ภาวะครรภ์เป็นพิษ ต้องระวัง อะไร
กว่าที่คุณแม่ท่านหนึ่งจะตั้งครรภ์และคลอดลูกออกมาได้ จะต้องพบเจอกับความเสี่ยงหลากหลายอย่างที่อาจจะส่งผลเสียทั้งต่อทั้งคุณแม่และต่อลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ ผลกระทบต่างๆสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาใน 9 เดือนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะมีความโชคดีและโชคร้ายที่แตกต่างกันออกไป หากคุณโชคดีลูกน้อยที่เกิดมาก็จะแข็งแรง มีอวัยวะครบตามปกติ แต่หากคุณโชคร้ายเกิดความเสี่ยงเนื่องจากการประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะทำให้คุณ จำเป็นที่ต้องเสียลูกน้อยในครรภ์ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตของคุณแม่ด้วยซ้ำ
หนึ่งในปัญหาที่ยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของการตั้งครรภ์ ก็คือ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งถือเป็นโรคที่รุนแรงและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลาากหลายประการ ในวันนี้เราจะมาลองเจาะลึกถึงโรคครรภ์เป็นพิษว่าจะมีสาเหตุหรือมีวิธีการป้องกันอะไรได้บ้างหรือไม่ เพื่อให้คุณแม่ทุกคนห่างไกลจากโรคนี้
ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ และมีอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ หรือในบางกรณีอาจเกิดขึ้นกับอายุครรภ์ที่น้อยกว่านั้นได้เช่นเดียวกัน สาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นมาจากกลไกในการสร้างสารเคมีตัวหนึ่งที่ชื่อว่า พรอสตาแกลนดิน คุณแม่ที่เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษจะสร้างสรรค์เคมีตัวนี้ขึ้นมา และทำให้เส้นเลือดเกิดการบีบตัวจนทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นผิดปกติ และยังทำให้เกิดการปล่อยน้ำที่อยู่ในเลือดให้รั่วซึมออกมานอกหลอดเลือดได้ง่ายอีกด้วย
อีกหนึ่งสาเหตุที่สามารถเกิดโรคครรภ์เป็นพิษได้ ก็คือ ความผิดปกติของการฝังตัวของรก ซึ่งโดยปกติแล้วรกจะฝังตัวอยู่บริเวณเยื่อบุผนังมดลูก แต่ในกรณีของคุณแม่ที่ป่วยเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษ รกจะมีการฝังตัวไม่แน่น จนทำให้รกบางส่วนขาดออกซิเจน ทารกจึงได้รับสารอาหารจากสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้น้อยลง ทำให้เกิดการหลั่งสารที่เป็นพิษเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละน้อยๆ จนถึงจุดหนึ่งก็จะทำให้เกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนต่างๆในร่างกาย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายทั้งแม่และลูกได้เลย

ในส่วนของปัจจัยที่จะก่อให้เกิดอาการครรภ์เป็นพิษก็สามารถเกิดขึ้นมาได้จากหลายปัจจัย เช่น
– อายุ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์โดยมีอายุน้อยกว่า 20 ปีหรือมีอายุมากกว่า 35 ปี ก็จะมีความเสี่ยงในการที่จะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้มากกว่าคุณแม่ในช่วงวัยอื่นๆ
– ท้องลูกคนที่เท่าไหร่ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรกจะมีความเสี่ยงของครรภ์เป็นพิษได้มากกว่าการคุณแม่ที่มีเคยมีการตั้งครรภ์มาหลายท้องแล้ว
– กรรมพันธุ์ หากมีผู้ป่วยที่เคยมีอาการครรภ์เป็นพิษอยู่ในครอบครัวของคุณ คุณก็จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการของโรคนี้ได้มากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้เอง สำหรับครอบครัวที่กำลังคิดที่จะมีบุตร จะต้องมีการตรวจสุขภาพของคุณแม่อย่างละเอียดที่ก่อน รวมไปถึงการพูดคุยและสอบถามประวัติกับสูตินรีแพทย์ เพื่อคัดกรองก่อนว่าคุณมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคครรภ์เป็นพิษมากน้อยแค่ไหน การป้องกันด้วยวิธีการเช่นนี้ก็เพื่อที่จะลดความเสี่ยงของมัน และลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั่นเอง

สำหรับอาการที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ช่วงเริ่มต้น…คุณแม่อาจจะไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังเผชิญหน้ากับปัญหานี้ เพราะในช่วงแรกๆอาจจะไม่แสดงอาการที่รุนแรงอะไรออกมาเลย แต่อาการจะเริ่มรุนแรงมากขึ้นเมื่อระยะครรภ์ที่มากขึ้น ซึ่งปัญหาที่อาจจะตรวจพบก็จะเป็นในเรื่องของความดันโลหิตสูง การตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ การมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด อาจจะมีปัญหาในเรื่องของการมองเห็นโดยสูญเสียการมองเห็นไปชั่วคราว การปัสสาวะน้อยกว่าปกติ การที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับอาการบวมน้ำ เป็นต้น
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาวะของครรภ์เป็นพิษนั้น หากเกี่ยวข้องกับคุณแม่แล้ว ก็จะเป็นในเรื่องของการที่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายได้ไม่เพียงพอ ทำให้ประสิทธิภาพในการขับถ่ายของเสียในร่างกายลดลง ส่งผลให้เกิดเป็นของเสียที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้เกิดภาวะไตวาย น้ำคั่งในถุงลมปอด มีเลือดออกในสมอง และเสียชีวิตได้
ในส่วนของผลกระทบในลูกน้อย เมื่อลูกน้อยได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ ก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโตทำให้ทารกที่อยู่ในครรภ์เติบโตช้ากว่าปกติ หรือหากมีอาการที่รุนแรงมากๆก็อาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้

สำหรับการรักษาต้องแบ่งเป็น 2 กรณี ซึ่งหากเป็นในกรณีแรกที่อาการยังไม่รุนแรงมากนัก ก็จะทำได้เพียงแค่การเฝ้าระวัง แนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม และอาจจะมีการจ่ายยาลดความดัน
แต่หากอาการของคุณแม่ยกระดับเป็นอาการขั้นรุนแรงก็จำเป็นจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด อาจจะมีการจ่ายยาในกลุ่มของยาป้องกันอาการชักหรือยาอื่นๆตามแต่ความรุนแรงของในแต่ละบุคคล
ถือว่าอาการครรภ์เป็นพิษเป็นอาการรุนแรงที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะป้องกันได้ดีที่สุดจะต้องเป็นการตรวจสุขภาพอยู่เสมอ ตั้งแต่การเริ่มตั้งครรภ์และระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และหากเราละเลยความจริงที่เกิดขึ้นมา ก็อาจจะทำให้ต้องสูญเสียทั้งแม่และลูกได้เลย