น้ำมันหมู หรือ น้ำมันพืช อะไรดีกว่ากัน
เป็นที่ถกเถียงกันมานานว่าการรับประทานน้ำมันแบบไหนที่จะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่ากัน ความเชื่อในยุคเก่าอาจจะเชื่อว่าน้ำมันพืชเป็นน้ำมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าการที่รับประทานน้ำมันจากไขมันสัตว์
แต่ความเชื่อที่ว่านี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเปล่า? จริงหรือไม่ที่น้ำมันจากสัตว์จะเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์มากกว่า และเหตุผลใดน้ำมันทั้ง 2 ประเภทถึงมีความประโยชน์และโทษที่แตกต่างกัน ในบทความนี้จะมาพูดถึงความแตกต่างของน้ำมันทั้ง 2 ชนิด เพื่อให้ผู้บริโภคทุกคนเข้าใจถึงความแตกต่างของน้ำมันทั้ง 2 ชนิดได้มากขึ้นกว่าเดิม และเลือกรับประทานน้ำมันที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด

น้ำมันถือเป็นหนึ่งในสารอาหารประเภทไขมันที่เป็นหนึ่งในโภชนาการที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ เพราะว่าน้ำมันมีส่วนสำคัญในการให้พลังงานแก่ร่างกาย และยังเป็น สิ่งสำคัญที่ทำให้วิตามินบางตัวสามารถละลายและดูดซึมในร่างกายได้ด้วย ดังนั้น ร่างกายจึงไม่สามารถที่จะปฏิเสธการรับประทานน้ำมันได้เลย ถึงแม้ว่าข้อเสียของน้ำมันหรือไขมันอาจจะทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนของเลือด หากเรามีการรับประทานน้ำมันหรือไขมันในปริมาณที่ไม่เหมาะสม
หากพูดถึงประเภทของไขมันที่อยู่ในน้ำมันแล้วสามารถที่จะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีความแตกต่างที่ไม่เหมือนกันและส่งผลอย่างยิ่งต่อคุณสมบัติของน้ำมันดังต่อไปนี้
1. ประเภทไขมันอิ่มตัว ไขมันประเภทนี้จะเป็นไขเมื่อเก็บไว้ในที่อุณหภูมิต่ำ และด้วยความที่เป็นไขมันอิ่มตัวสูง ดังนั้น หากรับประทานไขมันี้ชนิดนี้มากจนเกินไป จะส่งผลให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในร่างกายเพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ไขมันอิ่มตัวจะมีความคงตัวสูง สามารถทนต่อความร้อนได้ดี ไม่เหม็นหืนง่าย เหมาะสำหรับการนำไปทอดอาหารซึ่งต้องใช้ความร้อนสูง ซึ่งจะทำให้อาหารมีความอร่อย ได้ความกรอบและความหอมของอาหาร และเกิดควันในระหว่างประกอบอาหารน้อยมาก
น้ำมันที่มีสัดส่วนไขมันอิ่มตัวมาก เช่น น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว
2. ประเภทไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ไขมันประเภทนี้ในสายโมเลกุลของไขมันจะมีจุดไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง ทำให้มีความคงทนต่อความร้อนในระดับหนึ่ง และไม่สูงเท่ากับไขมันอิ่มตัวประเภทแรก
อย่างไรก็ตาม ไขมันประเภทนี้จะเป็นกรดไขมันที่ให้พลังงาน แต่ไม่เพิ่มคอเลสเตอรอลในร่างกาย และช่วยนำสารอาหารต่าง ๆ ได้ดี
ไขมันประเภทนี้เหมาะสำหรับการผัด้ ทอดได้บ้าง พบมากในน้ำมันรำข้าว และน้ำมันมะกอก
3. ประเภทไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน เป็นกรดไขมันที่ในสายโมเลกุลมีความไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง จึงเป็นกรดไขมันที่มีผลช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้
ในทางตรงกันข้าม กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนจะไม่ทนต่อความร้อน หากนำไปประกอบอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูงในลักษณะการทอด จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นหืนได้ง่าย และน้ำมันประเภทนี้เมื่อโดนความร้อนสูงจะก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ อันเป็นต้นเหตุของการก่อตัวของมะเร็งได้
ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน พบได้มากในน้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันดอกทานตะวัน

ทั้งนี้ นักวิชาการจากสำนักโภชนาการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับน้ำมัน ว่าน้ำมันประเภทไหนกันแน่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเหตุผลของอันตรายนั้นจะขึ้นอยู่กับรูปแบบในการนำน้ำมันไปใช้ในการปรุงอาหาร ว่าจะเป็นการปรุงอาหารในรูปแบบการผัดการทอด เพราะรูปแบบที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดภูมิจุดเกิดควันของน้ำมันที่แตกต่างกัน ซึ่งจุดนี้เองจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้น้ำมันมีความปลอดภัยหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
หากพูดถึงน้ำมันจากไขมันสัตว์แล้ว ตัวที่โดดเด่นและมีการนิยมนำมาใช้มากที่สุด ก็คือ น้ำมันหมู เพราะหมูเป็นน้ำมันที่ผลิตได้ง่าย เพียงแค่เอาไขมันหมูมาผ่านความร้อนก็ทำให้เกิดเป็นน้ำมันที่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว แตกต่างจากน้ำมันพืชที่จำเป็นจะต้องนำเอาพืชหรือเมล็ดธัญพืชไปผ่านกระบวนการต่างๆทางเคมีมีการใช้สารเคมีในการสกัดเอาไขมันออกมาจากพืช ซึ่งอาจจะมีผลทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีบางอย่างได้มากกว่าการรับประทานน้ำมันจากสัตว์
ในส่วนของจุดเกิดควัน จะพบว่าน้ำมันหมูมีจุดเกิดควันที่สูงกว่าน้ำมันพืชหลายๆตัว ทำให้น้ำมันหมูสามารถนำไปใช้ในการปรุงอาหารประเภทที่ต้องใช้ความร้อนสูงได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย หรือไม่ก่อให้เกิดเป็นสารก่อมะเร็ง
ในขณะที่น้ำมันพืชก็ต้องขึ้นอยู่กับพืชในแต่ละชนิดว่าในแต่ละชนิดนั้นจะมีจุดเกิดควันแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น หากนำเอาน้ำมันปาล์มมาใช้ในการทอดก็จะสามารถปลอดภัยได้เช่นเดียวกับน้ำมันจากสัตว์ เพราะน้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันที่มีจุดเกิดควันสูง ในทางตรงกันข้าม หากเอาน้ำมันถั่วเหลืองมาใช้ในการทอด ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีจุดเกิดควันต่ำ ก็จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
สำหรับในน้ำมันพืชจะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงกว่า ซึ่งน้ำมันพืชแต่ละชนิดก็สามารถผลิตมาได้จากธัญพืชหลายๆประเภท เช่น ถั่วเหลือง มะกอก ปาล์ม หรือมะพร้าว โดยพืชแต่ละชนิดก็จะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ทำให้น้ำมันแต่ละประเภทมีความเหมาะสมในการใช้ในการประกอบอาหารที่แตกต่างกันออกไปเช่นเดียวกัน
ดังนั้น การที่เราจะสรุปว่าน้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชแบบไหนดีกว่ากันจึงเป็นเรื่องที่ตอบยาก ดังจะเห็นได้ว่าน้ำมันแต่ละชนิดมีประโยชน์ ข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกันไป ต้องดูถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งานเป็นหลัก เพื่อเลือกประเภทของน้ำมันที่เหมาะสม อ้างอิงจากกรดไขมันที่เป็นส่วนประกอบของน้ำมันแต่ละประเภท ทำให้น้ำมันแต่ละชนิด็เหมาะที่จะใช้ประกอบอาหารในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม การที่เราจะบริโภคน้ำมันให้ดีต่อสุขภาพมากที่สุดจะต้องเลือกใช้อย่างพอดีและเหมาะสมต่อการใช้งาน เพียงเท่านี้ คุณก็จะได้รับประโยชน์จากน้ำมันไม่ว่าจะเลือกรับประทานในรูปแบบไหนก็ตาม