เส้นเลือดขอด ต้องรักษาอย่างไร?
การเกิดอาการเส้นเลือดขอด เป็นอาการหนึ่งที่สามารถเกิดได้กับคนหลายคน โดยเฉพาะคุณผู้หญิงสาวๆ หากเกิดอาการเส้นเลือดขอดขึ้นกับคุณก็ย่อมเป็นสิ่งที่จะทำให้คุณไม่พอใจ เพราะจะทำให้เสียความมั่นใจในเวลาที่จะต้องมีการใส่กางเกงหรือกระโปรงสั้นๆ ซึ่งมันทำให้คุณต้องโชว์เรียวขาที่เต็มไปด้วยลายของเส้นเลือดขอด ทำให้ดูไม่สวยงามหรือดูเป็นคนที่ไม่ดูแลตัวเองอย่างยิ่ง
หลายคนมักจะปกปิดอาการของเส้นเลือดขอดด้วยการสวมชุดอำพรางมัน อาจจะเป็นการใส่กางเกงขายาวหรือกระโปรงยาวๆ แต่มันคงจะปิดได้แค่ความไม่สวยงาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะปิดบังความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเนื่องจากอาการเส้นเลือดขอดได้
และหากคุณปล่อยให้เส้นเลือดขอดนั้นเกิดขึ้นกับคุณต่อไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้เกิดอาการที่รุนแรงมากขึ้น และอาจจะต้องตัดขาทิ้งไปเลยก็เป็นได้หากเกิดความโชคร้ายขึ้นกับคุณ
เหตุใดอาการเส้นเลือดขอดถึงรุนแรงได้มากขนาดนั้น ลองมาทำความรู้จักกับผลกระทบของเส้นเลือดขอดให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ

เส้นเลือดขอดเกิดขึ้นมาจากการที่หลอดเลือดดำที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนัง ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยกล้ามเนื้อเกิดความผิดปกติ เนื่องมาจากกล้ามเนื้อที่อยู่ล้อมรอบบีบรัดหลอดเลือดดำ จนทำให้เกิดเป็นอาการผิดปกติที่หลอดเลือดขึ้น
เมื่อเกิดปฏิกิริยาเช่นนี้ เลือดจะไม่สามารถที่จะลำเลียงไปทั่วร่างกายได้ตามเดิม ซึ่งจะทำให้เกิดการย้อนกลับของหลอดเลือดดำ ทำให้มีเลือดดำค้างอยู่ในหลอดเลือด จนเกิดการขยายตัวกลายเป็นเส้นเลือดขอดขึ้นมานั่นเอง
ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดนั้น ก็มีอยู่หลากหลายปัจจัย โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการเส้นเลือดขอดดังนี้
1 ฮอร์โมน จะสังเกตเห็นได้ว่าผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดมากกว่าผู้ชาย เนื่องมาจากฮอร์โมนของเพศหญิงจะมีส่วนที่จะทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง ซึ่งส่งผลให้เกิดการรั่วของลิ้นหลอดเลือดได้มากกว่าในเพศชาย จึงทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดขอดได้มากกว่า
2 น้ำหนัก คนที่มีน้ำหนักมากกว่าไม่ว่าจะเป็นคนที่ป่วยเป็นโรคอ้วน หรือเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ล้วนแต่เป็นปัจจัยส่งเสริมการเกิดเส้นเลือดขอดได้ทั้งสิ้น เพราะการที่มีน้ำหนักตัวที่มากขึ้นจะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวกดังเดิม และทำให้เกิดการคั่งของเลือดได้ โดยเฉพาะในบริเวณขาที่จะเกิดเส้นเลือดขอดได้มากกว่าในบริเวณอื่นๆ
3 อาชีพ หากคุณทำอาชีพที่จะต้องมีการยืนนานๆ นั่งนานๆ ก็จะส่งผลให้ส่งเสริมการเกิดอาการเส้นเลือดขอดได้ง่ายมากกว่าเดิม รวมถึงบุคคลที่ต้องมีการใส่รองเท้าส้นสูงและยืนหรือเดินเป็นเวลานานๆด้วยเช่นกัน
