ให้น้ำเกลือแล้วบวมจริงหรือไม่
หลายครั้งที่คนเราเมื่อมีอาการป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุใดๆ ก็จะต้องมีการเข้าโรงพยาบาลเพื่อไปนอนเจาะเลือดให้น้ำเกลือ เพราะเป็นวิธีการที่จะทำให้คุณได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์โดยที่คุณไม่ต้องรับประทานอาหารอะไรเข้าไปเลย อีกทั้ง ในช่วงเวลาแบบนั้นคุณอาจจะไม่สามารถรับประทานอะไรได้ การได้รับน้ำเกลือจะเป็นวิธีการที่ดีที่ทำให้คุณสามารถฟื้นตัวจากอาการป่วยได้อย่างง่ายดาย
แต่ก็มีหนึ่งความเชื่อที่หลายคนมักจะยังคงเข้าใจความผิด นั่นก็คือ หากเราได้รับน้ำเกลือเข้าไปในช่วงเวลาที่เราเข้าโรงพยาบาล จะทำให้เราอ้วน น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรือเรียกว่า “บวมน้ำเกลือ” สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่? ลองมาดูเฉลยจากบทความนี้เลยดีกว่าค่ะ
น้ำเกลือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า fluid replacement therapy ซึ่งก็คือ ของเหลวชนิดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยน้ำ กลูโคส และเกลือแร่ และอาจจะมีการสารอาหารบางอย่างใส่ลงไปด้วย ในบางกรณีสำหรับผู้ป่วยบางราย น้ำเกลือจะถูกปรับความเข้มข้นให้มีความใกล้เคียงกับเลือดของเราให้มากสุด ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยเมื่อผู้ป่วยได้รับการฉีดน้ำเกลือเข้าไปนั่นเอง

น้ำเกลือ จัดเป็นสารอิเล็กโทรไลต์ที่บริสุทธิ์ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายๆประเภท ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป หรือแล้วแต่อาการป่วยของแต่ละบุคคล ซึ่งโดยปกติก็จะมีค่า pH หรือค่าความเป็นกรดด่างของน้ำเกลืออยู่ที่ประมาณ 4.5 ถึง 7.0 ซึ่งถือว่าค่อนไปทางความเป็นกรดเล็กน้อย
โดยส่วนใหญ่แล้วน้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อโรคจะถูกฉีดเข้าไปทางหลอดเลือดดำ เพื่อเป็นการปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่ทานอาหารได้น้อยหรือทานได้อย่างยากลำบาก เพราะพวกเขาอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือเสียเลือดมาจากอุบัติเหตุต่างๆ การได้รับน้ำเกลือเข้าไปจะเป็นการได้รับสารอาหารทดแทนในยามที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารต่างๆได้น้อยลง หรือมีร่างกายที่อ่อนแอมากๆ
ทั้งนี้ แพทย์จะให้น้ำเกลือแก่ผู้ป่วยได้หลายกรณี เช่น ผู้ป่วยไม่สามารถดื่มน้ำเองได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ผู้ป่วยสูญเสียเกลือแร่จากอาการป่วย ผู้ป่วยอยู่ในภาวะร่างกายขาดน้ำ ผู้ป่วยอยู่ในภาวะขาดสารโซเดียมคลอไรด์ หรืออาจจะเป็นการให้น้ำเกลือเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาร่วมกับยารักษาชนิดอื่นที่เข้ากันได้ เป็นต้น
ส่วนเหตุผลที่ว่าเมื่อเรารับประทานน้ำเกลือเข้าไปจะทำให้เกิดมีอาการบวมที่ร่างกายและใบหน้าจริงหรือไม่นั้น คำตอบก็คือ เนื่องจากขณะที่เราป่วย เราไม่สามารถที่จะรับประทานอาหารในจำนวนมากได้ตามปกติ ระบบการย่อยอาหารหรืออวัยวะต่างๆก็จะทำหน้าที่ไม่เหมือนเดิม จากที่สามารถควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายได้อย่างอัตโนมัติ ความสามารถด้านนี้ก็จะเสื่อมลง ความสามารถในการขับน้ำออกจากร่างกายก็จะเป็นไปได้อย่างไม่ปกติ ซึ่งก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการบวมน้ำได้ในที่สุด
ทั้งนี้ ภาวะผิดปกติต่างๆเหล่านี้็จะหายไปได้เมื่อเรากลับมามีอาการปกติครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อร่างกายฟื้นจากไข้หรือหายจากอุบัติเหตุร้ายแรงใดๆ ก็จะสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ อวัยวะต่างๆก็จะสามารถกลับมาขับน้ำออกจากร่างกายได้ตามปกติ และอาการบวมที่เคยเป็นอยู่ก็จะลดลงเองภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้เป็นอันตรายหรือต้องกังวลใดๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าโดยปกติแล้วหากผู้ป่วยอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยจะถูกปรับระดับการให้น้ำเกลือให้มีความเหมาะสมต่อร่างกายของแต่ละบุคคล เพื่อป้องกันอาการบวมน้ำที่มีโอกาสเกิดขึ้นอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ก็ยังมีข้อควรระวังที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำเกลือซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนยังไม่รู้ การให้น้ำเกลืออาจจะไม่เหมาะสำหรับคนบางประเภท นั่นก็คือ
ไม่ควรใช้กับ ผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบบางอย่างที่อยู่ในสารละลายน้ำเกลือ
ไม่ควรใช้กับ สตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
ไม่ควรใช้กับ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลวผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคตับหรือโรคไต
และที่สำคัญก็คือ ไม่ควรจะแบ่งการใช้น้ำเกลือกับผู้ป่วยคนอื่นๆ เพราะอาจจะเกิดการติดเชื้อร่วมกันได้ อีกทั้งควรที่จะต้องให้แพทย์หรือบุคคลกรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด
แบบนี้ก็คงรู้แล้วใช่ไหมคะว่า การที่เราจำเป็นจะต้องไปนอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไปแล้ว เราอาจจะไม่ต้องกังวลกับอาการบวมหรืออ้วนอีกต่อไป แต่ถึงแม้ว่ามันจะเกิดขึ้นจริง มันก็จะสามารถหายไปได้ภายในเวลาไม่นานเมื่อร่างกายปรับตัวเองเข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากน้ำเกลือที่ใช้กับผู้ป่วยที่ให้ผ่านทางสายยางเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว ยังมีน้ำเกลือประเภทที่ใช้ชงกับน้ำดื่ม และน้ำเกลือแร่ที่ผู้เสียเหงื่อมากๆ เช่น นักกีฬา เป็นต้น นิยมดื่มเพื่อชดเชยน้ำในเวลาที่มีการเสียเหงื่อมากๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นน้ำเกลือประเภทไหน ก็ไม่ควรจะรับน้ำเกลือบ่อยๆ หรือในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะการได้รับมากกว่าความต้องการร่างกาย ย่อมก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกายด้วยเช่นกัน ควรที่จะรับประทานเกลือแร่อย่างเหมาะสมหรือรับประทานในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น อย่ารับประทานเพียงเพื่อต้องการความอร่อย เพราะสิ่งที่จะได้กลับมาคืออันตรายที่คุณอาจจะไม่ทันตั้งตัว