให้มีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดเหตุอันตรายที่ไม่คาดฝันจากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วย เช่น การจัดบ้านให้โล่งเป็นระเบียบ ไม่มีสิ่งของวางเกะกะ พื้นไม่ลื่น มีแสงสว่างเพียงพอ เป็นต้น

และสุดท้าย คือการใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตของผู้ป่วย ซึ่งอาจจะมีอารมณ์ที่หงุดหงิด หุนหัน หรือโมโหง่ายกว่าที่เคยเป็น เนื่องจากไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ตามปกติ ความจำที่ไม่เหมือนเดิม หรือไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันเหมือนอย่างที่เคยทำได้

         โรคอัลไซเมอร์ ถือเป็นโรคอันครายที่ส่งผลกับสมองโดยตรง ทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง แต่หากคนใกล้ตัวคอยหมั่นสังเกต คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ความรักความเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ก็คงเป็นแนวทางการแก้ไขที่จะช่วยให้คนที่คุณรักสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตามปกติสุขต่อไป

Sending
User Review
0 (0 votes)