4 พฤติกรรมการนั่ง สำหรับคนที่ชอบนั่งไขว่ห้างอยู่เสมอ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มักจะติดท่านั่งไขว่ห้างทุกครั้ง คุณก็จะมีโอกาสที่จะเกิดเป็นโรคเส้นเลือดขอดได้มากกว่าคนที่นั่งด้วยท่าทางปกติทั่วไปได้แน่นอน เพราะท่านั่งที่คุณนั่งอยู่เป็นท่าที่ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่คล่องตัวเหมือนกับท่าอื่นๆนั่นเอง
5 กรรมพันธุ์ จากการศึกษาพบว่าคนที่เคยมีผู้ป่วยในครอบครัวเป็นโรคเส้นเลือดขอดมาก่อน ก็จะมีความเสี่ยงในการที่จะป่วยเป็นเส้นเลือดขอดได้เหมือนกัน
6 การออกกำลังกาย สำหรับคนที่มีการออกกำลังกายน้อย หรือไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายไม่สะดวก ซึ่งก็จะมีผลที่จะทำให้เกิดอาการเส้นเลือดขอดได้มากกว่า
7 อายุ สำหรับคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดขอดที่มากขึ้น เนื่องมาจากเมื่ออายุมากขึ้นความยืดหยุ่นหรือความแข็งแรงของหลอดเลือดก็จะน้อยลง ซึ่งย่อมทำให้เกิดความผิดปกติกับเส้นเลือดได้ง่าย
ทั้งนี้ อาการของเส้นเลือดขอดสามารถแบ่งความรุนแรงออกได้เป็น 3 ระดับ
ระดับแรก เรียกว่า เส้นเลือดขอดแบบฝอย จะเป็นเพียงแค่การแตกเล็กๆของเส้นเลือดอาจจะมีสีแดงหรือสีม่วง ซึ่งผู้ป่วยในระยะนี้อาจจะไม่มีอาการอื่นๆเลย มีเพียงแค่การปวดขาหรือกล้ามเนื้อเล็กน้อย หรือมีโอกาสที่จะเป็นตะคริวในเวลากลางคืนเท่านั้น
ระยะที่ 2 เส้นเลือดขอดขนาดกลาง จะเริ่มเห็นว่าเส้นเลือดโป่งพองขึ้นมา แต่ยังไม่มากเท่าไหร่นัก ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการบวมที่ขาหรือเท้า และรู้สึกร้อนบริเวณขาส่วนล่าง
ระยะที่ 3 เส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ จะเป็นระยะที่เส้นเลือดโป่งพองขึ้นมาและขดจนสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ผิวหนังบริเวณนั้นจะเป็นสีเขียวผสมม่วง และผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณเส้นเลือดขอด หากปล่อยไว้เส้นเลือดจะแตกจนเป็นแผล และอาจจะเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นที่ทำให้ต้องสูญเสียขาหรือเสียชีวิตได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เส้นเลือดขอดไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะขาที่เดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่อวัยวะภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ในหลอดอาหาร หรือในตับ เป็นต้น
การรักษาโรคเส้นเลือดขอดในระยะแรกที่ยังมีอาการไม่รุนแรงมากนักสามารถรักษาให้หายเองได้โดยไม่ต้องรับการผ่าตัดหรือฉีดยา แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด แต่สำหรับผู้ที่มีอาการที่รุนแรงขึ้น อาจจะต้องมีการเข้ารับการรักษาตามระดับของอาการ ไม่ว่าจะเป็น การกินยา การฉีดสารเคมี การเลเซอร์ หรือการผ่าตัด ก็จะเป็นการช่วยรักษาอาการเส้นเลือดขอดได้